บาลีวันละคำ

อนุตตโร (ชุดพุทธคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,765)

อนุตตโร (ชุดพุทธคุณ 9)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระพุทธคุณว่าดังนี้ –

…………..

อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู

อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ

สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ.

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 1

…………..

พระพุทธคุณ 9 ท่านนับบทว่า “อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ” เป็นบทที่ 6

บาลีวันละคำขอแยกเป็น “อนุตฺตโร” คำหนึ่ง “ปุริสทมฺมสารถิ” อีกคำหนึ่ง

คำว่า “อนุตฺตโร” ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “อะนุตตะโร” ในที่นี้เขียนแบบคำไทยไม่ตัดตัวสะกดเป็น “อนุตตโร” อ่านว่า อะ-นุด-ตะ-โร

“อนุตตโร” รูปคำเดิมเป็น “อนุตฺตร” อ่านว่า อะ-นุด-ตะ-ระ รากศัพท์มาจาก น + อุตฺตร

(๑) “น”

บาลีอ่านว่า นะ เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)

“น” เมื่อไปประสมกับคำอื่น มีกฎดังนี้ –

(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ)

(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)

ในที่นี้ “อุตฺตร” ขึ้นต้นด้วยสระ (คือ อุ-) จึงแปลง น เป็น อน

(๒) “อุตฺตร”

อ่านว่า อุด-ตะ-ระ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ตรฺ (ธาตุ = ข้าม) + อ (อะ) ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ

: อุ + ตฺ + ตรฺ = อุตฺตรฺ + อ = อุตฺตร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องข้ามขึ้นไป”

“อุตฺตร” ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –

(1) สูงกว่า, ดีกว่า, ยอดกว่า, เหนือกว่า (higher, high, superior, upper)

(2) ทางทิศเหนือ (northern)

(3) ภายหลัง, หลังจาก, ถัดออกไป (subsequent, following, second)

(4) เกินกว่า, เหนือไปกว่า (over, beyond)

น > อน + อุตฺตร = อนุตฺตร แปลตามศัพท์ว่า “ไม่มีอะไรเหนือกว่า” (nothing higher) หมายถึง ยอดเยี่ยม, หาที่เปรียบมิได้, ไม่มีสอง, ไม่มีอะไรเกินกว่า, วิเศษ, เลิศ (without a superior, incomparable, second to none, unsurpassed, excellent, preeminent)

บาลี “อนุตฺตร” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “อนุตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อนุตร- : (คำวิเศษณ์) ไม่มีสิ่งใดสูงกว่า, ดีเลิศ, ยิ่ง, วิเศษ เช่น อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ. (ป., ส. อนุตฺตร).”

ในที่นี้ “อนุตฺตร” เป็นคำขยาย ( = วิเสสนะ) ของ “ภควา” (พระผู้มีพระภาค, ที่คำขึ้นต้น อิติปิ โส ภควา) คำขยายหรือวิเสสนะต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำนามที่ตนขยาย

“ภควา” เป็นคำนาม แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์

“อนุตฺตร” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อนุตฺตโร” (อะ-นุด-ตะ-โร) เขียนแบบไทยเป็น “อนุตตโร” (ไม่มีจุดใต้ ต ตัวหน้า)

ขยายความ :

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 265 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่ได้พระคุณนามว่า “อนุตตโร” ไว้ ดังนี้ –

…………..

อตฺตนา ปน คุเณหิ วิสิฏฺฐตรสฺส กสฺสจิ อภาวโต นตฺถิ เอตสฺส อุตฺตโรติ อนุตฺตโร ฯ

ก็แลบุคคลผู้ยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นหามีไม่ เพราะไม่มีใครสักคนที่วิเศษกว่าพระองค์โดยคุณทั้งหลาย เหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า อนุตฺตโร

ตถาเหส สีลคุเณนาปิ สพฺพํ โลกมภิภวติ สมาธิปญฺญาวิมุตฺติวิมุตฺติญาณทสฺสนคุเณนาปิ

จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นย่อมทรงครอบงำเสียซึ่งโลกทั้งปวงทั้งด้วยสีลคุณ ด้วยสมาธิคุณ ปัญญาคุณ วิมุตติคุณ และวิมุตติญาณทัสสนคุณ

อสโม พระองค์เป็นผู้ไม่มีผู้เสมอ

อสมสโม ทรงเสมอกับท่านที่ไม่มีผู้เสมอ

อปฺปฏิโม ไม่มีผู้เปรียบ

อปฺปฏิภาโค ไม่มีผู้คล้าย

อปฺปฏิปุคฺคโล ไม่มีผู้ทัดเทียม

สีลคุเณนาปิ ฯเปฯ วิมุตฺติญาณทสฺสนคุเณนาปิ ฯ

ทั้งด้วยสีลคุณ ฯลฯ วิมุตติคุณ และวิมุตติญาณทัสสนคุณ

ยถาห ดังที่ตรัสไว้ว่า –

น โข ปนาหํ ภิกฺขเว สมนุปสฺสามิ สเทวเก โลเก สมารเก สพฺรหฺมเก ฯเปฯ สเทวมนุสฺสาย ปชาย อตฺตนา สีลสมฺปนฺนตรนฺติ ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในโลกนี้กับทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ฯลฯ ในหมู่ประชาทั้งที่เป็นเทวดาและมนุษย์ เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลยิ่งกว่าตถาคตเลย ดังนี้เป็นต้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จงอยู่เหนือหัวใจคน

: อย่าอยู่เหนือหัวคน

#บาลีวันละคำ (3,765)

03-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *