บาลีวันละคำ

สัมมาสัมพุทโธ (ชุดพุทธคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,761)

สัมมาสัมพุทโธ (ชุดพุทธคุณ 9)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระพุทธคุณว่าดังนี้ –

…………..

อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู

อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ

สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ.

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 1

…………..

พระพุทธคุณ 9 ท่านนับบทว่า “สมฺมาสมฺพุทฺโธ” เป็นบทที่ 2

คำว่า “สมฺมาสมฺพุทฺโธ” เขียนแบบคำไทยเป็น “สัมมาสัมพุทโธ” อ่านว่า สำ-มา-สำ-พุด-โท แยกศัพท์เป็น สัมมา + สัมพุทโธ

(๑) “สัมมา”

เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺมา” อ่านว่า สำ-มา รากศัพท์มาจาก สมุ (ธาตุ = สงบ) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ, ซ้อน มฺ, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สมุ > สม + ม = สมฺม + อ = สมฺม + อา = สมฺมา แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องสงบ”

หมายเหตุ :

“สมฺมา” ตามรากศัพท์นี้ หมายถึง สลักของแอก (a pin of the yoke)

“สมฺมา” ที่กำลังกล่าวถึงนี้น่าจะมีรากศัพท์เดียวกัน

——-

“สมฺมา” เป็นคำที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อัพยยศัพท์” คือคำที่คงรูป ไม่เปลี่ยนรูปไปตามวิธีแจกวิภัตติ แต่อาจเปลี่ยนตามวิธีสนธิได้บ้าง และทำหน้าที่เป็นคุณศัพท์ ขยายคำอื่น ไม่ใช้ตามลำพัง

“สมฺมา > สัมมา” แปลว่า โดยทั่วถึง, โดยสมควร, โดยถูกต้อง, โดยชอบ, ในทางดี, ตามสมควร, ดีที่สุด, โดยสมบูรณ์ (thoroughly, properly, rightly; in the right way, as it ought to be, best, perfectly)

คำที่ตรงกันข้ามกับ “สัมมา” ก็คือ “มิจฉา” (มิด-ฉา) แปลว่า ผิด, อย่างผิดๆ, ด้วยวิธีผิด, ไม่ถูก, เก๊, หลอกๆ (wrongly, in a wrong way, wrong–, false)

(๒) “สัมพุทโธ”

เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺพุทฺโธ” อ่านว่า สำ-พุด-โท ประกอบด้วย สมฺ + พุทฺโธ

(ก) “สมฺ” รูปเดิมคือ “ส” (สะ) ตัดมาจาก –

สามํ (สา-มัง) ตนเอง, ของตนเอง (self, of oneself)

สยํ (สะ-ยัง) เอง, โดยตนเอง (self, by oneself)

“สามํ” หรือ “สยํ” ตัดมาเฉพาะ “ส” แล้วลงนิคหิตเป็น “สํ” (สัง) แล้วแปลงนิคหิตเป็น มฺ (สํ > สมฺ)

(ข) “พุทฺโธ” รูปคำเดิมคือ “พุทฺธ” อ่านว่า พุด-ทะ (โปรดสังเกต มีจุดใต้ ทฺ) รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง ต เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้”

“พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –

one who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)

ส > สํ > สมฺ + พุทฺธ = สมฺพุทฺธ แปลว่า “ผู้รู้ด้วยตนเอง”

ในภาษาไทย ใช้เป็น “สัมพุทธ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “สัมพุทธะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สัมพุทธ-, สัมพุทธะ : (คำนาม) ผู้รู้พร้อม, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้สว่างแล้ว; พระนามพระพุทธเจ้า. (ป., ส.).”

สมฺมา + สมฺพุทฺธ = สมฺมาสมฺพุทฺธ แปลว่า “ผู้รู้อย่างถูกต้องด้วยตนเอง” คำแปลที่คุ้นหูกันทั่วไปคือ “ผู้ตรัสรู้ดีตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง”

ข้อสังเกต :

การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในคำว่า “สมฺมาสมฺพุทฺธ” มี 2 ส่วนประกอบกัน คือ –

1 สิ่งที่ตรัสรู้นั้นเป็นการรู้อย่างถูกต้อง (สมฺมา) ไม่ใช่รู้ผิดๆ

2 เป็นการตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง (สามํ) คือคิดค้นขึ้นได้ด้วยพระองค์เอง ไม่ใช่รู้ตามคำสอนของคนอื่น

รู้เอง แต่รู้ผิดๆ ก็ใช้ไม่ได้

รู้ถูกต้อง แต่รู้ตามที่คนอื่นสอนไว้ ก็ยังไม่เลิศล้ำจริง

รู้ถูกต้องด้วย รู้ด้วยตนเองด้วย ดังนี้จึงชื่อว่า “สมฺมาสมฺพุทฺธ” = ผู้รู้อย่างถูกต้องด้วยตนเอง

“สมฺมาสมฺพุทฺธ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สมฺมาสมฺพุทฺโธ” (สำ-มา-สำ-พุด-โท) เขียนแบบไทยเป็น “สัมมาสัมพุทโธ”

“สัมมาสัมพุทโธ” เป็นพระคุณนามบทที่ 2 ของพระพุทธเจ้า

ขยายความ :

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 257-258 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่ได้พระคุณนามว่า “สัมมาสัมพุทโธ” ไว้นัยหนึ่ง ดังนี้ –

…………..

สมฺมา สามญฺจ สพฺพธมฺมานํ พุทฺธตฺตา ปน สมฺมาสมฺพุทฺโธ ฯ

อนึ่งเล่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงพระนามว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ ก็เพราะทรงรู้ธรรมทั้งปวงโดยถูกต้อง (สมฺมา) และโดยพระองค์เอง (สามํ)

ตถาเหส สพฺพธมฺเม สมฺมา สามญฺจ พุทฺโธ

จริงอย่างนั้น พระองค์ทรงรู้ซึ่งธรรมทั้งปวง โดยถูกต้องด้วย โดยพระองค์เองด้วย

อภิญฺเญยฺเย ธมฺเม อภิญฺเญยฺยโต พุทฺโธ

คือ ทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นอภิญไญย โดยความเป็นธรรมที่พึงรู้ยิ่ง

ปริญฺเญยฺเย ธมฺเม ปริญฺเญยฺยโต

ทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นปริญไญยโดยความเป็นธรรมที่พึงกำหนดรู้

ปหาตพฺเพ ธมฺเม ปหาตพฺพโต

ทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นปหาตัพพะ โดยความเป็นธรรมที่พึงละ

สจฺฉิกาตพฺเพ ธมฺเม สจฺฉิกาตพฺพโต

ทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นสัจฉิกาตัพพะ โดยความเป็นธรรมที่พึงทำให้แจ้ง

ภาเวตพฺเพ ธมฺเม ภาเวตพฺพโต ฯ

ทรงรู้ธรรมทั้งหลายที่เป็นภาเวตัพพะ โดยความเป็นธรรมที่พึงเจริญ (คือบำเพ็ญให้เกิดมีบริบูรณ์ขึ้น)

เตเนว จาห

เพราะเหตุนั้นแล พระองค์จึงตรัส (แก่เสลพราหมณ์) ว่า –

อภิญฺเญยฺยํ อภิญฺญาตํ

ภาเวตพฺพญฺจ ภาวิตํ

ปหาตพฺพํ ปหีนํ เม

ตสฺมา พุทฺโธสฺมิ พฺราหฺมณาติ ฯ

สิ่งที่ควรรู้ยิ่งเราได้รู้ยิ่งแล้ว

และสิ่งที่ควรเจริญ เราได้เจริญแล้ว

สิ่งที่ควรละเราก็ได้ละแล้ว

เพราะเหตุนั้นแหละพราหมณ์ เราจึงเป็นพุทธะ

(คาถาพุทธดำรัสมาในเสลสูตร ขุทกนิกาย สุตตนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 377)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “สมฺมาสมฺพุทฺโธ” สรุปความไว้ดังนี้ –

…………..

สมฺมาสมฺพุทฺโธ : (พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น) เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ คือรู้อริยสัจจ์ ๔ โดยไม่เคยได้เรียนรู้จากผู้อื่น จึงทรงเป็นผู้เริ่มประกาศสัจจธรรม เป็นผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนา และจึงได้พระนามอย่างหนึ่งว่า ธรรมสามี คือเป็นเจ้าของธรรม (ข้อ ๒ ในพุทธคุณ ๙)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ายังรู้ด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ควรฟังจากคนอื่นสักนิด

: แต่เรื่องที่ได้ฟังนั้นถูกหรือผิด ควรรู้ได้ด้วยตัวเอง

#บาลีวันละคำ (3,761)

29-9-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *