คุณมิจ (บาลีวันละคำ 4,478)
คุณมิจ
คนทำผิดที่มีเกียรติเป็น “คุณ”
อ่านว่า คุน-มิด
“คุณมิจ” เป็นภาษาปาก “มิจ” ตัดมาจากคำว่า “มิจฉาชีพ” แล้วเติมคำว่า “คุณ” อันเป็นคำที่ใช้เรียกนำหน้าบุคคลเพื่อแสดงความยกย่อง (แต่ในที่นี้ใช้เรียกอย่างประชดประชันหรือแดกดัน) เข้าข้างหน้า เป็น “คุณมิจ”
คำว่า “มิจฉาชีพ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มิจฉาชีพ : (คำนาม) การหาเลี้ยงชีวิตในทางผิด, อาชีพที่ผิดกฎหมาย, เช่น เขาประกอบมิจฉาชีพ. (คำวิเศษณ์) ที่หาเลี้ยงชีวิตในทางผิด, ที่ประกอบอาชีพผิดกฎหมาย, เช่น พวกมิจฉาชีพ. (ป. มิจฺฉา + อาชีว).”
“คุณมิจ” หรือ “มิจฉาชีพ” ในที่นี้ส่วนมากใช้หมายถึงพวกมิจฉาชีพที่ใช้การสื่อสารทางออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อด้วยวิธีการต่าง ๆ เป็นเหตุให้ผู้หลงเชื่อนั้นเสียทรัพย์สิน
พจนานุกรมฯ บอกว่า “มิจฉาชีพ” บาลีเป็น มิจฺฉา + อาชีว
(๑) “มิจฉา”
บาลีเขียน “มิจฺฉา” (มีจุดใต้ จฺ) อ่านว่า มิด-ฉา เป็นศัพท์จำพวกนิบาต ไม่แจกด้วยวิภัตติ คือคงรูปเดิมเสมอ
“มิจฺฉา” แปลว่า “ผิด” ถ้าอยู่ตามลำพังมีฐานะเป็นกริยาวิเศษณ์ มีความหมายว่า อย่างผิดๆ, ด้วยวิธีผิด, ไม่ถูก, เก๊, หลอกๆ (wrongly, in a wrong way, wrong –, false) ถ้าใช้ประกอบข้างหน้าคำนาม ก็ทำหน้าที่ขยายความให้รู้ว่า นามคำนั้นมีความหมายว่าผิด เช่น “มิจฉาชีพ” = อาชีพที่ผิด
(๒) “อาชีว”
อ่านว่า อา-ชี-วะ รากศัพท์มาจาก อา (ทั่วไป, ยิ่ง) + ชีวฺ (ธาตุ = เป็นอยู่) + อ (อะ) ปัจจัย
: อา + ชีวฺ = อาชีว + อ = อาชีว แปลตามศัพท์ว่า “การเป็นเหตุให้เป็นอยู่ได้” คือ “การเลี้ยงชีวิต”
“อาชีว” ใช้ในภาษาไทย แผลง ว เป็น พ เป็น “อาชีพ” แต่ที่คงเป็น “อาชีว” ก็มี โดยเฉพาะเมื่อมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่น อาชีวศึกษา
สังเกตการให้ความหมาย :
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาชีว” ว่า livelihood, mode of living, living, subsistence (การทำมาหากิน, วิถีดำรงชีวิต, ความเป็นอยู่, อาชีวะ)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อาชีว : (คำนาม) เครื่องอาศรัยเลี้ยงชีพ, เครื่องอาศรัย; livelihood, subsistence, means of living.”
พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกไว้ว่า –
(1) อาชีพ, อาชีวะ : n. adj. a trade, an occupation, a vocation, a profession; professional (boxer)
(2) อาชีวศึกษา : n. vocational training, vocational education
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาชีพ, อาชีว-, อาชีวะ : (คำนาม) การเลี้ยงชีวิต, การทํามาหากิน; งานที่ทําเป็นประจําเพื่อเลี้ยงชีพ. (ป., ส.).”
จะเห็นได้ว่า “อาชีว–อาชีพ” ความหมายตามบาลีสันสกฤตเน้นไปที่ “การมีชีวิตรอด” (ยังไม่ตาย) ซึ่งเป็นความหมายเดิมแท้ แต่ความหมายตามภาษาไทยและที่แปลออกจากภาษาไทยเน้นไปที่ “การประกอบอาชีพ” (การทำงาน)
ความหมายสั้น ๆ ของ “อาชีว–อาชีพ” ก็คือ วิธีการที่จะอยู่รอด หรือวิธีการที่จะไม่อดตาย
มิจฺฉา + อาชีว = มิจฺฉาชีว (มิด-ฉา-ชี-วะ) แปลว่า เลี้ยงชีพในทางที่ผิด (wrong living)
“มิจฺฉาชีว” ภาษาไทยใช้เป็น “มิจฉาชีพ”
ขยายความ :
ในภาษาบาลี คำนี้มี 2 รูป คือสมาสและสนธิกันเป็น “มิจฺฉาชีว” (-ฉา กับ อา– สนธิกัน) ก็มี สมาสกัน แต่ไม่สนธิ (หมายถึงแยกรูปเป็นคนละคำ) เป็น “มิจฺฉาอาชีว” (-ฉา กับ อา– แยกรูปกัน แต่เป็นศัพท์เดียวกัน) ก็มี
ในทางความหมาย บาลีใช้เป็นคำนาม คือหมายถึงอาชีพ- หรือ “การ” เลี้ยงชีพในทางที่ผิด
แต่ “มิจฉาชีพ” ในภาษาไทย นอกจากเป็นคำนาม คือหมายถึงอาชีพ- หรือการเลี้ยงชีพในทางที่ผิดแล้ว ยังใช้เป็นคำวิเศษณ์ คือหมายถึง “คน” ที่หาเลี้ยงชีพในทางที่ผิดด้วย
ในภาษาบาลี ถ้าจะให้หมายถึง “คนที่หาเลี้ยงชีพในทางที่ผิด” รูปคำต้องเป็น “มิจฺฉาชีวก” หรือ “มิจฺฉาอาชีวก”
หรือไม่ก็ใช้ศัพท์อื่นที่หมายถึงคนที่หาเลี้ยงชีพในทางที่ผิด เช่น “โจร” และ “เถน” เป็นต้น
แถม :
“โจร” บาลีอ่านว่า โจ-ระ รากศัพท์มาจาก จุรฺ (ธาตุ = ลัก, ขโมย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ จุ-(รฺ) เป็น โอ (จุรฺ > โจร)
: จุรฺ + ณ = จุรณ > จุร > โจร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ลักขโมย” หมายถึง ขโมย, โจร (a thief, a robber)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โจร ๑, โจร– : (คำนาม) ผู้ร้ายที่ลักขโมยหรือปล้นสะดมทรัพย์สินผู้อื่นเป็นต้น. (ป., ส.).”
“เถน” บาลีอ่านว่า เถ-นะ รากศัพท์มาจาก เถนฺ (ธาตุ = ลัก, ขโมย) + อ (อะ) ปัจจัย
: เถนฺ + อ = เถน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ลักขโมย” หมายถึง คนขโมย, ขโมย (a thief, stealing)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เถน : (คำนาม) ชายที่มีอายุ อาศัยอยู่กินที่วัด อาจถือศีลหรือไม่ก็ได้ นุ่งห่มผ้าเหลืองตามแต่จะหาได้ บางคนมีความประพฤติดี บางคนมีความประพฤติไม่เหมาะสม. (ป. เถน; ส. เสฺตน ว่า ขโมย).”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: มิจฉาชีพอาจช่วยให้รอดตายได้
: แต่ไม่อาจช่วยให้รอดจากนรกได้เลย
#บาลีวันละคำ (4,478)
15-9-67
…………………………….
…………………………….