บาลีวันละคำ

เจตนารมณ์ ทำไมไม่เป็น “เจตนารมย์ (บาลีวันละคำ 2,370)

เจตนารมณ์ ทำไมไม่เป็น “เจตนารมย์”

เวลาเขียนคำว่า “เจตนารมณ์” มีบางคนยังพอใจที่จะสะกดเป็น “เจตนารมย์

“เจตนารมย์” -รมย์ การันต์ เป็นคำที่เขียนผิด

เจตนารมณ์” -รมณ์ การันต์ เป็นคำที่ถูกต้อง

เจตนารมณ์” อ่านว่า เจด-ตะ-นา-รม ประกอบด้วยคำว่า เจตนา + อารมณ์

(๑) “เจตนา

บาลีอ่านว่า เจ-ตะ-นา รากศัพท์มาจาก จิตฺ (ธาตุ = คิด, รู้, จงใจ) + ยุ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ จิ-(ต) เป็น เอ, แปลง ยุ เป็น อน, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: จิตฺ > เจต + ยุ > อน = เจตน + อา = เจตนา แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่คิด” หมายถึง ความตั้งใจ, ความคิด, ความจงใจ, ความประสงค์, ความปรารถนา (state of mind in action, thinking as active thought, intention, purpose, will)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เจตนา : (คำกริยา) ตั้งใจ, จงใจ, มุ่งหมาย. (คำนาม) ความตั้งใจ, ความจงใจ, ความมุ่งหมาย.(ป., ส.).”

(๒) “อารมณ์

บาลีเป็น “อารมฺมณ” (อา-รำ-มะ-นะ) รากศัพท์มาจาก อา (ทั่ว, ยิ่ง) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ยุ ปัจจัย, ซ้อน มฺ, แปลง ยุ เป็น อน, แปลง (ที่ อน) เป็น

: อา + รมฺ = อารม + = อารมฺม + ยุ > อน = อารมฺมน > อารมฺมณ แปลตามศัพท์ว่า “อันเป็นที่มายินดี (แห่งจิตและเจตสิก)”

คำว่า “มายินดี” เป็นภาษาธรรม หมายถึงสิ่งที่จิตเข้าไปจับหรือรับรู้ คือเมื่อจิตจับอยู่กับสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นที่ “มายินดี” ของจิต ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นที่น่ายินดี (ชอบ) ไม่น่ายินดี (ชัง) หรือเป็นกลางๆ (เฉย) ก็ตาม

อารมฺมณ” หมายถึง เครื่องยึดหน่วงของจิต, สิ่งที่จิตยึดหน่วง, สิ่งที่ถูกรู้หรือถูกรับรู้ คือที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหวที่กระทบกาย และเรื่องที่จิตคิดนึก (a basis for the working of the mind & intellect)

อารมฺมณ” ในภาษาไทยใช้ว่า “อารมณ์

เจตนา + อารมณ์ = เจตนารมณ์ แปลตามศัพท์ว่า “อารมณ์คือเจตนา” หรือ “อารมณ์แห่งเจตนา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เจตนารมณ์ : (คำนาม) ความมุ่งหมาย.”

ดูเพิ่มเติม:

เจตนารมณ์ [1]” บาลีวันละคำ (1,140) 9-7-58

เจตนารมณ์ [2]” บาลีวันละคำ (1,509) 22-7-59

ถ้าเป็น “เจตนารมย์” (-รมย์ การันต์) ต้องแยกศัพท์เป็น เจตนา + รมย์ หรือมิเช่นนั้นก็เป็น เจตนา + อารมย์

รมย์” เป็นรูปคำสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “รมฺย” บอกไว้ดังนี้

(สะกดตามต้นฉบับ)

รมฺย : (คำวิเศษณ์) ต้องอารมณ์, ประโมทิน, มีความประโมท; งาม; pleasing, delightful; handsome or beautiful.”

รมฺย” ใช้ในภาษาไทยว่า “รัมย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้สั้นๆ ว่า –

รัมย์ : (คำวิเศษณ์) รมย์. (ส.; ป. รมฺม).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “รัมย์” คือ “รมย์” แต่พจนานุกรมฯ ทั้งฉบับ พ.ศ.2542 และ พ.ศ.2554 ก็ไม่ได้เก็บคำว่า “รมย์” ไว้ ดังนั้น เราก็รู้แต่เพียงว่า “รัมย์” คือ “รมย์” แต่ไม่รู้ว่า “รมย์” ในภาษาไทยมีความหมายว่าอย่างไร

เป็นอันว่า “รมย์” ไม่มีในพจนานุกรมฯ คำว่า “อารมย์” ก็ไม่มีทั้งในบาลีและสันสกฤต และในภาษาไทย (“อารมย์” ที่เป็นชื่อคนอาจจะมีได้ เพราะเป็นการเขียนตามที่เขียนกันในสมัยหนึ่ง หรือตามเจตนาของผู้ตั้งชื่อ)

ดังนั้น “เจตนารมย์” จึงไม่มี

มีแต่ “เจตนารมณ์

เจตนารมย์” เป็นคำที่ไม่มีใช้ เป็นคำที่เขียนเพราะความเข้าใจผิดในสมัยหนึ่ง แต่ยังมีผู้เขียนเพราะเข้าใจผิดหรือเพราะเคยมือหลงเหลืออยู่บ้างในสมัยนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถวายเงินให้พระ เป็นเจตนารมณ์ที่ดี

: แต่การถวายผิดวิธีเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

#บาลีวันละคำ (2,370)

8-12-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *