ทักษิณานุประทาน (บาลีวันละคำ 3,799)
ทักษิณานุประทาน
เมื่อก่อนเป็นคำชาวบ้าน เดี๋ยวนี้เป็นราชาศัพท์
แยกศัพท์เป็น ทักษิณา + อนุประทาน
(๑) “ทักษิณา”
บาลีเป็น “ทักขิณา” อ่นว่า ทัก-ขิ-นา รากศัพท์มาจาก ทกฺขฺ (ธาตุ = เจริญ) + อิณ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ทกฺขฺ + อิณ = ทกฺขิณ + อา = ทกฺขิณา แปลตามศัพท์ว่า (1) “ทานที่คนเชื่อผลของกรรมแล้วให้” (2) “เหตุเป็นเครื่องเจริญด้วยสมบัติตามที่ปรารถนา”
“ทกฺขิณา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) รางวัล, ของขวัญ, ค่าธรรมเนียม, ของที่ควรให้, สิ่งบริจาค (a gift, a fee, a donation)
(2) ทานที่ให้แก่ผู้ศักดิ์สิทธิ์ (a donation given to a holy person)
(3) สิ่งที่ให้เพื่อชดใช้หรือล้างบาป หรือเพื่ออุทิศให้ผู้อื่น (an intercessional, expiatory offering)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทักขิณา : (คำนาม) ทักษิณา, ของทำบุญ; ขวา, ทิศใต้. (ป.; ส. ทกฺษิณา).”
ในที่นี้ “ทกฺขิณา” ใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทักษิณา”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“ทักษิณา : ทานเพื่อผลอันเจริญ, ของทำบุญ.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทักษิณา : (คำนาม) ของทำบุญ; ขวา, ทิศใต้. (ส.; ป. ทกฺขิณา).”
(๒) “อนุประทาน”
อ่านว่า อะ-นุ-ปฺระ-ทาน ประกอบด้วย อนุ + ประทาน
(ก) “อนุ” (อะ-นุ) เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –
(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)
(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)
นักเรียนบาลีท่องกันมาว่า “อนุ = น้อย, ภายหลัง, ตาม” และที่เรียนรู้กันต่อมา คือ “เนืองๆ” หรือ “บ่อยๆ”
(ข) “ประทาน” บาลีเป็น “ปทาน” อ่านว่า ปะ-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ป + ทา = ปทา + ยุ > อน = ปทาน แปลตามศัพท์ว่า “การมอบให้” หมายถึง การให้, การมอบให้ (giving, bestowing), บางกรณีหมายถึง การบรรลุ, ลักษณะ, คุณสมบัติ (attainment, characteristic, attribute)
บาลี “ปทาน” สันสกฤตเป็น “ปฺรทาน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ปฺรทาน : (คำนาม) ประทาน, ทาน, ของให้, การให้; a gift or donation, giving.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“ประทาน : (คำราชาศัพท์) (คำกริยา) ให้ (ใช้แก่เจ้านาย). (ส.).”
อนุ + ปทาน = อนุปทาน
“อนุปทาน” สะกดเป็น “อนุปฺปทาน” (ซ้อน ปฺ ระหว่าง อนุ- กับ -ปทาน) ก็มี
“อนุปทาน” (อนุปฺปทาน) แปลตามศัพท์ว่า “การตามให้” หรือ “การเพิ่มให้” หมายถึง การตามเพิ่มให้, การจัดให้, การมอบให้, การให้- (giving, administering, furnishing, the giving of [– ˚])
ทกฺขิณา + อนุปทาน = ทกฺขิณานุปทาน (ทัก-ขิ-ณา-นุ-ปะ-ทา-นะ) (ทกฺขิณานุปฺปทาน, ทัก-ขิ-ณา-นุบ-ปะ-ทา-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “การเพิ่มให้ซึ่งผลอันเจริญ”
“ทกฺขิณานุปทาน” (ทกฺขิณานุปฺปทาน) ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทักษิณานุปทาน” และ “ทักษิณานุประทาน”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“ทักษิณานุประทาน : ทำบุญอุทิศผลให้แก่ผู้ตาย.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ทักษิณานุประทาน : (คำนาม) การทําบุญอุทิศส่วนกุศลเพิ่มให้แก่ผู้ตาย. (ส.).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำเพิ่มขึ้นเป็น “ทักษิณานุปทาน” อีกคำหนึ่ง และปรับแก้คำนิยามเป็นดังนี้ –
“ทักษิณานุปทาน, ทักษิณานุประทาน : (คำราชาศัพท์) (คำนาม) การที่พระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงพระราชอุทิศถวายเจ้านายที่มีศักดิ์สูงซึ่งเสด็จล่วงลับไปแล้ว. (ส.).”
อภิปราย :
ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเข้าใจดังต่อไปนี้ –
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คำว่า “ทักษิณานุประทาน” ใช้ได้กับคนทั่วไป
แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้ระบุหน้าที่ของคำว่า “(ราชา)” ซึ่งหมายถึงเป็นคำราชาศัพท์ ก็เท่ากับว่า บัดนี้คำว่า “ทักษิณานุประทาน” เป็นคำราชาศัพท์ไปแล้ว ใช้กับคนทั่วไปไม่ได้
ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่เห็นหลักฐานที่เป็นทางการว่า คำว่า “ทักษิณานุปทาน, ทักษิณานุประทาน” นี้ ใช้กับคนธรรมดาได้หรือไม่ และใช้ในกรณีเช่นไร ท่านผู้ใดเคยเห็นคำอธิบายชี้แจงไว้ที่ไหนอย่างไร ถ้าจะกรุณานำมาบูรณาการเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
แถมคำถาม :
(1) คำนี้เป็นราชาศัพท์ (ตามพจนานุกรมฯ) ถ้าเอาไปใช้กับคนทั่วไปตามความเข้าใจที่มีมาแต่เดิม คือใช้เช่นนั้นโดยสุจริตเพราะคิดว่าใช้ได้ จะผิดหรือไม่ และจะว่าอย่างไรกัน
(2) ใครหรือหน่วยงานไหนจะทำหน้าที่ประกาศข่าวป่าวร้องให้คนทั่วไปได้รับรู้โดยทั่วกันถึงสถานะของคำคำนี้ และผู้นั้นหรือหน่วยงานนั้นรับรู้หรือเปล่าว่าตนมีหน้าที่จะต้องประกาศข่าวป่าวร้องให้คนทั่วไปได้รับรู้โดยทั่วกัน
และถ้าทุกคนทุกฝ่ายปล่อยเฉยเลยผ่าน โดยอ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้า จะทำอย่างไรกัน
ขยายความ :
“ทักษิณานุประทาน” แปลตามศัพท์ว่า “การเพิ่มให้ซึ่งผลอันเจริญ” ที่เข้าใจกันว่า “ทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญให้ผู้ตาย” นิยมทำเมื่อผู้ตายล่วงลับไปแล้วครบ 7 วัน 15 วัน 50 วัน 100 วัน หรือครบรอบวันตายในรอบปี โดยเชื่อว่า ด้วยอานิสงส์แห่งบุญที่อุทิศให้ ถ้าผู้ตายอยู่ในภพภูมิที่มีทุกข์ ก็จะพ้นจากทุกข์ ถ้าอยู่ในภพภูมิที่มีสุข ก็จะได้รับสุขยิ่งๆ ขึ้น
มีคำที่พระสงฆ์อนุโมทนาในการทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว ผู้ที่ไปงานศพย่อมจะได้ฟังอยู่เสมอ ขอนำมาเสนอเพื่อเจริญปัญญาและปีติ ดังนี้
…………..
อยญฺจ โข ทกฺขิณา ทินฺนา
สงฺฆมฺหิ สุปติฏฺฐิตา
ทีฆรตฺตํ หิตายสฺส
ฐานโส อุปกปฺปติ.
(อะยัญจะ โข ทักขิณา ทินนา
สังฆัมหิ สุปะติฏฐิตา
ทีฆะรัตตัง หิตายัสสะ
ฐานะโส อุปะกัปปะติ)
ก็ทักษิณานี้แลอันท่านให้แล้ว
ประดิษฐานไว้ดีแล้วในสงฆ์
ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ละโลกนี้ไปแล้วนั้น
ตลอดกาลนาน ตามฐานะ
โส ญาติธมฺโม จ อยํ นิทสฺสิโต
เปตาน ปูชา จ กตา อุฬารา
พลญฺจ ภิกฺขูนมนุปฺปทินฺนํ
ตุมฺเหหิ ปุญฺญํ ปสุตํ อนปฺปกนฺติ.
(โส ญาติธัมโมจะ อะยัง นิทัสสิโต
เปตานะ ปูชา จะ กะตา อุฬารา
พะลัญจะ ภิกขูนะมะนุปปะทินนัง
ตุมเหหิ ปุญญัง ปะสุตัง อะนัปปะกันติ)
นั่นคือการทำหน้าที่ของญาติ ท่านได้แสดงให้ปรากฏแล้ว
การบูชาอันมีผลมากท่านก็ได้ทำแล้วแก่ญาติผู้ล่วงลับไป
ทั้งชื่อว่าได้เพิ่มกำลังให้แก่ภิกษุทั้งหลายอีกโสดหนึ่งด้วย
เป็นอันว่าท่านได้บำเพ็ญบุญแล้วไม่น้อยเลยฉะนี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำบุญด้วยตนเองในชาตินี้
: ดีกว่ารอให้ญาติทำส่งไปให้ในชาติหน้า
#บาลีวันละคำ (3,799)
06-11-65
…………………………….
……………………………