โลกวิทู (ชุดพุทธคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,764)
โลกวิทู (ชุดพุทธคุณ 9)
…………..
ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ
คำบาลีแสดงพระพุทธคุณว่าดังนี้ –
…………..
อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู
อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ
สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ.
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 1
…………..
พระพุทธคุณ 9 ท่านนับบทว่า “โลกวิทู” เป็นบทที่ 5
คำว่า “โลกวิทู” ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “โลกะวิทู” ในที่นี้เขียนแบบคำไทยเป็น “โลกวิทู” อ่านว่า โล-กะ-วิ-ทู แยกศัพท์เป็น โลก + วิทู
(๑) “โลก”
บาลี (ปุงลิงค์) อ่านว่า โล-กะ
(ก) ในแง่ภาษา
(1) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก ลุชฺ (ธาตุ = พินาศ) + ณ ปัจจัย แปลง ช เป็น ก แผลง อุ เป็น โอ
: ลุชฺ > ลุก > โลก + ณ = โลกณ > โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะพินาศไป”
(2) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก ลุจฺ (ธาตุ = ย่อยยับ, พินาศ) + อ (อะ) ปัจจัย แปลง จ เป็น ก แผลง อุ เป็น โอ
: ลุจฺ > ลุก > โลก + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะย่อยยับไป”
(3) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก โลกฺ (ธาตุ = เห็น, ปรากฏ) + อ (อะ) ปัจจัย
: โลก + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า “ร่างอันเขาเห็นอยู่”
(4) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก โลกฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่) + อ (อะ) ปัจจัย
: โลก + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า “ร่างเป็นที่ตั้งอยู่แห่งบุญบาปและผลแห่งบุญบาปนั้น”
(ข) ในแง่ความหมาย
(1) โลก หมายถึง ดินแดน แผ่นดิน วัตถุธาตุ หรือดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง คือโลกที่เรามองเห็นและอาศัยอยู่นี้ รวมทั้งดาวดวงอื่น
(2) โลก หมายถึง สิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์ เช่นในคำว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
(3) โลก หมายถึง สังคม หมู่ชน ชุมชน เช่นในคำว่า โลกติเตียน เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
(4) โลก หมายถึง ชีวิต อันประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ของแต่ละคน ที่สำนวนเก่าเรียกว่า “โลกคือกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก”
(5) โลก หมายถึงวิสัยหรือธรรมดาของโลก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบ พราก ได้ เสีย อิ่ม อด สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์
(6) โลก หมายถึง ค่านิยม ความคิดจิตใจ ความประพฤติแบบหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับ “ธรรม” เช่น ดื่ม กิน เที่ยว เสพสุข เป็น “โลก” สงบ สำรวม ควบคุมขัดเกลาตนเอง เป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โลก, โลก- : (คำนาม) แผ่นดิน, โดยปริยายหมายถึงหมู่มนุษย์ เช่น ให้โลกนิยม; ส่วนหนึ่งแห่งสกลจักรวาล เช่น มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก โลกพระอังคาร; (คำที่ใช้ในภูมิศาสตร์) ดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๕ ในระบบสุริยะ เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ลักษณะอย่างรูปทรงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ศูนย์สูตรยาว ๑๒,๗๕๕ กิโลเมตร ศูนย์กลางที่ขั้วโลกยาว ๑๒,๗๑๑ กิโลเมตร มีเนื้อที่บนผิวโลก ๕๑๐,๙๐๓,๔๐๐ ตารางกิโลเมตร. (ป., ส.).”
(๒) “วิทู”
อ่านว่า วิ-ทู รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + รู ปัจจัย, ลบ ร (รู > อู)
: วิทฺ + รู = วิทรู > วิทู แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้”
“วิทู” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ฉลาด, มีปัญญา, รอบรู้, สันทัด (clever, wise, knowing, skilled in)
โลก + วิทู = โลกวิทู (โล-กะ-วิ-ทู) แปลว่า “ผู้รู้แจ้งโลก”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โลกวิทู : (คำนาม) “ผู้รู้แจ้งซึ่งโลก” คือ พระพุทธเจ้า. (ป.; ส. โลก + วิทุ).”
“โลกวิทู” เป็นศัพท์ อู-การันต์ในปุงลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ คงรูปเป็น “โลกวิทู” (โล-กะ-วิ-ทู) เขียนแบบไทยเป็น “โลกวิทู” ตรงตามรูปคำบาลี
“โลกวิทู” เป็นพระคุณนามบทที่ 5 ของพระพุทธเจ้า
ขยายความ :
คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 261 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่ได้พระคุณนามว่า “โลกวิทู” ไว้ ดังนี้ –
…………..
สพฺพถาปิ วิทิตโลกตฺตา ปน โลกวิทู ฯ
อนึ่งเล่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า โลกวิทู ก็เพราะทรงรู้แจ้งโลกโดยประการทั้งปวง
โส หิ ภควา สภาวโต สมุทยโต นิโรธโต นิโรธุปายโตติ สพฺพถา โลกํ อเวทิ อญฺญาสิ ปฏิวิชฺฌิ ฯ
แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นได้ทรงรู้ คือเข้าพระหฤทัยปรุโปร่ง ซึ่งโลก โดยประการทั้งปวง คือ –
สภาวโต โดยความเป็นจริงตามที่โลกนั้นเป็นอยู่
สมุทยโต โดยรู้แจ้งเหตุที่ทำให้โลกนั้นเกิดขึ้น
นิโรธโต โดยรู้แจ้งเหตุที่ทำให้โลกนั้นดับ
นิโรธุปายโต โดยเข้าใจเข้าถึงวิธีดับปัญหาของโลก
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “โลกวิทู” ขยายความไว้ดังนี้ –
…………..
โลกวิทู : (พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น) ทรงรู้แจ้งโลก คือทรงรู้แจ้งสภาวะแห่งโลกคือสังขารทั้งหลาย ทรงทราบอัธยาศัยสันดานของสัตวโลกที่เป็นไปต่างๆ ทำให้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจได้ผลดี (ข้อ ๕ ในพุทธคุณ ๙)
…………..
แถม :
คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 แจกแจงโลกที่น่ารู้ไว้ 12 ประเภท ดังนี้ –
(๑) โลก 1 คือ “สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร” ข้อนี้เป็นกฎความจริงอันดับ 1 ของโลก
(๒) โลก 2 คือ รูปขันธ์ (รูป) และนามขันธ์ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
(๓) โลก 3 คือ เวทนา 3 (สุข = สุข, ทุกข์ = ทุกข์, อทุกขมสุข = ไม่ทุกข์ไม่สุข)
(๔) โลก 4 คือ อาหาร 4 (กวฬิงการาหาร = อาหารคือคำข้าว, ผัสสาหาร = อาหารคือผัสสะ, มโนสัญเจตนาหาร = อาหารคือมโนสัญเจตนา, วิญญาณาหาร = อาหารคือวิญญาณ)
(๕) โลก 5 คือ อุปาทานขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่สัตว์โลกยึดถือว่าเป็นของตน)
(๖) โลก 6 คือ อายตนะภายใน 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
(๗) โลก 7 คือ วิญญาณฐิติ 7 หมายถึงภูมิเป็นที่ตั้งของวิญญาณ มี 7 คือ –
1. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกันมีสัญญาต่างกัน เช่นพวกมนุษย์ พวกเทพบางหมู่ พวกวินิปาติกะ บางหมู่
2. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพผู้อยู่ในจำพวกพรหมผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน
3. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกเทพอาภัสสระ
4. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพสุภกิณหะ
5. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ
6. สัตว์เหล่าหนึ่งผู้เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ
7. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ
(๘) โลก 8 คือ โลกธรรม 8 (ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์)
(๙) โลก 9 คือ สัตตาวาส 9 หมายถึงภพเป็นที่อยู่ของสัตว์ มี 9 คือ –
1. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกันมีสัญญาต่างกัน เช่นพวกมนุษย์ พวกเทพบางหมู่ พวกวินิปาติกะ บางหมู่
2. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพผู้อยู่ในจำพวกพรหมผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน
3. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกเทพอาภัสสระ
4. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพสุภกิณหะ
5. สัตว์เหล่าหนึ่งไม่มีสัญญา ไม่มีการเสวยเวทนา เช่นพวกเทพผู้เป็นอสัญญีสัตว์
6. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ
7. สัตว์เหล่าหนึ่งผู้เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ
8. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ
9. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ
(๑๐) โลก 10 คือ อายตนะ 10 (อายตนะภายใน 5 คู่กับภายนอก 5 คือ ตา+รูป, หู+เสียง, จมูก+กลิ่น, ลิ้น+รส, กาย+โผฏฐัพพะ)
(๑๑) โลก 12 คือ อายตนะ 12 (อายตนะภายใน 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ + อายตนะภายนอก 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์)
(๑๒) โลก 18 คือ ธาตุ 18 ได้แก่ –
1. จักขุธาตุ = ธาตุคือจักขุปสาท
2. รูปธาตุ = ธาตุคือรูปารมณ์
3. จักขุวิญญาณธาตุ = ธาตุคือจักขุวิญญาณ
4. โสตธาตุ = ธาตุคือโสตปสาท
5. สัททธาตุ = ธาตุคือสัททารมณ์
6. โสตวิญญาณธาตุ = ธาตุคือโสตวิญญาณ
7. ฆานธาตุ = ธาตุคือฆานปสาท
8. คันธธาตุ = ธาตุคือคันธารมณ์
9. ฆานวิญญาณธาตุ = ธาตุคือฆานวิญญาณ
10. ชิวหาธาตุ = ธาตุคือชิวหาปสาท
11. รสธาตุ = ธาตุคือรสารมณ์
12. ชิวหาวิญญาณธาตุ = ธาตุคือชิวหาวิญญาณ
13. กายธาตุ = ธาตุคือกายปสาท
14. โผฏฐัพพธาตุ = ธาตุคือโผฏฐัพพารมณ์
15. กายวิญญาณธาตุ = ธาตุคือกายวิญญาณ
16. มโนธาตุ = ธาตุคือมโน
17. ธรรมธาตุ = ธาตุคือธรรมารมณ์
18. มโนวิญญาณธาตุ = ธาตุคือมโนวิญญาณ
“โลก” เหล่านี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้แจ่มแจ้งโดยประการทั้งปวง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รู้ทุกเรื่อง ยอดฉลาด
: ไม่รู้จักตัวเอง ยอดโง่
#บาลีวันละคำ (3,764)
02-10-65
…………………………….
…………………………….