วิชชาจรณสัมปันโน (ชุดพุทธคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,762)
วิชชาจรณสัมปันโน (ชุดพุทธคุณ 9)
…………..
ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ
คำบาลีแสดงพระพุทธคุณว่าดังนี้ –
…………..
อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู
อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ
สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ.
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 1
…………..
พระพุทธคุณ 9 ท่านนับบทว่า “วิชชาจรณสัมปันโน” เป็นบทที่ 3
คำว่า “วิชชาจรณสัมปันโน” ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “วิชชาจะระณะสัมปันโน” ในที่นี้เขียนแบบคำไทยเป็น “วิชชาจรณสัมปันโน” อ่านว่า วิด-ชา-จะ-ระ-นะ-สำ-ปัน-โน แยกศัพท์เป็น วิชชา + จรณ + สัมปันโน
(๑) “วิชชา”
เขียนแบบบาลีเป็น “วิชฺชา” (มีจุดใต้ ชฺ ตัวหน้า) อ่านว่า วิด-ชา รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ทฺย (คือ (วิ)-ทฺ + (ณฺ)-ย) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วิทฺ + ณฺย = วิทฺณย > วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หรือ “ตัวรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญาหยั่งรู้ (knowledge; transcendental wisdom)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิชฺชา” ไว้ 2 นัย คือ –
(1) ความหมายทั่วไป : science, craft, art, charm, spell (ศาสตร์, งานอาชีพ, ศิลปะ, มนต์, คำสาป)
(2) ความหมายเฉพาะ (เช่นที่ใช้ในศาสนา) : science, study, higher knowledge (วิทยาศาสตร์, การศึกษา, ความรู้ที่สูงกว่า)
อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์ คำว่า “วิชฺชา” มักใช้ในความหมายเฉพาะ คือหมายถึงญาณปัญญาที่บรรลุได้ด้วยการฝึกจิต
บาลี “วิชฺชา” สันสกฤตเป็น “วิทฺยา”
โปรดสังเกตว่า ในขั้นตอนการกลายรูปของบาลี เป็น “วิทฺย” ก่อนแล้วจึงเป็น “วิชฺช”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วิทฺยา : (คำนาม) วิทยา, พุทธิ; ศึกษา; ศาสตร์; พระทุรคาเทวี; ต้นไม้; มายาคุฏิกา; ยาเม็ดวิเศษหรือลูกอมอันสำเร็จด้วยเวทมนตร์ ใส่ปากบุทคลเข้าไปอาจจะบันดาลให้บุทคลขึ้นสวรรค์หรือเหาะได้; knowledge; learning; science; the goddess Durgā; a tree; a magical pill, by putting which in to the mouth a person has the power of ascending to heaven or traversing the air.”
“วิชฺชา” ถ้าคงรูปบาลี ในภาษาไทยใช้ว่า “วิชา” (ตัด ช ออกตัวหนึ่ง) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิชา : (คำนาม) ความรู้, ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน, เช่น วิชาภาษาไทย วิชาช่าง วิชาการฝีมือ. (ป. วิชฺชา; ส. วิทฺยา).”
ในที่นี้ “วิชฺชา” ใช้คงรูปเดิมเป็น “วิชชา” (ไม่มีจุดใต้ ชฺ ตัวหน้า) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “วิชชา” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –
“วิชชา : (คำนาม) ความรู้แจ้ง เช่น วิชชา ๓ วิชชา ๘ ในพระพุทธศาสนา, วิชชา ๓ คือ ๑. บุพเพนิวาสานุสติญาณ (รู้จักระลึกชาติได้) ๒. จุตูปปาตญาณ (รู้จักกําหนดจุติและเกิด) ๓. อาสวักขยญาณ (รู้จักทําอาสวะให้สิ้น), ส่วนวิชชา ๘ คือ ๑. วิปัสสนาญาณ (ญาณอันนับเข้าในวิปัสสนา) ๒. มโนมยิทธิ (ฤทธิ์ทางใจ) ๓. อิทธิวิธิ (แสดงฤทธิ์ได้) ๔. ทิพโสต (หูทิพย์) ๕. เจโตปริยญาณ (รู้จักกําหนดใจผู้อื่น) ๖. บุพเพนิวาสานุสติญาณ ๗. ทิพจักขุ (ตาทิพย์) ๘. อาสวักขยญาณ. (ป. วิชฺชา; ส. วิทฺยา).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “วิชชา” อธิบายไว้ดังนี้ –
…………..
วิชชา : ความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ; วิชชา ๓ คือ ๑. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ระลึกชาติได้ ๒. จุตูปปาตญาณ ความรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ๓. อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น วิชชา ๘ คือ ๑. วิปัสสนาญาณ ญาณในวิปัสสนา ๒. มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ ๓. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ ๔. ทิพพโสต หูทิพย์ ๕. เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่นได้ ๖. ปุพเพนิวาสานุสติ ๗. ทิพพจักขุ ตาทิพย์ ( = จุตูปปาตญาณ) ๘. อาสวักขยญาณ
…………..
แถม :
คำว่า “บุพเพนิวาสานุสติญาณ” หรือ “ปุพเพนิวาสานุสติ” และ “อาสวักขยญาณ” พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกความหมายไว้
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ : ความรู้เป็นเครื่องระลึกได้ถึงปุพเพนิวาส คือขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในก่อน, ระลึกชาติได้
(2) อาสวักขยญาณ : ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ, ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย, ความตรัสรู้ (เป็นความรู้ที่พระพุทธเจ้าได้ในยามสุดท้ายแห่งราตรี วันตรัสรู้)
…………..
(๒) “จรณ”
อ่านว่า จะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: จรฺ + ยุ > อน = จรน > จรณ แปลตามศัพท์ว่า “ความประพฤติเป็นเครื่องดำเนินไป”
“จรณ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การเที่ยวไป, การเล็มกินหญ้า, การกินอาหาร (walking about, grazing, feeding)
(2) เท้า (the foot)
(3) การกระทำ, พฤติกรรม, ความประพฤติดี, จรณะ (acting, behaviour, good conduct)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จรณะ : (คำนาม) ความประพฤติ, ในพระพุทธศาสนาหมายความว่า ข้อปฏิบัติเป็นเครื่องบรรลุวิชชา. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “จรณะ” อธิบายไว้ดังนี้ –
…………..
จรณะ :เครื่องดำเนิน, ปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติอันเป็นทางบรรลุวิชา มี ๑๕ คือ สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล อปัณณกปฏิปทา ๓ สัทธรรม ๗ และ ฌาน ๔
…………..
(๓) “สัมปันโน”
เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺปนฺโน” อ่านว่า สำ-ปัน-โน รูปคำเดิมเป็น “สมฺปนฺน” อ่านว่า สำ-ปัน-นะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ต ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), ลบที่สุดธาตุ (ปทฺ > ป), แปลง ต เป็น นฺน (หรือนัยหนึ่ง แปลง ทฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น นฺน)
: สํ + ปทฺ = สํปทฺ > สมฺปทฺ + ต = สมฺปทฺต > สมฺปนฺน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถึงพร้อม” หมายถึง ผู้ได้บรรลุคุณธรรมหรือมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งสมบูรณ์
“สมฺปนฺน” เป็นคำกริยาและใช้เป็นคุณศัพท์ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลดังนี้ –
(1) successful, complete, perfect (สำเร็จ, สมบูรณ์, ดีพร้อม)
(2) endowed with, possessed of, abounding in (กอปรด้วย, มี, อุดมด้วย)
(3) sweet, well cooked (หวาน, ปรุงอย่างดี)
การประสมคำ :
๑ วิชฺชา + จรณ = วิชฺชาจรณ (วิด-ชา-จะ-ระ-นะ) แปลว่า “วิชชาและจรณะ”
๒ วิชฺชาจรณ + สมฺปนฺน = วิชฺชาจรณสมฺปนฺน (วิด-ชา-จะ-ระ-นะ-สำ-ปัน-นะ) แปลว่า “ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ”
“วิชฺชาจรณสมฺปนฺน” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน” (วิด-ชา-จะ-ระ-นะ-สำ-ปัน-โน) เขียนแบบไทยเป็น “วิชชาจรณสัมปันโน”
“วิชชาจรณสัมปันโน” เป็นพระคุณนามบทที่ 3 ของพระพุทธเจ้า
ขยายความ :
คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 259 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่ได้พระคุณนามว่า “วิชชาจรณสัมปันโน” ไว้ ดังนี้ –
…………..
วิชฺชาหิ ปน จรเณน จ สมฺปนฺนตฺตา วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ฯ
อนึ่งเล่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ก็เพราะทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาทั้งหลายและจรณะด้วย
ตตฺถ วิชฺชาติ ติสฺโสปิ วิชฺชา อฏฺฐปิ วิชฺชา ฯ
คุณสมบัติทั้งสองนั้น วิชชา หมายเอาทั้งวิชชา 3 ทั้งวิชชา 8
จรณนฺติ สีลสํวโร อินฺทฺริเยสุ คุตฺตทฺวารตา โภชเน มตฺตญฺญุตา ชาคริยานุโยโค สตฺต สทฺธมฺมา จตฺตาริ รูปาวจรชฺฌานานีติ อิเมเยว ปณฺณรส ธมฺมา เวทิตพฺพา ฯ
ธรรม 15 ประการ คือ (1) สีลสังวร (2) อินฺทฺริเยสุคุตฺตทฺวารตา (ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย) (3) โภชเนมัตตัญญุตา (4) ชาคริยานุโยค (5-11) สัทธรรม 7 (คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ วิริยะ สติ ปัญญา) (12-15) รูปาวจรฌาน 4 นี่แลพึงทราบว่าชื่อจรณะ
ภควา อิมาหิ วิชฺชาหิ อิมินา จ จรเณน สมนฺนาคโต เตน วุจฺจติ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโนติ ฯ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกอบด้วยวิชชาและจรณะเหล่านี้ เพราะเหตุนั้น จึงได้พระนามว่า วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน” สรุปความไว้ดังนี้ –
…………..
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน : (พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น) ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ประกอบด้วยวิชชา ๓ หรือวิชชา ๘ และจรณะ ๑๕ อันเป็นปฏิปทาเครื่องบรรลุวิชชานั้น, มีความรู้ประเสริฐความประพฤติประเสริฐ (ข้อ ๓ ในพุทธคุณ ๙)
…………..
: บางคนความรู้ดี แต่ความประพฤติเสีย
: บางคนความรู้ด้อย แต่ความประพฤติดี
ดูก่อนภราดา!
ถ้ามีให้เลือกแค่สองคนเท่านี้ ท่านจะเลือกคนไหน?
#บาลีวันละคำ (3,762)
30-9-65
…………………………….
…………………………….