บาลีวันละคำ

พุทโธ (ชุดพุทธคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,769)

พุทโธ (ชุดพุทธคุณ 9)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระพุทธคุณว่าดังนี้ –

…………..

อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู

อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ

สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ.

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 1

…………..

พระพุทธคุณ 9 ท่านนับบทว่า “พุทฺโธ” เป็นบทที่ 8

คำว่า “พุทฺโธ” (มีจุดใต้ ทฺ) ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “พุทโธ” (ไม่มีจุดใต้ ท) ในที่นี้เขียนแบบคำไทยเป็น “พุทโธ” (ไม่มีจุดใต้ ท) อ่านว่า พุด-โท

“พุทฺโธ” บาลี รูปคำเดิมเป็น “พุทฺธ” อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง ต เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + ต = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้”

“พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้หลายนัย ดังนี้ –

(1) สพฺพํ พุทฺธวาติ พุทฺโธ = ผู้ทรงรู้ทุกอย่างที่ควรรู้

(2) ปารมิตาปริภาวิตาย ปญญาย สพฺพมฺปิ เญยฺยํ อพุชฺฌีติ พุทฺโธ = ผู้ทรงรู้เญยธรรมทั้งปวงด้วยพระปัญญาที่ทรงสั่งสมอบรมมาแล้วเต็มเปี่ยม

(3) พุชฺฌิตา สจุจานีติ พุทฺโธ = ผู้ตรัสรู้สัจธรรม

(4) โพเธตา ปชายาติ พุทฺโธ = ผู้ทรงยังหมู่สัตว์ให้รู้ตาม

(5) สพฺพญฺญุตาย พุทฺโธ = ผู้ทรงรู้ธรรมทุกอย่าง

(6) สพฺพทสฺสาวิตาย พุทฺโธ = ผู้ทรงเห็นแจ้งธรรมทุกอย่าง

(7) อภิญฺเญยฺยตาย พุทฺโธ = ผู้ทรงรู้ยิ่ง

(8 ) วิสวิตาย พุทฺโธ = ผู้ทรงทำพระนิพพานให้แจ้ง

(9) ขีณาสวสงฺขาเตน พุทฺโธ = ผู้ทรงสิ้นอาสวกิเลส

(10) นิรุปกฺกิเลสสงฺขาเตน พุทฺโธ = ผู้ทรงปราศจากอุปกิเลส

(11) เอกนฺตวีตราคโทสโมโหติ พุทฺโธ = ผู้ทรงปราศจากราคะ โทสะ โมหะโดยส่วนเดียว

(12) เอกนฺตนิกฺกิเลโสติ พุทฺโธ = ผู้ทรงสิ้นกิเลสแล้วโดยส่วนเดียว

(13) เอโก อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุทฺโรติ พุทฺโธ = ผู้ตรัสรูพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณลำพังพระองค์เดียว

(14) อพุทฺธิวหตฺตา พุทฺธิปฏิลาภตฺตา พุทฺโธ = ผู้ทรงกำจัดอวิชชาและทรงได้วิชชา

(15) สวาสนสมฺโมหนิทฺทาย พุชฺฌติ ปพุชฺฌติ ปพุชฺฌนํ กโรตีติ พุทฺโธ = ผู้ทรงตื่น ทรงปลุก ทรงทำให้ตื่นตัวจากความหลับไหลด้วยอำนาจสัมโมหะพร้อมทั้งวาสนา

(16) พุชฺฌติ วิกสติ พุชฺฌนํ วิกสนํ กโรตีติ พุทฺโธ = ผู้ทรงเบิกบาน แจ่มใส ทรงทำความเบิกบานแจ่มใส

(17) เทฺว วฏฺฏมูลานิ ขนฺธสนฺตานโต สยเมว อุทฺธรตีติ พุทฺโธ = ผู้ทรงเพิกถอนรากเหง้าแห่งวัฏฏะทั้งสองจากขันธสันดานได้ด้วยพระองค์เอง

