อรหัง (ชุดพุทธคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,760)
อรหัง (ชุดพุทธคุณ 9)
…………..
ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอๆ
คำบาลีแสดงพระพุทธคุณว่าดังนี้ –
…………..
อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู
อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ
สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ.
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 1
…………..
พระพุทธคุณ 9 ท่านนับบทว่า “อรหํ” เป็นบทที่ 1
คำว่า “อรหํ” ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “อะระหัง” ในที่นี้เขียนแบบคำไทยเป็น “อรหัง” อ่านว่า อะ-ระ-หัง
คำว่า “อรหํ” รูปศัพท์เดิมเป็น “อรหนฺต” อ่านว่า อะ-ระ-หัน-ตะ มีรากศัพท์มาได้หลายทาง เช่น :
(1) อรห (ธาตุ = สมควร) + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ควรแก่การบูชาพิเศษของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย”
(2) น ( = ไม่, ไม่ใช่) > อ + รห (ธาตุ = สละ, ทอดทิ้ง) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้อันคนดีไม่ควรทอดทิ้ง”
(3) อริ ( = ข้าศึก) > อร + หนฺ (ธาตุ = กำจัด) = อรหน ลบที่สุดธาตุ > = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลสได้แล้ว”
(4) อร ( = ดุม กำ กง อันประกอบเข้าเป็นวงล้อ) + หนฺ (ธาตุ = กำจัด, เบียดเบียน) = อรหน ลบที่สุดธาตุ > อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้หักซึ่งวงล้อแห่งสังสารวัฏได้แล้ว”
(5) น ( = ไม่ใช่, ไม่มี) > อ + รห ( = การไปมา) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ไม่มีการไปมา” คือไม่ไปเกิดในภพภูมิไหนๆ อีก
(6) น ( = ไม่ใช่, ไม่มี) > อ + รห ( = ความลับ, ที่ลับ, ความชั่ว) = อรห + อนฺต ปัจจัย = อรหนฺต แปลว่า “ผู้ไม่มีความลับ” (ไม่มีความไม่ดีไม่งามที่จะต้องปิดบังใครๆ) “ผู้ไม่มีที่ลับ” (สำหรับที่จะแอบไปทำความไม่ดีไม่งาม) “ผู้ไม่มีความชั่ว”
“อรหนฺต” แจกด้วยวิภัตตินามที่ 1 (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ ลง สิ วิภัตติ ตามสูตรว่า “เอา นฺต กับ สิ เป็น อํ”
: อรหนฺต + สิ (-นฺต + สิ = อํ : อรห + อํ) = อรหํ
บาลี “อรหนฺต” ในภาษาไทยใช้ว่า “อรหันต์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อรหันต-, อรหันต์ : (คำนาม) ชื่อพระอริยบุคคลชั้นสูงสุดใน ๔ ชั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เรียกว่า พระอรหันต์. (ศัพท์นี้ใช้ อรหา หรือ อรหัง ก็มี แต่ถ้าใช้เป็นคําวิเศษณ์หรืออยู่หน้าสมาสต้องใช้ อรหันต). (ป.; ส. อรฺหนฺต).”
พจนานุกรมฯ ยังเก็บคำว่า “อรหัง” ไว้อีกคำหนึ่ง บอกไว้ดังนี้ –
“อรหัง : (คำนาม) พระพุทธเจ้า; พระอรหันต์. (ป. อรหํ).”
ในที่นี้ “อรหัง” เป็นพระคุณนามของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ มิได้หมายถึงพระอรหันต์ทั่วไป
ขยายความ :
คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 253 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่ได้พระคุณนามว่า “อรหํ” ไว้ ดังนี้ –
…………..
อารกตฺตา อรีนํ อรานญฺจ หตตฺตา ปจฺจยาทีนํ อรหตฺตา ปาปกรเณ รหาภาวาติ อิเมหิ ตาว การเณหิ โส ภควา อรหนฺติ อนุสฺสรติ ฯ
…………..
แปลความว่า บัณฑิตย่อมระลึกถึงพระพุทธคุณว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นได้พระนามว่า “อรหํ” เพราะเหตุ 5 นัย ดังนี้ คือ –
(1) อารกตฺตา เพราะความเป็นอารกะ = “อรหํ” มาจากคำว่า “อารกะ” (ผู้ไกลจากกิเลส)
(2) อรีนํ หตตฺตา เพราะความที่ทรงกำจัดอริทั้งหลายเสียได้ = “อรหํ” มาจากคำว่า “อริ” (ข้าศึก)
(3) อรานญฺจ หตตฺตา เพราะทรงทำลายอระทั้งหลายเสียได้ = “อรหํ” มาจากคำว่า “อระ” (ซี่กำแห่งสังสารจักร)
(4) ปจฺจยาทีนํ อรหตฺตา เพราะความเป็นอรหะแก่ทักขิณาวัตถุทั้งหลายมีปัจจัย 4 เป็นต้น = “อรหํ” มาจากคำว่า “อรหะ” (ผู้สมควรได้รับ)
(5) ปาปกรเณ รหาภาวา เพราะความไม่มีรหะในอันที่จะทำบาป = “อรหํ” มาจากคำว่า “รหะ” (ที่ลับ)
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อรหํ” สรุปความไว้ดังนี้ –
…………..
อรหํ : (พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น) เป็นพระอรหันต์ คือ เป็นผู้ไกลจากกิเลสและบาปธรรม ทรงความบริสุทธิ์, หรือเป็นผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลสสิ้นแล้ว, หรือเป็นผู้หักกำแห่งสังสารจักร อันได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม, หรือเป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอน เป็นผู้ควรรับความเคารพ ควรแก่ทักษิณา และการบูชาพิเศษ, หรือเป็นผู้ไม่มีข้อเร้นลับ คือไม่มีข้อเสียหายอันควรปกปิด (ข้อ ๑ ในพุทธคุณ ๙).
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าสถาปนาใครเป็นพระอรหันต์กันง่ายๆ
: พระพุทธองค์ทรงลำบากปางตายกว่าจะได้เป็นพระอรหันต์
…………………………….
http://www.larnbuddhism.com/visut/2.9.html
…………………………….
#บาลีวันละคำ (3,760)
28-9-65
…………………………….
…………………………….