บาลีวันละคำ

มุนิปุงควะ (บาลีวันละคำ 3,800)

มุนิปุงควะ

คำแสดงพระคุณนามของพระผู้มีภาคเจ้า

อ่านว่า มุ-นิ-ปุง-คะ-วะ

ประกอบด้วยคำว่า มุนิ + ปุงควะ

(๑) “มุนิ”

อ่านว่า มุ-นิ รากศัพท์มาจาก –

(1) มุนฺ (ธาตุ = รู้; ผูก) + อิ ปัจจัย

: มุนฺ + อิ = มุนิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รู้ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น” (2) “ผู้รู้ประโยชน์ทั้งสอง” (3) “ผู้ผูกจิตของตนไว้มิให้ตกไปสู่อำนาจของราคะโทสะเป็นต้น”

(2) โมน (ความรู้) + อี ปัจจัย, รัสสะ อี เป็น อิ, แผลง โอ ที่ โม-(น) เป็น อุ (โมน > มุน)

: โมน > มุน + อี = มุนี > มุนิ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความรู้หรือมีโมเนยยธรรม”

“มุนิ” หมายถึง ผู้บำเพ็ญพรต, ผู้ศักดิ์สิทธิ์, นักปราชญ์, คนฉลาด (a holy man, a sage, wise man)

โปรดสังเกตว่า ในภาษาบาลี คำนี้เป็น “มุนิ” -นิ สระ อิ ไม่ใช่ มุนี

บาลี “มุนิ” ในภาษาไทยใช้เป็น “มุนิ” และ “มุนี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“มุนิ, มุนี : (คำนาม) นักปราชญ์, ฤษี, พระสงฆ์. (ป., ส.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “มุนี” ขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

มุนี : นักปราชญ์, ผู้สละเรือนและทรัพย์สมบัติแล้ว มีจิตใจตั้งมั่นเป็นอิสระไม่เกาะเกี่ยวติดพันในสิ่งทั้งหลาย สงบเย็น ไม่ทะเยอทะยานฝันใฝ่ ไม่แส่พล่านหวั่นไหว มีปัญญาเป็นกำลังและมีสติรักษาตน, พระสงฆ์หรือนักบวชที่เข้าถึงธรรมและดำเนินชีวิตอันบริสุทธิ์

…………..

(๒) “ปุงควะ”

เขียนแบบบาลีเป็น “ปุงฺคว” อ่านว่า ปุง-คะ-วะ รากศัพท์มาจาก ป (ตัดมาจากศัพท์ว่า “ปธาน” = ประธาน, หัวหน้า) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ว ปัจจัย, แปลง อะ ที่ ป เป็น อุ (ป > ปุ), ลงนิคหิตอาคมที่ ปุ แล้วแปลงเป็น งฺ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ

: ป + คมฺ = ปคมฺ + ว = ปคมว > ปุคมว > ปุํคมว > ปุงฺคมว > ปุงฺคว แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถึงความเป็นประธาน”

“ปุงฺคว” (ปุงลิงค์) ความหมายตามศัพท์ คือ “วัวตัวผู้” (male-cow) ใช้ในความหมายตรงตัวว่า โคผู้ (a bull) และใช้ในความหมายโดยนัยว่า ดีที่สุด, สำคัญที่สุด (best, chief) ในหมู่หรือในกลุ่มนั้นๆ

บาลี “ปุงฺคว” ในภาษาไทยใช้เป็น “ปุงคพ” (ปุง-คบ) และ “ปุงควะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ปุงคพ, ปุงควะ : (คำนาม) โคผู้, หมายความว่า ผู้เลิศ, ผู้ประเสริฐ, หัวหน้า, เช่น ศากยปุงควะ ว่า ผู้ประเสริฐในศากยตระกูล. (ป. ปุงฺคว).”

มุนิ + ปุงฺคว = มุนิปุงฺคว (มุ-นิ-ปุง-คะ-วะ) แปลว่า “ผู้ประเสริฐในหมู่มุนี” หรือ “มุนีผู้ประเสริฐ” ถือเอาความว่า ผู้เป็นจอมมุนี

“มุนิปุงฺคว” ในภาษาไทยใช้เป็น “มุนิปุงควะ” อ่านว่า มุ-นิ-ปุง-คะ-วะ

คำว่า “มุนิปุงควะ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

คำว่า “มุนิปุงควะ” ในวรรณคดีบาลี นิยมใช้เป็นพระคุณนามของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังตัวอย่างคำประพันธ์นี้ –

…………..

ภควา ตสฺมึ สมเย

เวเนยฺยานํนุกมฺปโก

อชปาลนิโคฺรธทุมา

ปายาสิ มุนิปุงฺคโว ฯ

อนุกฺกเมน คมเนน

พาราณสิมุปาคมิ …

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจอมมุนี

ผู้ทรงอนุเคราะห์เวไนยสัตว์ทั้งหลาย

ทรงออกจากต้นอชปาลนิโครธ

เสด็จพุทธดำเนินโดยลำดับ

ก็ถึงกรุงพาราณสี …

เวฬุวนมหาวิหาเร

วิหาสิ มุนิปุงฺคโว

ตํ สุตฺวา พิมฺพิสาโร จ

ภควนฺตมุปสงฺกมิ ฯ

พระจอมมุนีประทับ –

ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร

พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับข่าว

ก็เสด็จเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

ที่มา: รัตนจงกมนกัณฑ์ พุทธวงศ์ พระไตรปิฎกเล่ม 33 ข้อ 1

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เมื่อเป็นผู้นำ ต้องสง่างาม

: เมื่อเป็นผู้ตาม ต้องซื่อตรง

#บาลีวันละคำ (3,800)

07-11-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *