บาลีวันละคำ

เทวมนุสสานัง (ชุดพุทธคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,768)

เทวมนุสสานัง (ชุดพุทธคุณ 9)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระพุทธคุณว่าดังนี้ –

…………..

อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู

อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ

สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ.

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 1

…………..

พระพุทธคุณ 9 ท่านนับบทว่า “สตฺถา เทวมนุสฺสานํ” เป็นบทที่ 7

บาลีวันละคำขอแยกเป็น “สตฺถา” คำหนึ่ง “เทวมนุสฺสานํ” อีกคำหนึ่ง

คำว่า “เทวมนุสฺสานํ” ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “เทวะมะนุสสานัง” ในที่นี้เขียนแบบคำไทยเป็น “เทวมนุสสานัง” อ่านว่า เท-วะ-มะ-นุด-สา-นัง

“เทวมนุสสานัง” เขียนแบบบาลีเป็น “เทวมนุสฺสานํ” อ่านว่า เท-วะ-มะ-นุด-สา-นัง แยกศัพท์เป็น เทว + มนุสฺสานํ

(๑) “เทว”

อ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)

: ทิวฺ + อ = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ”

ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา

แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –

(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)

(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)

(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)

ในที่นี้ “เทว” ใช้ในความหมายตามข้อ (2) คือเทวดาหรือเทพเจ้า

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

“เทว- ๑ : (คำแบบ) (คำนาม) เทวดา, มักใช้ประกอบหน้าศัพท์อื่น. (ป., ส.).”

(๒) “มนุสฺสานํ”

อ่านว่า มะ-นุด-สา-นัง รูปคำเดิมเป็น “มนุสฺส” อ่านว่า มะ-นุด-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มน (ใจ) + อุสฺส (สูง)

: มน + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีใจสูง”

(2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + อุสฺส ปัจจัย

: มน + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์”

(3) มนุ (มนู = มนุษย์คนแรก) + อุสฺส (แทนศัพท์ อปจฺจ = เหล่ากอ หรือ ปุตฺต = ลูก)

: มนุ + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหล่ากอของมนู” หรือ “ผู้เป็นลูกของมนู”

คำว่า “มนู” หรือนิยมเรียกว่า “พระมนู” แปลว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของสัตวโลก”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“มนู : (คำนาม) ชื่อพระผู้สร้างมนุษยชาติและปกครองโลก มี ๑๔ องค์ เรียงกันเป็นยุค ๆ ไป, ยุคหนึ่งเรียกว่า มนวันดร นานกว่า ๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี องค์แรก คือ พระสวายมภูวะ พระมนูองค์นี้ถือกันว่าเป็นผู้ทรงออกกฎหมายหรือธรรมศาสตร์ซึ่งยังมีอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้เรียกว่า มนุสัมหิตา หรือ มนุสมฺฤติ, เพราะฉะนั้น คํา มนู จึงหมายถึงกฎหมายก็ได้ เช่น มนูกิจ. (ส. มนุ).”

บาลี “มนุสฺส” สันสกฤตเป็น “มนุษฺย”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

“มนุษฺย : (คำนาม) มนุษย์, มนุษยชาติ; man, mankind.”

ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “มนุษย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“มนุษย-, มนุษย์ : (คำนาม) สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล, สัตว์ที่มีจิตใจสูง, คน. (ส.; ป. มนุสฺส).”

ความหมายของคำว่า “มนุสฺส – มนุษย์” ที่ยอมรับกันมากที่สุดและเป็นความหมายตามตัวอักษรด้วย คือ “ผู้มีใจสูง”

ในที่นี้เขียนตามรูปบาลีตรงตัวเป็น “มนุสฺส”

เทว + มนุสฺส = เทวมนุสฺส (เท-วะ-มะ-นุด-สะ) แปลว่า “เทวดาและมนุษย์”

“เทวมนุสฺส” แจกด้วยวิภัตตินามที่หก (ฉัฏฐีวิภัตติ) พหุวจนะ ปุงลิงค์ ลง นํ-วิภัตติ คง นํ ไว้ ทีฆะ อะ ที่ (มนุสฺ)-ส เป็น อา

: เทวมนุสฺส + นํ = เทวมนุสฺสนํ > เทวมนุสฺสานํ แปลว่า “แห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” หรือ “ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

“เทวมนุสฺสานํ” เป็นพระคุณนามบทที่ 7 ของพระพุทธเจ้า มีคำว่า “สตฺถา” เป็นคำคู่ ควบกันเป็น “สตฺถา เทวมนุสฺสานํ” แปลว่า “(พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น) ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

ดูเพิ่มเติม: “สตฺถา” บาลีวันละคำ (3,767) (ชุดพุทธคุณ 9)

ขยายความ :

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 266-267 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่ได้พระคุณนามว่า “สัตถา เทวมนุสสานัง” ไว้ ดังนี้ –

…………..

เทวมนุสฺสานนฺติ เทวานญฺจ มนุสฺสานญฺจ ฯ

คำว่า เทวมนุสฺสานํ หมายความว่า (ทรงเป็นศาสดา) ของเทวดาทั้งหลายด้วย ของมนุษย์ทั้งหลายด้วย

อุกฺกฏฺฐปริจฺเฉทวเสน ภพฺพปุคฺคลปริจฺเฉทวเสน เจตํ วุตฺตํ ฯ

คำว่า “เทวมนุสฺสานํ” นี้ ตรัสโดยกำหนดเอาเวไนยสัตว์ชั้นสูงสุด และโดยกำหนดเอาเวไนยสัตว์ที่เป็นภัพบุคคล (คือผู้สมควรที่จะบรรลุมรรคผลได้)

ภควา ปน ติรจฺฉานคตานมฺปิ อนุสาสนิปฺปทาเนน สตฺถาเยว ฯ

แต่ความจริงพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระศาสดาของสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายด้วยแท้ โดยโปรยปรายพระอนุสาสนีไปถึงสัตว์ดิรัจฉานได้ด้วย

เตปิ หิ ภควโต ธมฺมสฺสวเนน อุปนิสฺสยสมฺปตฺตึ ปตฺวา ตายเอว อุปนิสฺสยสมฺปตฺติยา ทุติเย วา ตติเย วา อตฺตภาเว มคฺคผลภาคิโน โหนฺติ ฯ

แม้สัตว์ดิรัจฉานเหล่านั้นเล่า ได้อุปนิสัยสมบัติด้วยการฟังธรรมแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ด้วยอุปนิสัยสมบัตินั้นเอง จะเป็นผู้มีส่วนแห่งมรรคผลในชาติที่ 2 หรือที่ 3 (หมายความว่า ชาติปัจจุบันที่ได้ฟังธรรมนั้นไม่อาจจะบรรลุมรรคผลได้เพราะเป็นสัตว์ดิรัจฉาน แต่การได้ฟังธรรมย่อมจะเป็นอุปสัยปัจจัยให้บรรลุมรรคผลได้ในชาติต่อไป คัมภีร์วิสุทธิมรรคเล่าเรื่องกบฟังธรรมแล้วไปเกิดเป็นเทพบุตรเป็นอุทาหรณ์)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “สตฺถา เทวมนุสฺสานํ” ขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

สตฺถา เทวมนุสฺสานํ : (พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น) ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย, ทรงเป็นครูของบุคคลทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำ, ทรงประกอบด้วยคุณสมบัติของครู และทรงทำหน้าที่ของครูเป็นอย่างดี คือทรงพร่ำสอนด้วยพระมหากรุณา หวังให้ผู้อื่นได้ความรู้อย่างแท้จริง, ทรงสอนมุ่งความจริงและประโยชน์เป็นที่ตั้ง ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ด้วยประโยชน์ ทั้งทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ และปรมัตถะ, ทรงรู้จริงและปฏิบัติด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงสอนผู้อื่นให้รู้และปฏิบัติตาม ทรงทำกับตรัสเหมือนกัน ไม่ใช่ตรัสสอนอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง, ทรงฉลาดในวิธีสอน, และทรงเป็นผู้นำหมู่ดุจนายกองเกวียน (ข้อ ๗ ในพุทธคุณ ๙)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ครูบาอาจารย์เป็นผู้บอกทาง

: แต่การเดินทางเป็นหน้าที่ของเรา

#บาลีวันละคำ (3,768)

06-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *