บาลีวันละคำ

มนุสติรัจฉาโน (บาลีวันละคำ 3,756)

มนุสติรัจฉาโน

มนุษย์เดรัจฉาน

เขียนแบบกึ่งไทยกึ่งบาลี แต่อ่านแบบบาลีว่า มะ-นุด-สะ-ติ-รัด-ฉา-โน

ประกอบด้วยคำว่า มนุส + ติรัจฉาโน

(๑) “มนุส”

เขียนแบบบาลีเป็น “มนุสฺส” อ่านว่า มะ-นุด-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มน (ใจ) + อุสฺส (สูง)

: มน + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีใจสูง”

(2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + อุสฺส ปัจจัย

: มน + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์”

(3) มนุ (มนู = มนุษย์คนแรก) + อุสฺส (แทนศัพท์ อปจฺจ = เหล่ากอ หรือ ปุตฺต = ลูก)

: มนุ + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหล่ากอของมนู” หรือ “ผู้เป็นลูกของมนู”

คำว่า “มนู” หรือนิยมเรียกว่า “พระมนู” แปลว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของสัตวโลก”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“มนู : (คำนาม) ชื่อพระผู้สร้างมนุษยชาติและปกครองโลก มี ๑๔ องค์ เรียงกันเป็นยุค ๆ ไป, ยุคหนึ่งเรียกว่า มนวันดร นานกว่า ๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี องค์แรก คือ พระสวายมภูวะ พระมนูองค์นี้ถือกันว่าเป็นผู้ทรงออกกฎหมายหรือธรรมศาสตร์ซึ่งยังมีอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้เรียกว่า มนุสัมหิตา หรือ มนุสมฺฤติ, เพราะฉะนั้น คํา มนู จึงหมายถึงกฎหมายก็ได้ เช่น มนูกิจ. (ส. มนุ).”

บาลี “มนุสฺส” สันสกฤตเป็น “มนุษฺย”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

“มนุษฺย : (คำนาม) มนุษย์, มนุษยชาติ; man, mankind.”

ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “มนุษย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“มนุษย-, มนุษย์ : (คำนาม) สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล, สัตว์ที่มีจิตใจสูง, คน. (ส.; ป. มนุสฺส).”

ความหมายของคำว่า “มนุสฺส – มนุษย์” ที่ยอมรับกันมากที่สุดและเป็นความหมายตามตัวอักษรด้วย คือ “ผู้มีใจสูง”

ในที่นี้เขียนอิงรูปบาลี และตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งเป็น “มนุส”

(๒) “ติรัจฉาโน”

รูปคำเดิมในบาลีเป็น “ติรจฺฉาน” อ่านว่า ติ-รัด-ฉา-นะ รากศัพท์มาจาก ติรจฺฉ + ยุ ปัจจัย

(ก) “ติรจฺฉ” รากศัพท์มาจาก ติริย (ขวาง) + อญฺช (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ติริย เป็น ติร, อญฺช เป็น จฺฉ

: ติริย > ติร + อญฺช + อ = ติรญฺช > ติรจฺฉ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปขวาง”

(ข) ติรจฺฉ + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ทีฆะ อะ ที่ อ-(น) เป็น อา

: ติรจฺฉ + ยุ > อน = ติรจฺฉน > ติรจฺฉาน แปลเท่าศัพท์เดิม คือ “ผู้ไปขวาง” หมายความว่า เจริญเติบโตโดยทางขวางซึ่งตรงกันข้ามกับมนุษย์ที่เติบโตไปทางสูง

“ติรจฺฉาน” (ปุงลิงค์) หมายถึง สัตว์ทั่วไปที่ไม่ใช่มนุษย์ (an animal)

ในภาษาไทย ใช้เป็น “ดิรัจฉาน” (ดิ- ด เด็ก) และ “ติรัจฉาน” (ติ- ต เต่า) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ดิรัจฉาน : (คำนาม) สัตว์เว้นจากมนุษย์ เช่นหมู หมา วัว ควาย (มักใช้เป็นคําด่า), ใช้ว่า เดรัจฉาน หรือ เดียรัจฉาน ก็มี. (ป. ติรจฺฉาน ว่า ขวาง, ติรจฺฉานคต ว่า สัตว์มีร่างกายเจริญโดยขวาง).

(2) ติรัจฉาน : (คำนาม) ดิรัจฉาน, สัตว์เดรัจฉาน. (ป. ติรจฺฉานคต ว่า สัตว์มีร่างกายเจริญในแนวนอนหรือแนวราบ คือให้อกขนานไปกับพื้น).

นอกจากนี้ ในภาษาไทยคำนี้ยังแผลงเป็น “เดรัจฉาน” และ “เดียรัจฉาน” อีกด้วย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) เดรัจฉาน : (คำนาม) สัตว์เว้นจากมนุษย์ เช่นหมู หมา วัว ควาย (มักใช้เป็นคำด่า), ใช้ว่า ดิรัจฉาน หรือ เดียรัจฉาน ก็มี. (ป. ติรจฺฉาน; ส. ติรฺยญฺจ, ติรฺยกฺ).

(2) เดียรัจฉาน : (คำนาม) สัตว์เว้นจากมนุษย์ เช่นหมู หมา วัว ควาย (มักใช้เป็นคําด่า), ใช้ว่า ดิรัจฉาน หรือ เดรัจฉาน ก็มี. (ป. ติรจฺฉาน ว่า ขวาง, ติรจฺฉานคต ว่า สัตว์มีร่างกายเจริญโดยขวาง).

มนุสฺส + ติรจฺฉาน = มนุสฺสติรจฺฉาน (มะ-นุด-สะ-ติ-รัด-ฉา-นะ) แปลตามสำนวนคำสมาสว่า “มนุษย์ผู้เพียงดังสัตว์เดรัจฉาน”

“มนุสฺสติรจฺฉาน” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “มนุสฺสติรจฺฉาโน” อ่านว่า มะ-นุด-สะ-ติ-รัด-ฉา-โน

ในที่นี้ถือว่า “มนุสสติรจฺฉาโน” เป็นคำไทย แต่เขียนอิงรูปบาลี และตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง จึงเป็น “มนุสติรัจฉาโน”

ที่ตัดตัวสะกดออกนั้น เทียบตามคำว่า “อุตฺตริมนุสฺสธมฺม” (อุด-ตะ-ริ-มะ-นุด-สะ-ทำ-มะ) ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ สะกดเป็น “อุตริมนุสธรรม” “มนุสฺส” ตัด ส ออกตัวหนึ่งเป็น “มนุส”

ขยายความ :

“มนุสติรัจฉาโน” เป็นคำในชุดมนุษย์ 4 ประเภท คือ –

(1) มนุสเนรยิโก = มนุษย์สัตว์นรก

(2) มนุสเปโต = มนุษย์เปรต

(3) มนุสติรัจฉาโน = มนุษย์เดรัจฉาน

(4) มนุสภูโต = มนุษย์ที่แท้จริง

“มนุสติรัจฉาโน” = มนุษย์เดรัจฉาน คือ คนที่ต้องอาศัยคนอื่นเลี้ยงชีวิต หรือคนที่ทำผิดศีลธรรมผิดกฎหมายบ้านเมือง ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ไม่ได้เกิดมาทำประโยชน์ให้แก่สังคมหรือแก่ใคร อยู่ไปวันๆ

คัมภีรปรมัตถทีปนี (อรรถกถาวิมานวัตถุ) บรรยายลักษณะของ “มนุสติรัจฉาโน” ไว้ ดังนี้ –

…………..

อปโร มนุสฺสชาติโกว สมาโน ปราธีนวุตฺติ ปเรสํ ภารํ วหนฺโต ภินฺนมริยาโท วา อนาจารํ อาจริตฺวา ปเรหิ สนฺตชฺชิโต มรณภยภีโต คหนนิสฺสิโต ทุกฺขพหุโล วิจรติ หิตาหิตํ อชานนฺโต นิทฺทาชิฆจฺฉาทุกฺขวิโนทนาทิปโร อยํ มนุสฺสติรจฺฉาโน นาม ฯ

ที่มา: ปรมัตถทีปนี (อรรถกถาวิมานวัตถุ) หน้า 29 (ปฐมปีฐวิมาน)

…………..

อปโร มนุสฺสชาติโกว สมาโน ปราธีนวุตฺติ ปเรสํ ภารํ วหนฺโต

อีกประเภทหนึ่ง มีกำเนิดเป็นมนุษย์แท้ๆ แต่อาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ ต้องทำงานหนักให้เขา (เหมือนวัวควาย)

ภินฺนมริยาโท วา อนาจารํ อาจริตฺวา

หรือเป็นคนละเมิดกฎหมายบ้านเมือง มีความผิดติดตัว

ปเรหิ สนฺตชฺชิโต มรณภยภีโต

ถูกคู่อาฆาตคุกคามหมายปองชีวิต

คหนนิสฺสิโต ทุกฺขพหุโล วิจรติ

ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ซอกซอนจมอยู่กับทุกข์

หิตาหิตํ อชานนฺโต

บาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ไม่รับรู้

นิทฺทาชิฆจฺฉาทุกฺขวิโนทนาทิปโร

ชีวิตมีแต่กินกับนอนและแก้ปัญหาความเดือดร้อนไปวันๆ เป็นเบื้องหน้า

อยํ มนุสฺสติรจฺฉาโน นาม ฯ

นี่แหละชื่อว่า “มนุสติรัจฉาโน” – มนุษย์เดรัจฉาน

หมายเหตุ: แปลไม่ตรงตามศัพท์ทั้งหมด แต่น่าจะได้อรรถรสตรงตามสำนวนบาลี

…………..

ดูก่อนภราดา!

:

อาหารนิทฺทา ภยเมถุนญฺจ

สามญฺญเมตปฺปสุภี นรานํ

ธมฺโมว เตสํ อธิโก วิเสโส

ธมฺเมน หีนา ปสุภี สมานา.

:

กิน นอน กลัว สืบพันธุ์

มีเสมอกันทั้งคนและสัตว์

ธรรมะทำให้คนประเสริฐเหนือสัตว์

ทิ้งธรรม คนก็ต่ำเท่ากับสัตว์

——————

ภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก: ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ

#บาลีวันละคำ (3,756)

24-9-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *