มนุสภูโต (บาลีวันละคำ 3,757)
มนุสภูโต
มนุษย์ที่แท้จริง
เขียนแบบกึ่งไทยกึ่งบาลี แต่อ่านแบบบาลีว่า มะ-นุด-สะ-เน-ระ-ยิ-โก
ประกอบด้วยคำว่า มนุส + เนรยิโก
(๑) “มนุส”
เขียนแบบบาลีเป็น “มนุสฺส” อ่านว่า มะ-นุด-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) มน (ใจ) + อุสฺส (สูง)
: มน + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีใจสูง”
(2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + อุสฺส ปัจจัย
: มน + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์”
(3) มนุ (มนู = มนุษย์คนแรก) + อุสฺส (แทนศัพท์ อปจฺจ = เหล่ากอ หรือ ปุตฺต = ลูก)
: มนุ + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหล่ากอของมนู” หรือ “ผู้เป็นลูกของมนู”
คำว่า “มนู” หรือนิยมเรียกว่า “พระมนู” แปลว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของสัตวโลก”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มนู : (คำนาม) ชื่อพระผู้สร้างมนุษยชาติและปกครองโลก มี ๑๔ องค์ เรียงกันเป็นยุค ๆ ไป, ยุคหนึ่งเรียกว่า มนวันดร นานกว่า ๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี องค์แรก คือ พระสวายมภูวะ พระมนูองค์นี้ถือกันว่าเป็นผู้ทรงออกกฎหมายหรือธรรมศาสตร์ซึ่งยังมีอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้เรียกว่า มนุสัมหิตา หรือ มนุสมฺฤติ, เพราะฉะนั้น คํา มนู จึงหมายถึงกฎหมายก็ได้ เช่น มนูกิจ. (ส. มนุ).”
บาลี “มนุสฺส” สันสกฤตเป็น “มนุษฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“มนุษฺย : (คำนาม) มนุษย์, มนุษยชาติ; man, mankind.”
ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “มนุษย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มนุษย-, มนุษย์ : (คำนาม) สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล, สัตว์ที่มีจิตใจสูง, คน. (ส.; ป. มนุสฺส).”
ความหมายของคำว่า “มนุสฺส – มนุษย์” ที่ยอมรับกันมากที่สุดและเป็นความหมายตามตัวอักษรด้วย คือ “ผู้มีใจสูง”
ในที่นี้เขียนอิงรูปบาลี และตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งเป็น “มนุส”
(๒) “ภูโต”
อ่านว่า พู-โต รูปคำเดิมเป็น “ภูต” อ่านว่า พู-ตะ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ต ปัจจัย
: ภู + ต = ภูต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นอยู่ตามกรรม”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ประมวลความหมายคำว่า “ภูต” ในบาลีมาแสดงไว้ดังนี้ –
(1) ธรรมชาติที่มีชีวิตเป็นหลัก หรือเบญจขันธ์ (animate Nature as principle, or the vital aggregates [the 5 Khandhas])
(2) ผีสางหรืออมนุษย์ (ghosts, or amanussā)
(3) ธรรมชาติที่ไม่มีชีวิตเป็นหลัก หรือธาตุต่างๆ (inanimate Nature as principle, or the Elements)
(4) สิ่งที่มีอยู่ทั้งหมด, สิ่งที่มีตัวตนโดยทั่วไป (all that exists, physical existence in general)
(5) สิ่งที่เราเรียกคำที่ใช้เป็นส่วนขยาย ซึ่งถูกยกอุทาหรณ์ด้วยตัวอย่างที่ขาดหลักเกณฑ์ (what we should call a simple predicative use, is exemplified by a typical dogmatic example)
(6) สัตว์ทั้งหมดหรือสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิด, มวลสัตว์ (all beings or specified existence, animal kingdom)
(7) มวลผัก, รุกขชาติ, พฤกษชาติ (the vegetable kingdom, plants, vegetation)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภูต, ภูต- : (คำนาม) ผี, มักใช้เข้าคู่กันเป็น ภูตผี.ว. ซึ่งเกิดแล้ว, ซึ่งเป็นแล้ว. (ป., ส.).”
ในที่นี้ “ภูต” หมายถึง สิ่งซึ่งเป็นจริงอย่างที่สิ่งนั้นควรจะเป็น
มนุสฺส + ภูต = มนุสฺสภูต (มะ-นุด-สะ-พู-ตะ) แปลตามสำนวนคำสมาสว่า “มนุษย์ที่เป็นมนุษย์” หมายความว่า กำเนิดเป็นมนุษย์ด้วย กิริยาวาจาใจก็เป็นมนุษย์ด้วย
“มนุสฺสภูต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “มนุสฺสภูโต” อ่านว่า มะ-นุด-สะ-พู-โต
ในที่นี้ถือว่า “มนุสสภูโต” เป็นคำไทย แต่เขียนอิงรูปบาลี และตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง จึงเป็น “มนุสภูโต”
ที่ตัดตัวสะกดออกนั้น เทียบตามคำว่า “อุตฺตริมนุสฺสธมฺม” (อุด-ตะ-ริ-มะ-นุด-สะ-ทำ-มะ) ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ สะกดเป็น “อุตริมนุสธรรม” “มนุสฺส” ตัด ส ออกตัวหนึ่งเป็น “มนุส”
ขยายความ :
“มนุสภูโต” เป็นคำในชุดมนุษย์ 4 ประเภท คือ –
(1) มนุสเนรยิโก = มนุษย์สัตว์นรก
(2) มนุสเปโต = มนุษย์เปรต
(3) มนุสติรัจฉาโน = มนุษย์เดรัจฉาน
(4) มนุสภูโต = มนุษย์ที่แท้จริง
“มนุสภูโต” นี้ นักบรรยายธรรมบางสำนักนิยมเรียกว่า “มนุสสมนุสโส” (มะ-นุด-สะ-มะ-นุด-โส) แปลว่า “มนุษย์ที่เป็นมนุษย์” ความหมายก็เท่ากับ “มนุสภูโต” นั่นเอง แต่ “มนุสสมนุสโส” คำนี้ยังไม่พบในคัมภีร์บาลี
คัมภีรปรมัตถทีปนี (อรรถกถาวิมานวัตถุ) บรรยายลักษณะของ “มนุสภูโต” ไว้ ดังนี้ –
…………..
โย ปน อตฺตโน หิตาหิตํ ชานนฺโต กมฺมผลํ สทฺทหนฺโต หิโรตฺตปฺปสมฺปนฺโน ทยาปนฺโน สพฺพสตฺเตสุ สํเวคพหุโล อกุสลกมฺมปเถ ปริวชฺเชนฺโต กุสลกมฺมปเถ สมาจรนฺโต ปุญฺญกิริยวตฺถูนิ ปริปูเรติ ฯ อยํ มนุสฺสธมฺเม ปติฏฺฐิโต ปรมตฺถโต มนุสฺโส นาม ฯ
ส่วนผู้ใดรู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์อันเป็นส่วนตน เชื่อผลแห่งกรรม สมบูรณ์ด้วยหิริละอายบาปและโอตตัปปะเกรงกลัวบาป เปี่ยมด้วยความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง ฝักใฝ่ในทางพระศาสนา งดเว้นอกุศลกรรมบถ ประพฤติตนตั้งมั่นในกุศลกรรมบถ บำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุทั้งหลายครบถ้วน ผู้ดำรงมั่นอยู่ในมนุษยธรรมเช่นนี้ชื่อว่า มนุษย์ที่แท้จริง
ที่มา: ปรมัตถทีปนี (อรรถกถาวิมานวัตถุ) หน้า 29 (ปฐมปีฐวิมาน)
…………..
คุณสมบัติของ “มนุสภูโต” = มนุษย์ที่แท้จริง ตามที่ท่านบรรยายไว้สรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้ :
(1) รู้ชัดถึงสาระของชีวิต
(2) มั่นใจในอำนาจของการทำดีทำชั่ว
(3) รู้จักบาปบุญคุณโทษ
(4) มีน้ำใจอันงามต่อเพื่อนร่วมโลก
(5) ตระหนักถึงปัญหาและชะตากรรมของเพื่อนร่วมโลก
(6) งดบาปอกุศลทั้งปวง
(7) บำเพ็ญบุญเต็มความสามารถ
ผู้ปรารถนาจะเป็นมนุษย์ทั้งในภพนี้และภพหน้า พึงขวนขวายสั่งสมบำเพ็ญคุณสมบัติดังแสดงไว้นี้เทอญ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เกื้อกูลกันด้วยน้ำใจบริสุทธิ์
: เป็นมนุษย์ที่เป็นมนุษย์ได้ทันที
#บาลีวันละคำ (3,757)
25-9-65
…………………………….
…………………………….