บาลีวันละคำ

สุคโต (ชุดพุทธคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,763)

สุคโต (ชุดพุทธคุณ 9)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระพุทธคุณว่าดังนี้ –

…………..

อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู

อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ

สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ.

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 1

…………..

พระพุทธคุณ 9 ท่านนับบทว่า “สุคโต” เป็นบทที่ 4

คำว่า “สุคโต” ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “สุคะโต” ในที่นี้เขียนแบบคำไทยเป็น “สุคโต” อ่านว่า สุ-คะ-โต

“สุคโต” รูปคำเดิมเป็น “สุคต” อ่านว่า สุ-คะ-ตะ รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ต ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (คมฺ > ค)

: สุ + คมฺ = สุคมฺ + ต = สุคมต > สุคต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปดี”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุคต” ว่า ดำเนินไปดี, เป็นสุข (faring well, happy)

บางกรณี “สุคต” ก็มีความหมายว่า มีความสุขหลังจากสิ้นชีวิต (having a happy life after death) คือเท่ากับย่อมาจาก สุคติ + คต = สุคติคต > สุคต แปลว่า “ไปสู่ภพภูมิที่ดี”

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงรูปวิเคราะห์ (กระบวนการกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ของ “สุคต” และคำแปลตามศัพท์ไว้ดังนี้ –

(1) โสภณคมนตฺตา สุคโต = ผู้ทรงมีการเสด็จไปที่งดงาม

(2) สุนฺทรํ ฐานํ สมฺมาสมฺโพธึ นิพฺพานเมว วา คโต อธิคโตติ สุคโต = ผู้ทรงถึงฐานะที่งดงามคือสัมมาสัมโพธิญาณหรือนิพพาน

(3) สมฺมา คโต อธิคโตติ สุคโต = ผู้ทรงบรรลุโดยชอบ

(4) สมฺมา คทติ วทตีติ สุคโต = ผู้ตรัสโดยชอบ

(5) โสภณํ คตํ ญาณมสฺสาติ สุคโต = ผู้มีพระญาณที่งดงาม

(6) สํสารา สุฏฺฐุ อปุนาวตฺติยา คตวาติ สุคโต = ผู้เสด็จออกจากสังสารวัฏด้วยดีโดยไม่หวนกลับมาอีก

(7) สปรสุขสิทฺธตฺถํ สมฺมา คตวาติ สุคโต = ผู้เสด็จไปโดยชอบเพื่อความสุขของตนและผู้อื่นให้สำเร็จ

ในภาษาไทย “สุคต” อ่านว่า สุ-คด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สุคต : (คำนาม) ผู้ไปดีแล้ว; พระนามพระพุทธเจ้า. (ป., ส.).”

“สุคต” ในบาลี อ่านว่า สุ-คะ-ตะ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สุคโต” (สุ-คะ-โต) เขียนแบบไทยเป็น “สุคโต” ตรงตามรูปคำบาลี

“สุคโต” เป็นพระคุณนามบทที่ 4 ของพระพุทธเจ้า

ขยายความ :

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 260 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่ได้พระคุณนามว่า “สุคโต” ไว้ ดังนี้ –

…………..

โสภนคมนตฺตา สุนฺทรํ ฐานํ คตตฺตา สมฺมา คตตฺตา สมฺมา จ คทตฺตา สุคโต ฯ

…………..

สุคโต

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สุคโต

โสภนคมนตฺตา จ เพราะเป็นผู้มีทางเสด็จไปอันงาม 1

สุนฺทรํ ฐานํ คตตฺตา จ เพราะเสด็จไปแล้วเป็นอันดี 1

สมฺมา คตตฺตา จ เพราะเสด็จไปแล้วโดยชอบ 1

สมฺมา คทตฺตา จ เพราะตรัสโดยชอบ 1

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “สุคโต” อธิบายขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

สุคโต : (พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น) “เสด็จไปดีแล้ว” คือ ทรงมีทางเสด็จที่ดีงามอันได้แก่อริยมรรค, เสด็จไปสู่ที่ดีงามกล่าวคือพระนิพพาน, เสด็จไปด้วยดีโดยชอบ กล่าวคือ ทรงดำเนินรุดหน้าไม่หวนกลับมาสู่กิเลสที่ทรงละได้แล้ว ทรงดำเนินสู่ผลสำเร็จไม่ถอยหลัง ไม่กลับตกจากฐานะที่ลุถึง ทรงดำเนินในทางอันถูกต้องคือมัชฌิมาปฏิปทา ไม่เฉเชือนไปในทางที่ผิด คือ กามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค เสด็จไปดี เสด็จที่ใดก็ทรงทำประโยชน์ให้แก่มหาชนในที่นั้น เสด็จไปโดยสวัสดีและนำให้เกิดความสวัสดี แม้แต่พบองคุลิมาลมหาโจรร้ายก็ทรงกลับใจให้เขากลายเป็นคนดีไม่มีภัย เสด็จผ่านไปแล้วด้วยดี ได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจไว้บริบูรณ์ ประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ เพื่อชาวโลก ให้เป็นเครื่องเผล็ดประโยชน์แก่ประชาชนทั้งปวงผู้เกิดมาในภายหลัง, ทรงมีพระวาจาดี หรือตรัสโดยชอบ คือ ตรัสแต่คำจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในกาลที่ควรตรัส และบุคคลที่ควรตรัส (ข้อ ๔ ในพุทธคุณ ๙)

…………..

ตโม ตมปรายโน

ตโม โชติปรายโน

โชติ ตมปรายโน

โชติ โชติปรายโน.

ที่มา: สังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 276

: บางคนมาก็ไม่ดี ไปก็ไม่ดี

: บางคนมาไม่ดี แต่ไปดี

: บางคนมาดี แต่ไปไม่ดี

: บางคนมาก็ดี ไปก็ดี

ดูก่อนภราดา!

ท่านเป็น “บางคน” แบบไหน?

#บาลีวันละคำ (3,763)

01-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *