บาลีวันละคำ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ (บาลีวันละคำ 1,815)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ่านว่า เคฺรื่อง-ราด-ชะ-อิด-สะ-ริ-ยา-พอน

แยกศัพท์เป็น เครื่อง + ราช + อิสริย + อาภรณ์

(๑) “เครื่อง” เป็นคำไทย

(๒) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –

(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (ปัจจัย) = ราช

หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + (ปัจจัย) ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา = ราช

หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา. (ป., ส.).”

(๓) “อิสริย

บาลีเป็น “อิสฺสริย” อ่านว่า อิด-สะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก อิสฺสร + อิย ปัจจัย

(ก) “อิสฺสร” รากศัพท์มาจาก –

1) อิ (ตัดมาจาก “อิฏฺฐ” = น่าปรารถนา) + อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อิ + อสฺ

: อิ + สฺ + อสฺ = อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มี คือผู้เกิดในภูมิที่น่าปรารถนา” (อยากมี อยากเป็น อยากได้อะไร สมปรารถนาทั้งหมด ไม่มีใครขัดขวาง)

2) อิสฺสฺ (ธาตุ = เป็นใหญ่) + อร ปัจจัย

: อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่

3) อีสฺ (ธาตุ = ครอบงำ) อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อีสฺ + อร, รัสสะ อี ที่ อี-(สฺ) เป็น อิ (อีสฺ > อิสฺ)

: อีส > อิสฺ + สฺ + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ครอบงำ” หมายถึงปกครอง

อิสฺสร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า (lord, ruler, master, chief)

(2) พระเจ้าผู้สร้างโลก, พระพรหม (creative deity, Brahmā)

อิสฺสร” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้ว่า “อิสร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อิสร-, อิสระ : (คำวิเศษณ์) เป็นใหญ่, เป็นไทแก่ตัว, เช่น อิสรชน, ที่ปกครองตนเอง เช่น รัฐอิสระ, ไม่ขึ้นแก่ใคร, ไม่สังกัดใคร, เช่น อาชีพอิสระ นักเขียนอิสระ.น. ความเป็นไทแก่ตัว เช่น ไม่มีอิสระ แยกตัวเป็นอิสระ. (ป. อิสฺสร; ส. อีศฺวร).”

(ข) อิสฺสร + อิย ปัจจัย

: อิสฺสร + อิย = อิสฺสริย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งผู้เป็นใหญ่” หมายถึง ความเป็นผู้ปกครอง, ความเป็นนาย, ความเป็นใหญ่, อำนาจปกครอง (rulership, mastership, supremacy, dominion)

อิสฺสริย” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “อิสริย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อิสริย-, อิสริยะ : (คำนาม) ความเป็นใหญ่, ความเป็นเจ้า, ความยิ่งใหญ่. (ป. อิสฺสริย; ส. ไอศฺวรฺย).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “อิสริยะ” สันสกฤตเป็น “ไอศฺวรฺย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ไอศฺวรฺยฺย, ไอศฺวรฺย : (คำนาม) ‘ไอศวรรย์,’ เทวานุภาพ, สรรพสมรรถศักดิ์, ความแลไม่เห็น, ฯลฯ; ความเปนใหญ่, พลศักดิ์, กำลัง; divine power, omnipotence, invisibility, etc.; supremacy, power, might.”

โปรดสังเกตคำแปลเป็นอังกฤษ ระหว่าง “อิสฺสริย” ในบาลี ซึ่งฝรั่งแปล กับ “ไอศฺวรฺย” ในสันสกฤต ซึ่งไทย (นายร้อยเอก หลวงบวรบรรณรักษ์ (นิยม รักไทย) ผู้จัดทำ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน) แปล มีตรงกันคำเดียวคือ supremacy

(๔) “อาภรณ์

อาภรณ์” บาลีเป็น “อาภรณ” (อา-พะ-ระ-นะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ภรฺ (ธาตุ = ทรงไว้, ประดับ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น (ยุ > อน > อณ)

: อา + ภรฺ = อาภรฺ + ยุ > อน = อาภรน > อาภรณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลทรงไว้” หรือ “สิ่งอันบุคคลประดับไว้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาภรณ” ตามศัพท์ว่า “that which is taken up or put on” (สิ่งที่ถูกหยิบขึ้นมาหรือสวมใส่)

อาภรณ” หมายถึง การประดับ, เครื่องประดับ, เครื่องเพชรพลอย (ornament, decoration, trinkets)

อาภรณ” ในภาษาไทย ใส่การันต์ที่ เป็น “อาภรณ์” อ่านว่า อา-พอน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาภรณ์ : (คำนาม) เครื่องประดับ, บางทีก็ใช้เป็นส่วนท้ายของคําสมาส เช่น พัสตราภรณ์ = เครื่องประดับคือเสื้อผ้า สิราภรณ์ = เครื่องประดับศีรษะ คชาภรณ์ = เครื่องประดับช้าง พิมพาภรณ์ = เครื่องประดับร่างกาย ในคําว่า ถนิมพิมพาภรณ์ ธรรมาภรณ์ = มีธรรมะเป็นเครื่องประดับ. (ป., ส.).”

การประสมคำ :

(๑) อิสริย + อาภรณ์ = อิสริยาภรณ์ แปลว่า “เครื่องประดับอันแสดงถึงความเป็นใหญ่หรือเป็นเกียรติยศ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อิสริยาภรณ์ : (คำนาม) ตราเครื่องประดับเกียรติยศ เรียกเป็นสามัญว่า เหรียญตรา.”

(๒) ราช + อิสริยาภรณ์ = ราชอิสริยาภรณ์ แปลว่า “อิสริยาภรณ์ของพระราชา” คือ เครื่องประดับอันแสดงถึงความเป็นใหญ่หรือเป็นเกียรติยศของพระราชา

โปรดสังเกตหลัก “วากยสัมพันธ์” หรือความเกี่ยวข้องระหว่างคำ :

– “เครื่องประดับของพระราชา

– ไม่ใช่ “ความเป็นใหญ่หรือเป็นเกียรติยศของพระราชา

(๓) เครื่อง + ราชอิสริยาภรณ์ = เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ : (คำนาม) สิ่งซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงเกียรติยศและบําเหน็จความชอบ เป็นของพระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือโปรดให้สร้างขึ้นสําหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการหรือส่วนพระองค์, เรียกเป็นสามัญว่า ตรา, ปัจจุบันหมายความรวมถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแก่ผู้กระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศ ศาสนา และประชาชน และเหรียญที่ระลึกที่พระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในโอกาสต่าง ๆ และที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บุคคลประดับได้อย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามที่ทางราชการกำหนด.”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถึงหากจะไม่มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประดับตน

: ก็ขอให้มีบุญกุศลประดับใจ

28-5-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย