ปุริสทัมมสารถิ (ชุดพุทธคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,766)
ปุริสทัมมสารถิ (ชุดพุทธคุณ 9)
…………..
ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ
คำบาลีแสดงพระพุทธคุณว่าดังนี้ –
…………..
อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู
อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ
สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ.
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 1
…………..
พระพุทธคุณ 9 ท่านนับบทว่า “อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ” เป็นบทที่ 6
บาลีวันละคำขอแยกเป็น “อนุตฺตโร” คำหนึ่ง “ปุริสทมฺมสารถิ” อีกคำหนึ่ง
คำว่า “ปุริสทมฺมสารถิ” ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “ปุริสะทัมมะสาระถิ” ในที่นี้เขียนแบบคำไทยเป็น “ปุริสทัมมสารถิ” อ่านว่า ปุ-ริ-สะ-ทำ-มะ-สา-ระ-ถิ แยกศัพท์เป็น ปุริส + ทัมม + สารถิ
(๑) “ปุริส”
อ่านว่า ปุ-ริ-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปุรฺ (ธาตุ = เต็ม) + อิส ปัจจัย
: ปุร + อิส = ปุริส แปลว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม”
(2) ปุ ( = นรก) + ริสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน, กำจัด)
: ปุ + ริส = ปุริส แปลว่า “ผู้เบียดเบียนนรก” คือทำให้นรกว่าง เพราะเกิดมาทำให้บิดามารดาไม่ต้องตกนรกขุมที่ชื่อ “ปุตตะ”
(3) ปุริ ( = เบื้องบน) + สี (ธาตุ = อยู่)
: ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้อยู่ในเบื้องสูง” หมายถึงเป็นหัวหน้า
(4) ปุร ( = เบื้องหน้า) + สี (ธาตุ = เป็นไป)
: ปุร + อิ = ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้เป็นไปในเบื้องหน้า” หมายถึงผู้นำหน้า
(5) ป ( = ปกติ) + อุร ( = อก) + สี (ธาตุ = นอน)
: ป + อุร = ปุร + อิ = ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้นอน บน อก โดยปกติ”
“ปุริส” สันสกฤตเป็น “ปุรุษ” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บุรุษ”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บุรุษ, บุรุษ- : (คำนาม) ผู้ชาย, เพศชาย, คู่กับ สตรี, ใช้ในลักษณะที่สุภาพ; (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) คำสรรพนามบอกผู้พูด เรียกว่า สรรพนามบุรุษที่ ๑, คำสรรพนามบอกผู้ที่พูดด้วย เรียกว่า สรรพนามบุรุษที่ ๒, คำสรรพนามบอกผู้ที่พูดถึง เรียกว่า สรรพนามบุรุษที่ ๓. (ส. ปุรุษ; ป. ปุริส).”
พึงทราบว่า “ปุริส” ในภาษาบาลีไม่ได้เล็งที่ “ผู้ชาย” เสมอไป ในที่หลายแห่งหมายถึง “คน” หรือมนุษย์ทั่วไป ไม่แยกว่าชายหรือหญิง เช่นเดียวกับคำว่า man ในภาษาอังกฤษ แปลว่า “ผู้ชาย” ก็ได้ แปลว่า “คน” หรือมนุษย์ทั่วไปก็ได้
(๒) “ทัมม”
เขียนแบบบาลีเป็น “ทมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ทมฺ (ธาตุ = ฝึก, อบรม, ข่ม) + ม ปัจจัย
: ทมฺ + ม = ทมฺม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ควรแก่การฝึก” “ผู้เหมาะที่จะฝึก”
“ทมฺม” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง คนหรือสัตว์ที่พอจะนำมาอบรมสั่งสอนฝึกหัดได้
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทมฺม” ว่า to be tamed or restrained (จะต้องฝึกหรือรั้งไว้ได้)
(๓) “สารถิ”
บาลีอ่านว่า สา-ระ-ถิ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป; ระลึก ) + ถิ ปัจจัย, ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ ส-(รฺ) เป็น อา (สรฺ > สาร)
: สรฺ + ถิ = สรฺถิ > สารถิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ไปพร้อมกับรถ” (2) “ผู้ยังรถให้แล่นไป” (3) “ผู้ยังม้าให้ระลึก” (คือคอยกระตุ้นเตือนม้า)
โปรดสังเกตว่า บาลีเป็น “สารถิ” -ถิ เสียงสั้น-สระ อิ ภาษาไทยใช้ว่า “สารถี” -ถี เสียงยาว-สระ อี
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “สารถิ” ว่า สารถี, คนขับรถ, คนขี่ม้า