(18) เทว อตฺเถ อุทฺธริตฺวา ธาเรตีติ พุทฺโธ = ผู้ทรงยกประโยชน์สองประการขึ้นไว้

(19) พาลสงขาเต ปุถุชฺชเน วฏฺฏทุกฺขโต อุทฺธรติ อุทฺธรณํ กโรตีติ พุทฺโธ = ผู้ทรงยกปุถุชนคนพาลขึ้นจากวัฏทุกข์

ความหมายของ “พุทฺธ” ตามที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –

One who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“พุทธ, พุทธ-, พุทธะ : (คำนาม) ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้เบิกบานแล้ว, ใช้เฉพาะเป็นพระนามของพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา เรียกเป็นสามัญว่า พระพุทธเจ้า. (ป.).”

“พุทฺธ” ในบาลี อ่านว่า พุด-ทะ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “พุทฺโธ” (พุด-โท) เขียนแบบไทยเป็น “พุทโธ” (ไม่มีจุดใต้ ท)

“พุทโธ” เป็นพระคุณนามบทที่ 8 ของพระพุทธเจ้า

ขยายความ :

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 268 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่ได้พระคุณนามว่า “พุทโธ” ไว้ ดังนี้ –

…………..

ยํ ปน กิญฺจิ อตฺถิ เญยฺยํ นาม สพฺพสฺเสว พุทฺธตฺตา วิโมกฺขนฺติกญาณวเสน พุทฺโธ ฯ

อนึ่งเล่า สิ่งที่ควรรู้ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที่มีอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้สิ่งนั้นทั้งหมด ด้วยอำนาจวิโมกขันติกญาณ (พระญาณอันเกิดขึ้นในที่สุดแห่งวิโมกข์คือการหลุดพ้นอย่างวิเศษ) เพราะเหตุนี้จึงทรงพระนามว่า พุทฺโธ

ยสฺมา วา จตฺตาริ สจฺจานิ อตฺตนาปิ พุชฺฌิ อญฺเญปิ สตฺเต โพเธสิ ตสฺมา เอวมาทีหิปิ การเณหิ พุทฺโธ ฯ

อีกนัยหนึ่ง เพราะเหตุที่ตรัสรู้สัจจะ 4 ด้วยพระองค์เองบ้าง ทรงยังสัตว์อื่นๆ ให้รู้ด้วยบ้าง ด้วยเหตุดังกล่าวมาพอเป็นตัวอย่างฉะนี้ จึงทรงพระนามว่า พุทฺโธ

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “พุทฺโธ” สรุปความไว้ดังนี้ –

…………..

พุทฺโธ : (พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น) ทรงเป็นผู้ตื่น ไม่หลงงมงายเองด้วย และทรงปลุกผู้อื่นให้ตื่นพ้นจากความหลงงมงายนั้นด้วย ทรงเป็นผู้เบิกบาน มีพระทัยผ่องแผ้ว บำเพ็ญพุทธกิจได้ถูกต้องบริบูรณ์ (ข้อ ๘ ในพุทธคุณ ๙)

…………..

แถม :

“พุทโธ” เป็นพระคุณนามที่นักปฏิบัติจิตภาวนานิยมนำไปภาวนากำหนดจิตให้ดำรงอยู่ด้วยสติ โดยน้อมนึกว่า พุท-โธ พุท-โธ พุท-โธ ทุกลมหายใจเข้าออก

ในภาษาไทย มีคำว่า “พุทโธ่” ซึ่งนักภาษาเห็นพ้องต้องกันมามาจากคำว่า “พุทโธ” นี่เอง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“พุทโธ่ : (คำอุทาน) คําที่เปล่งออกมาด้วยความสงสารหรือรําคาญใจเป็นต้น.”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำให้ชาวโลกภาวนาว่า “พุท-โธ” ได้มากเพียงใด

: ก็ลดเหตุสลดใจที่ทำให้ต้องอุทานว่า “พุทโธ่” ลงได้มากเพียงนั้น

#บาลีวันละคำ (3,769)

07-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *