บาลีวันละคำ

ลงโบสถ์ (บาลีวันละคำ 2,257)

ลงโบสถ์

โปรดทราบว่าเป็นกิจสำคัญ

อ่านว่า ลง-โบด

ประกอบด้วยคำว่า ลง + โบสถ์

(๑) “ลง” เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แจกแจงความหมายไว้ดังนี้ –

(ก) เป็นคำกริยา หมายถึง –

(1) ไปสู่เบื้องตํ่าหรือไปสู่เบื้องที่ถือว่าตรงข้ามกับขึ้น เช่น นํ้าลง เครื่องบินลง, ไปสู่พื้นดินและพื้นอื่น ๆ เช่น ลงดิน ลงบันได ลงเรือ

(2) เอาเครื่องมือจับสัตว์นํ้าวางขึง หรือปัก เพื่อจับสัตว์นํ้า เช่น ลงข่าย ลงลอบ ลงอวน ลงเบ็ด

(3) จด เช่น ลงบัญชี

(4) ทำพิธีจารึกมนตร์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ลงเลขลงยันต์ ลงนะหน้าทอง ลงกระหม่อม

(5) ยอม เช่น ผู้น้อยต้องลงผู้ใหญ่

(6) ตีพิมพ์ออกเผยแพร่ เช่น เอาข่าวไปให้หนังสือพิมพ์ลง ลงแจ้งความ

(7) ตกลงปลงใจแล้วก็ปักใจถือเอาเป็นแน่ เช่น ลงได้ทำเป็นไม่ทิ้ง ลงสู้แล้วไม่ถอย

(8) ปลูก เช่น ลงมะพร้าว ลงลิ้นจี่

(9) ลด เช่น ราคาทองลง ค่าเงินดอลลาร์ลง

(10) ตก เช่น นํ้าค้างลง ฝนลง หมอกลง

(11) เฆี่ยน เช่น ลงไม้ เอาหวายลงหลัง

(12) ท้องเดิน เช่น ทั้งลงทั้งราก.

(ข) เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง –

(1) อาการที่ไปสู่เบื้องตํ่า เช่น ไหลลง เลื่อนลง ถอยลง

(2) มากกว่าเดิม เช่น เลวลง ผอมลง ถูกลง สั้นลง.

ดูเพิ่มเติม : “ลงศาลา” บาลีวันละคำ (2,256) 16-8-61

(๒) “โบสถ์

ตัดมาจากคำว่า “อุโบสถ” บาลีเป็น “อุโปสถ” อ่านว่า อุ-โป-สะ-ถะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + วสฺ (ธาตุ = อยู่) + อถ ปัจจัย, แปลง อะ ที่ (อุ)- กับ -(สฺ) เป็น โอ (อุป + วสฺ > อุโปส)

: อุป + วสฺ = อุปวสฺ > อุโปส + อถ = อุโปสถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมเป็นที่เข้าจำ”, “กาลเป็นที่เข้าจำ” (คือเข้าไปอยู่โดยการถือศีลหรืออดอาหาร) (2) “กาลเป็นที่เข้าถึงการอดอาหารหรือเข้าถึงศีลเป็นต้นแล้วอยู่

อุโปสถ” ในภาษาบาลีมีความหมาย 4 อย่าง :-

(1) การสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน = อุโบสถกรรม (biweekly recitation of the Vinaya rules by a chapter of Buddhist monks; the days for special meetings of the order, and for recitation of the Pāṭimokkha)

(2) การอยู่จำรักษาศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา = อุโบสถศีล (observance; the observance of the Eight Precepts; the Eight Precepts observed by lay devotees on Uposatha days)

(3) วันสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ และวันรักษาศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา = วันอุโบสถ (Uposatha days)

(วันอุโบสถของพระสงฆ์ คือ ขึ้น 15 ค่ำ, แรม 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำเมื่อเดือนขาด, วันอุโบสถของอุบาสกอุบาสิกาเพิ่มอีกสองวัน คือ ขึ้นและแรม 8 ค่ำ)

