บาลีวันละคำ

สถาปนิก (บาลีวันละคำ 1,807)

สถาปนิก

อ่านว่า สะ-ถา-ปะ-นิก

สถาปนิก” ประกอบรูปคำจาก สถาปน + อิก ปัจจัย

(๑) “สถาปน” (สะ-ถา-ปะ-นะ)

บาลีเป็น “ฐาปน” (ถา-ปะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = วาง, ตั้ง, ยืน) แปลง ฐา เป็น ฐปฺ + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ทีฆะ อะ ที่ -(ปฺ) เป็น อา (ฐปฺ > ฐาป)

: ฐา > ฐปฺ + ยุ > อน = ฐปน > ฐาปน แปลตามศัพท์ว่า “การยัง-ให้ตั้งอยู่

ศัพท์นี้ในภาษาบาลี รูปที่นิยมใช้มากกว่าคือ “ปติฏฺฐาปน” (ปะ-ติด-ถา-ปะ-นะ) ที่ใช้ในภาษาไทยว่า “ประดิษฐาน” (ปติฏฺฐาน > ประดิษฐาน)

ปติฏฺฐาน และ ปติฏฺฐาปนา หมายถึง การจัด, การตั้งขึ้น, การสนับสนุน, การช่วยเหลือ, ความตั้งมั่นเพื่อความหลุดพ้น (fixing, setting up, support, help, ground for salvation)

บาลี “ฐาปน” สันสกฤตเป็น “สฺถาปน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สฺถาปน : (คำนาม) การวาง, การกำหนดหรือตั้ง; การบัญชา, การจัด; บ้าน, ที่อาศรัย; การจัดบทละคอนหรือโรงละคอน; placing, fixing or erecting; ordering, directing; a dwelling, a habitation; arranging a drama, or stage management.”

ในภาษาไทย คำนี้นิยมใช้เป็น “สถาปนา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สถาปนา : (คำกริยา) ยกย่องโดยแต่งตั้งให้สูงขึ้นเช่นเลื่อนเจ้านายให้สูงศักดิ์ขึ้น หรือยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง, ตั้งขึ้น (มักใช้แก่หน่วยราชการหรือองค์การที่สำคัญ ๆ ในระดับกระทรวง ทบวง มหาวิทยาลัย) เช่น วันสถาปนากระทรวงมหาดไทย วันสถาปนาราชบัณฑิตยสถาน วันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (ส. สฺถาปน; ป. ฐาปน).”

(๒) สถาปน + อิก ปัจจัย

: สถาปน + อิก = สถาปนิก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบการตั้งขึ้น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายในภาษาไทยไว้ว่า –

สถาปนิก : (คำนาม) ผู้ทรงคุณวุฒิในการสร้างสรรค์ทางออกแบบก่อสร้าง. (ส.).”

คำว่า “สถาปนิก” นี้ ได้ยินว่าคำเดิมใช้ว่า “สถาปก” เป็นรูปคำสันสกฤต อ่านว่า สะ-ถา-ปะ-กะ ไทยอ่านว่า สะ-ถา-ปก

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สฺถาปก : (คำนาม)  การวาง, การตั้งหรือกำหนด, การจัด, การบัญชา; ผู้จัดการละคอน, ‘ตั้วโผละคอน’ ก็เรียก; ผู้ตั้ง; placing, fixing, regulating, ordering; a stage-manager; a founder.”

พจนานุกรมฯ เก็บรูปคำนี้ไว้เป็น “สถาบก” บอกไว้ดังนี้ –

สถาบก : (คำโบราณ) (คำกริยา) สร้าง. (จารึกสยาม). (ส. สฺถาปก ว่า ผู้ตั้ง, ผู้สร้าง).”

สถาปนิก” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า architect

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล architect เป็นบาลีว่า –

nimmāṇasippī นิมฺมาณสิปฺปี (นิม-มา-นะ-สิบ-ปี) = ผู้มีศิลปะวิทยาการในการนฤมิต คือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ

…………..

พูดเล่น แต่เป็นจริง :

ผู้ที่ไม่ได้เป็นสถาปนิก เมื่อคิดก่อสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่าง มักพูดเล่นว่า ไม่ได้เป็นสถาปนิก แต่เป็น “สถาปนึก” คือเปลี่ยนคำว่า “-นิก” เป็น “นึก” คำไทย ที่หมายถึงนึกคิดเอาเอง

สถาปนิกสถาปนึก จึงเป็นคำพูดล้อ พูดเล่น

แต่เมื่อว่าตามหลักการกลายเสียงบาลีสันสกฤตเป็นไทย คำบาลีสันสกฤตที่มีรูปเป็น “อิก” (อิ-กะ) หรือ “อีก” (อี-กะ) เราก็นิยมกลายเสียงเป็น “อึก” ตัวอย่างเช่น –

โชติก > โชดึก = ผู้มีความรุ่งเรือง

ปจฺจนีก > ปัจนึก = ข้าศึก, ศัตรู

ผลิก > ผลึก = สิ่งมีลักษณะขาวใสดั่งแก้ว

สิกฺขา > ศึกษา = การเล่าเรียน ฝึกฝน

อธิก > อธึก = ยิ่งใหญ่, เลิศ

ดังนั้น เมื่อว่าตามหลักนี้ “สถาปนิก” จึงกลายรูปเป็น “สถาปนึก” ถูกต้องตามหลักนิยม

หมายความว่า “สถาปนึก” แม้จะเป็นคำพูดเล่น แต่ก็มีความหมายเท่ากับคำจริง

ใครที่เคยพูดเล่นว่า “ไม่ได้เป็นสถาปนิก แต่เป็นสถาปนึก” ต่อไปคงต้องคิดก่อนพูด

…………..

ดูก่อนภราดา!

สร้างตนไม่ใช่สร้างตึก :

: สร้างตึกต้องรอสถาปนิกตามวิธี

: สร้างตนให้เป็นคนดี ไม่ต้องรอใคร

20-5-60