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สารถิ” ว่า charioteer, coachman (คนขับรถ) ซึ่งเป็นคำแปลที่ตรงตามรากศัพท์
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล chariot ว่า ราชรถ, รถสองล้อที่ชาวโรมันใช้แข่ง, รถม้าสี่ล้อ, รถม้าชนิดขับเอง
คำว่า coach แปลว่า (1) รถม้าสี่ล้อ, รถพ่วงในขบวนรถไฟ, รถม้าที่เดินประจำทางในระหว่างเมืองในสมัยก่อน (2) ครูพิเศษ, ครูฝึกหัดการกีฬา, สั่งสอน, ฝึกหัด
ความหมาย (2) นี้ก็คือที่เรารู้จักกันว่า “โคช”
โปรดสังเกตว่า คำแปลเหล่านี้เกี่ยวข้องกับ “ม้า” และ “สั่งสอน, ฝึกหัด” ซึ่งส่องความว่า “สารถี” มีกำเนิดมาจากคนฝึกม้า เมื่อเอาม้าไปเทียมรถ จึงเรียกคนขับรถว่า “สารถี” ไปด้วย
คำฝรั่งอีกคำหนึ่งที่คนไทยนิยมเรียกคนขับรถคือ “โชเฟอร์” – chauffeur
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล chauffeur ว่า คนรับจ้างขับรถยนต์ส่วนตัว, ขับรถ, ขับรถรับส่ง
โปรดสังเกตด้วยว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไม่ได้แปล “สารถิ” ว่า chauffeur หรือ driver
หลักฐานที่ยืนยันว่า “สารถี” หมายถึงผู้สั่งสอน ผู้ฝึกหัด ก็คือพระพุทธคุณบทที่ว่า “ปุริสทมฺมสารถิ” ที่กำลังแสดงความหมายอยู่นี้
การประสมคำ :
๑ ปุริส + ทมฺม = ปุริสทมฺม (ปุ-ริ-สะ-ทำ-มะ) แปลว่า “คนที่สมควรฝึก” “ผู้เหมาะที่จะฝึก” คือคนที่ยังพอจะแนะนำสั่งสอนให้รู้จักผิดชอบชั่วดีและพัฒนาตนให้ก้าวหน้าต่อไปได้ (ตรงกันข้ามกับคนดื้อด้าน ใครสอนก็ไม่ฟัง)
๒ ปุริสทมฺม + สารถิ = ปุริสทมฺมสารถิ (ปุ-ริ-สะ-ทำ-มะ-สา-ระ-ถิ) แปลว่า “ผู้ฝึกคนที่สมควรฝึก” “ผู้ฝึกคนที่พึงฝึกได้” (the trainer of the human steer)
“ปุริสทมฺมสารถิ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปแล้วคงได้รูปเป็น “ปุริสทมฺมสารถิ” (ปุ-ริ-สะ-ทำ-มะ-สา-ระ-ถิ) เท่ารูปเดิม เขียนแบบไทยเป็น “ปุริสทัมมสารถิ”
“ปุริสทัมมสารถิ” เป็นพระคุณนามบทที่ 6 ของพระพุทธเจ้า มีคำขยายว่า “อนุตฺตโร” ควบกันเป็น “อนุตฺตโร ปุริสทัมมสารถิ”
ดูเพิ่มเติม: “อนุตฺตโร” บาลีวันละคำ (3,765) (ชุดพุทธคุณ 9)
ขยายความ :
คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 265-266 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่ได้พระคุณนามว่า “ปุริสทัมมสารถิ” ไว้หลายนัย ยกมาพอเป็นที่ระลึกถึงดังนี้ –
…………..
ปุริสทมฺเม สาเรตีติ ปุริสทมฺมสารถิ ทเมติ วิเนตีติ วุตฺตํ โหติ ฯ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปุริสทมฺมสารถิ เพราะทรงขับ คือทรงฝึก ทรงแนะนำซึ่งคนทั้งหลายที่พึงฝึกได้
ตตฺถ ปุริสทมฺมาติ อทนฺตา ทเมตุํ ยุตฺตา ติรจฺฉานปุริสาปิ มนุสฺสปุริสาปิ อมนุสฺสปุริสาปิ ฯ
“บุรุษ” ทั้งหลายที่ยังมิได้ฝึก แต่ว่าควรจะฝึกได้ เป็นดิรัจฉานบุรุษก็ดี เป็นมนุษยบุรุษก็ดี เป็นอมนุษยบุรุษก็ดี ชื่อว่า ปุริสทมฺมา – บุรุษที่พึงฝึกได้
ตถาหิ ภควตา ติรจฺฉานปุริสาปิ … ทมิตา นิพฺพิสา กตา สรเณสุ จ สีเลสุ จ ปติฏฺฐาปิตา
จริงอย่างนั้น ทั้งดิรัจฉานบุรุษทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงฝึกได้ คือทรงทำให้หมดพิษหมดร้ายให้ตั้งอยู่ในสรณะและศีลได้
มนุสฺสปุริสาปิ … อมนุสฺสปุริสาปิ … ทมิตา วินีตา วิจิตฺเรหิ วินยุปาเยหิ ฯ
ทั้งมนุษยบุรุษและอมนุษยบุรุษทั้งหลาย พระองค์ก็ทรงฝึกได้ คือทรงแนะนำได้ด้วยอุบายวิธีหลากๆ
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ” สรุปความไว้ดังนี้ –
…………..
อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ : (พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น) ทรงเป็นสารถี ฝึกคนที่ควรฝึกได้ ที่ยอดเยี่ยม โดยทรงรู้จักใช้อุบายให้เหมาะแก่บุคคล สอนเขาได้โดยไม่ต้องใช้อาชญา และทำให้เขาบรรลุผลที่พึงได้เต็มตามกำลังความสามารถของเขา (ข้อ ๖ ในพุทธคุณ ๙)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนฝึกตน
: คือยอดของคนฝึกคน
#บาลีวันละคำ (3,766)
04-10-65
…………………………….
…………………………….