บรรยงก์รัตนาสน์ (บาลีวันละคำ 3,981)
บรรยงก์รัตนาสน์
แปลว่าอะไร
อ่านว่า บัน-ยง-รัด-นะ-นาด
ประกอบด้วยคำว่า บรรยงก์ + รัตน + อาสน์
(๑) “บรรยงก์”
อ่านว่า บัน-ยง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรรยงก์ : (คำนาม) ที่นั่ง. (ส. ปรฺยงฺก; ป. ปลฺลงฺก).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “บรรยงก์” บาลีเป็น “ปลฺลงฺก”
“ปลฺลงฺก” อ่านว่า ปัน-ลัง-กะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปริ (คำอุปสรรค = โดยรอบ) + อกฺ (ธาตุ = ทำตำหนิ, สลักลาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ อิ ที่ (ป)-ริ (ปริ > ปร), แปลง ร เป็น ล (ปร > ปล), ซ้อน ลฺ (ปล > ปลฺล), ลงนิคหิตอาคมที่ ล แล้วแปลงเป็น งฺ (ปลฺล > ปลฺลํ > ปลฺลงฺ-)
: ปริ + อกฺ = ปริก > ปรก > ปลก > ปลฺลก > ปลฺลํก > ปลฺลงฺก แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันเขาจำหลักไว้โดยรอบ”
(2) ปลฺล (การกำจัดกิเลส) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ซ้อน งฺ ระหว่าง ปลฺล + กรฺ (ปลฺลกรฺ > ปลฺลงฺกรฺ), ลบ รฺ ที่สุดธาตุ
: ปลฺล + กรฺ = ปลฺลกร + กฺวิ = ปลฺลกรกฺวิ > ปลฺลกร > ปลฺลงฺกร > ปลฺลงฺก แปลตามศัพท์ว่า “ที่ (นั่งเพื่อ) กระทำการกำจัดกิเลส” ความหมายนี้เล็งถึงลักษณะการนั่งซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมนิยมนั่งที่เรียกว่า “ขัดสมาธิ” มาจากมูลเดิมคือนั่งขาทับขาหรือขาขัดกันเพื่อเจริญสมาธิ แล้วเลยเรียกท่านั่งเช่นนั้นว่า “นั่งขัดสมาธิ” (-ขัด-สะ-หฺมาด)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปลฺลงฺก” ว่า –
(1) sitting cross-legged (นั่งขัดสมาธิ) :
(ก) กรณีแจกวิภัตติเป็น “ปลฺลงฺเกน” แปลว่า upon the hams (ก้นถึงพื้น)
(ข) รูปประโยค “ปลฺลงฺกํ อาภุชติ” แปลว่า to bend the legs in crosswise (นั่งคู้บัลลังก์)
(2) a divan, sofa, couch (ม้านั่งยาว, เก้าอี้นวมยาว, เก้าอี้นอน)
“ปลฺลงฺก” สันสกฤตเป็น “ปลฺยงฺก”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปลฺยงฺก : (คำนาม) ‘บัลยงก์,’ บิฐ, เตียงหรือแท่นที่ศัยยา; bedstead.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“บัลลังก์ : (คำนาม) พระแท่นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ภายใต้เศวตฉัตร เรียกว่า ราชบัลลังก์, โดยปริยายคํา ราชบัลลังก์ นี้ หมายถึงความเป็นพระมหากษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์ก็ได้; ที่นั่งผู้พิพากษาเมื่อพิจารณาคดีในศาล; ส่วนของสถูปเจดีย์บางแบบ มีรูปเป็นแท่นเหนือคอระฆัง. (คำกริยา) นั่งขัดสมาธิ เรียกว่า นั่งคู้บัลลังก์. (ป. ปลฺลงฺก).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้บทนิยามเป็นว่า –
“บัลลังก์ : (คำนาม) พระแท่นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร เรียกว่า พระแท่นราชบัลลังก์; ที่นั่งผู้พิพากษาเมื่อพิจารณาคดีในศาล; ส่วนของสถูปเจดีย์แบบลังกา มีรูปเป็นแท่นอยู่เหนือองค์ระฆัง. (คำกริยา) นั่งขัดสมาธิ เรียกว่า นั่งคู้บัลลังก์. (ป. ปลฺลงฺก).
ควรสังเกต :
๑ บัลลังก์– บ-ไม้หันอากาศ-ล ไม่ใช่ บรรลังก์– บ-รอหัน
๒ -ลังก์ ก ไก่การันต์ เพราะคำเดิม ปลฺลงฺก (ปัลลังกะ)
(๒) “รัตน”
บาลีเป็น “รตน” อ่านว่า ระ-ตะ-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) รติ (ความยินดี) + ตนฺ (ธาตุ = ขยาย, แผ่ไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ ติ ที่ รติ (รติ > ร)
: รติ + ตนฺ = รติตน + ณ = รติตนณ > รติตน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายความยินดี” คือเพิ่มความยินดีให้
(2) รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ตน ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (รมฺ > ร)
: รมฺ + ตน = รมตน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นที่ชื่นชอบแห่งผู้คน”
(3) รติ (ความยินดี) + นี (ธาตุ = นำไป) + อ ปัจจัย, ลบ อิ ที่ รติ (รติ > รต), ลบสระที่ธาตุ (นี > น)
: รติ + นี = รตินี + อ = รตินี > รตนี > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำไปสู่ความยินดี”
(4) รติ (ความยินดี) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + อ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ รติ เป็น อะ (รติ > รต), ลบ ช ต้นธาตุ (ชนฺ > น)
: รติ + ชนฺ = รติชนฺ + อ = รติชน > รตชน > รตน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังความยินดีให้เกิดขึ้น”
“รตน” ในภาษาไทยเขียน “รัตน-” (รัด-ตะ-นะ- กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “รัตน์” (รัด) “รัตนะ” (รัด-ตะ-นะ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รัตน-, รัตน์, รัตนะ : (คำนาม) แก้วที่ถือว่ามีค่ายิ่ง เช่น อิตถีรัตนะ คือ นางแก้ว หัตถิรัตนะ คือ ช้างแก้ว; คน สัตว์ หรือสิ่งของที่ถือว่าวิเศษและมีค่ามาก เช่น รัตนะ ๗ ของพระเจ้าจักรพรรดิ ได้แก่ ๑. จักรรัตนะ-จักรแก้ว ๒. หัตถิรัตนะ-ช้างแก้ว ๓. อัสสรัตนะ-ม้าแก้ว ๔. มณิรัตนะ-มณีแก้ว ๕. อิตถีรัตนะ-นางแก้ว ๖. คหปติรัตนะ-ขุนคลังแก้ว ๗. ปริณายกรัตนะ-ขุนพลแก้ว; ของประเสริฐสุด, ของยอดเยี่ยม, เช่น รัตนะ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วอันประเสริฐสุดของพุทธศาสนิกชน; ใช้ประกอบคําอื่นหมายถึงยอดเยี่ยมในพวกนั้น ๆ เช่น บุรุษรัตน์ นารีรัตน์ รัตนกวี. (ป. รตน; ส. รตฺน).”
(๓) “อาสน์”
บาลีเป็น “อาสน” อ่านว่า อา-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อาสฺ (ธาตุ = นั่ง; ตั้งไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อาสฺ + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การนั่ง” “ที่นั่ง” (2) “ที่เป็นที่ตั้ง”
(2) อา (แทนศัพท์ “อาคนฺตฺวา” = มาแล้ว) + สิ (ธาตุ = นอน), ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > ส, ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)
: อา + สิ = อาสิ > อาส + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” (คือแท่นหรือเตียงนอน)
“อาสน” หมายถึง การนั่ง, การนั่งลง, ที่นั่ง, บัลลังก์ (sitting, sitting down; a seat, throne)
การประสมคำ :
๑ รตน + อาสน = รตนาสน (ระ-ตะ-นา-สะ-นะ) > รัตนาสน์ (รัด-ตะ-นาด) แปลว่า “ที่นั่งอันมีค่าดุจแก้ว”
๒ บรรยงก์ + รัตนาสน์ = บรรยงก์รัตนาสน์ (บัน-ยง-รัด-ตะ-นาด) แปลว่า “บัลลังก์อันเป็นที่นั่งมีค่าดุจแก้ว”
ขยายความ :
“บรรยงก์รัตนาสน์” เป็นนามพระที่นั่งองค์หนึ่งในยุคที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “บรรยงก์รัตนาสน์” (อ่านเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เวลา 20:30 น.) อธิบายประวัติของพระที่นั่ง “บรรยงก์รัตนาสน์” ไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
…………..
พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ เป็นพระที่นั่งขนาดเล็ก ตั้งอยู่ภายในพระราชวังหลวง ในยุคที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี สร้างขึ้นโดย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งราชวงศ์ปราสาททอง ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับใช้เป็นที่ประทับและสำราญพระราชหฤทัย โดยสร้างเป็นปราสาทจตุรมุขอยู่บนเกาะ ขนาดขื่อ*กว้าง 6 เมตร สูง 40 เมตร มีเครื่องยอด 9 ชั้น มีพรหมพักตร์ มีฉัตรและหลังคามุงด้วยกระเบื้องดีบุก มีสระน้ำล้อมรอบ ด้านหลังพระที่นั่งมีสระเลี้ยงปลาเงินปลาทอง เรียกว่าอ่างแก้ว ภายในอ่างก่อเป็นภูเขาและทำน้ำพุ ตั้งอยู่ท้ายพระราชวังหลวง ระหว่างพระมหาปราสาท 3 องค์ คือ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท และพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์
ชาวบ้านนิยมเรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่าพระที่นั่งท้ายสระ สมเด็จพระเพทราชาโปรดที่จะเสด็จมาโปรยข้าวตอกให้ปลา ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (เจ้าฟ้าเพชร) โปรดประทับที่พระที่นั่งองค์นี้ด้วยเช่นกัน จนเป็นที่มาของพระนามเรียกขานพระองค์
ข้อมูลจากหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า : นายอนันต์ อมรรตัย บรรณาธิการ
…………..
*หมายเหตุ: คำว่า “ขนาดขื่อ” ยังไม่ทราบความหมาย หรือจะเป็นคำสะกดผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
เมื่อจะขึ้นสู่บัลลังก์ –
: คนเขลา มองหาแต่ทางขึ้น
: คนฉลาด มองหาทางลงด้วย
—————————-
ภาพประกอบ: โบราณสถานภายในเมืองหลวง อยุธยา ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นบริเวณที่ตั้งพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์
#บาลีวันละคำ (3,981)
7-5-66
…………………………….
…………………………….