(4) สถานที่สงฆ์ทำสังฆกรรม เรียกเต็มศัพท์ว่า “อุโปสถาคาร” หรือ “อุโปสถัคคะ” = โรงอุโบสถ คือที่เราเรียกว่า “โบสถ์” (the Uposatha hall; consecrated assembly hall)

ในที่นี้ “อุโปสถ” มีความหมายตามข้อ (4) และมีนัยเกี่ยวข้องกับ “การสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน” ตามข้อ (1) และ “วันสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์” ตามข้อ (3)

อุโปสถ” ใช้ในภาษาไทยว่า “อุโบสถ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุโบสถ ๑ : (คำนาม) เรียกสถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมกันทําสังฆกรรมเช่นสวดพระปาติโมกข์ อุปสมบท ว่า โรงอุโบสถ หรือ อุโบสถ, เรียกย่อว่า โบสถ์; (ภาษาปาก) เรียกวันพระว่า วันอุโบสถ; เรียกการแสดงพระปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุก ๆ กึ่งเดือน คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑๕ ค่ำ หรือวันแรม ๑๔ ค่ำ ในเดือนขาด ว่า การทําอุโบสถ; เรียกการรักษาศีล ๘ ของคฤหัสถ์ว่า การรักษาอุโบสถ. (ป. อุโปสถ; ส. อุโปษธ, อุปวสถ).”

ลง + โบสถ์ = ลงโบสถ์ เป็นคำประสมแบบไทย

ลงโบสถ์” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 โดยบอกไว้ดังนี้ –

ลงโบสถ์ : (คำกริยา) ลงอุโบสถ; โดยปริยายหมายความว่า เข้ากันได้ (มักใช้ในประโยคปฏิเสธ) เช่น นาย ก กับ นาย ข ไม่ลงโบสถ์กัน.”

ตามไปดูที่คำว่า “ลงอุโบสถ” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

ลงอุโบสถ : (คำกริยา) เข้าร่วมสังฆกรรมฟังพระปาติโมกข์ในวันขึ้น ๑๕ คํ่า วันแรม ๑๔ หรือ แรม ๑๕ คํ่าของเดือน (ใช้แก่พระสงฆ์), ลงโบสถ์ ก็ว่า.”

อภิปราย :

ตามพจนานุกรมฯ “ลงโบสถ์” หรือ “ลงอุโบสถ” หมายเอาเฉพาะการ “เข้าร่วมสังฆกรรมฟังพระปาติโมกข์

แต่ที่พูดกันทั่วไป “ลงโบสถ์” ยังหมายถึงพระสงฆ์ไปรวมกันในโบสถ์เพื่อทำกิจอย่างอื่นอีกด้วย เช่น

– พระสงฆ์ไปรวมกันทำพิธีอุปสมบทในโบสถ์ ก็เรียกว่า “ลงโบสถ์

– บางวัดที่ใช้โบสถ์เป็นสถานที่ทำวัตรสวดมนต์ประจำวัน เมื่อพระเณรลงทำวัตรสวดมนต์ ก็เรียกว่า “ลงโบสถ์

ลงโบสถ์” ไม่ว่าจะมีความหมายอย่างไร ย่อมมีนัยแสดงถึงความเอาใจใส่ต่อหน้าที่และความสามัคคีของผู้ที่อยู่ร่วมกัน เมื่อเห็นคนที่อยู่ร่วมกันไม่ถูกอัธยาศัยกันก็เอาการ “ลงโบสถ์” ของพระไปพูดเปรียบเทียบว่า “ไม่ลงโบสถ์กัน” แสดงให้เห็นว่าการ “ลงโบสถ์” เป็นกิจสำคัญของสงฆ์ที่ชาวบ้านรู้จักตระหนักดีเป็นอย่างยิ่ง

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ขอเผดียงสงฆ์ที่ไม่ลงโบสถ์โปรดทราบ!

: โยมไม่ได้สร้างโบสถ์ไว้ให้นกพิราบทำรัง

#บาลีวันละคำ (2,257)

17-8-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย