บาลีวันละคำ

ภควา (ชุดพุทธคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,770)

ภควา (ชุดพุทธคุณ 9)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระพุทธคุณว่าดังนี้ –

…………..

อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู

อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ

สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ.

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 1

…………..

พระพุทธคุณ 9 ท่านนับบทว่า “ภควา” เป็นบทที่ 9

คำว่า “ภควา” ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “ภะคะวา” ในที่นี้เขียนแบบคำไทยเป็น “ภควา” อ่านว่า พะ-คะ-วา

คำว่า “ภควา” รูปศัพท์เดิมเป็น “ภควนฺตุ” อ่านว่า พะ-คะ-วัน-ตุ มีรากศัพท์มาได้หลายทาง ขอนำมาแสดงพอเป็นตัวอย่างทางหนึ่ง คือรากศัพท์มาจาก ภาค (ธรรมที่ควรจำแนกแก่เวไนยสัตว์) + วนฺ (ธาตุ = เสพ) + นฺตุ ปัจจัย ลบ อา ที่ ภาค (ภาค > ภค) และลบ นฺ ที่สุดธาตุ (วนฺ > ว)

: ภาค + วนฺ = ภาควนฺ + นฺตุ = ภาควนนฺตุ > ภควนฺนฺตุ > ภควนฺตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงเสพภาคธรรม”

“ภควา” แปลตามศัพท์ได้หลายนัย ดังนี้ –

(1) ภคฺคราโค ภคฺคโทโส ภคฺคโมโห ภคฺคมาโนติ ภควา = พระผู้ทรงทำลายราคะ โทสะ โมหะ มานะได้แล้ว

(2) ภาเค ทานสีลาทิปารมิธมฺเม ฌานวิโมกฺขาทิอุตฺตริมนุสฺสธมฺเม จ วนิ ภชิ เสวิ พหุลมกาสีติ ภควา = ผู้ทรงเสพภาคธรรม คือบารมีธรรมมีทานและศีลเป็นต้น และธรรมอันยิ่งของมนุษย์คือฌานและวิโมกข์เป็นต้น

(3) ภาเค วนิ อภิปตฺถยีติ ภควา = ผู้ทรงขวนขวายภาคธรรมแก่เวไนยสัตว์

(4) ภคสงฺขาตํ อิสฺสริยํ ยสญฺจ วมิ อุคฺคิริ เขฬปิณฺฑํ วิย อนเปกฺโข ฉฑฺฑยีติ ภควา = ผู้ทรงคายภคธรรมคืออิสริยะและยศได้แล้ว ทรงถ่มทิ้งไปดุจก้อนเขฬะ

(5) ทานสีลาทิปารปตฺตํ ภาคฺยมสฺส อตฺถีติ ภควา = ผู้ทรงมีโชค คือบรรลุความสำเร็จอันเกิดแต่บารมีคือทานและศีลเป็นต้น

(6) ปญฺจ มาเร อภญฺชีติ ภควา = ผู้ทรงทำลายมารทั้งห้าได้แล้ว

(7) ภคฺคสฺส ปาปกา ธมฺมาติ ภควา = ผู้ทรงทำลายบาปธรรมทั้งหลายได้แล้ว

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ภควนฺตุ” ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า, พระพุทธเจ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภควนฺตุ” ว่า fortunate, illustrious, sublime (มีโชค, มีชื่อเสียง, สูงส่ง) ขยายความไว้ว่า as Ep. and title “Lord” (ถ้าใช้เป็นคำแสดงคุณลักษณะและชื่อ ก็หมายถึง “ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่”) และบอกว่าในภาษาอังกฤษมักแปลกันว่า Blessed One, Exalted One

“ภควนฺตุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่ 1 (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ ลง สิ วิภัตติ ตามสูตรว่า “เอา นฺตุ กับ สิ เป็น อา”

: ภควนฺตุ + สิ (-นฺตุ + สิ = อา : ภคว + อา) = ภควา

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำนี้ไว้เป็น “ภควัต” “ภควันต์” “ภควา” “ภควาน” บอกไว้ว่า –

“ภควัต, ภควันต์, ภควา, ภควาน : (คำนาม) นามพระเป็นเจ้า, นามพระพุทธเจ้า, พระผู้เป็นเจ้า, พระผู้มีพระภาค. (ป., ส.).”

ในที่นี้ “ภควา” เป็นพระคุณนามของพระพุทธเจ้า มิได้หมายถึงพระผู้เป็นเจ้า

ขยายความ :

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 269 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่ได้พระคุณนามว่า “ภควา” ไว้ ดังนี้ –

…………..

ภคี ภชี ภาคี วิภตฺตวา อิติ

อกาสิ ภคฺคนฺติ ครูติ ภาคฺยวา

พหูหิ ญาเยหิ สุภาวิตตฺตโน

ภวนฺตโค โส ภควาติ วุจฺจติ ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น –

(1) ทรงเป็น “ภคี” = ผู้มีภคะคือโชค

(2) ทรงเป็น “ภชี” = ผู้เสพที่สงัด

(3) ทรงเป็น “ภาคี” = ผู้มีภาคะคือมีส่วนควรได้รับจตุปัจจัยหรือมีส่วนแห่งธรรม

(5) ทรงเป็น “วิภัตตวา” = ผู้จำแนกธรรม

(6) ได้ทรงทำ “ภัคคะ” = การหักกิเลสบาปธรรม

(7) ทรงเป็น “ครุ” = เป็นครู

(8 ) ทรงเป็น “ภาคยะ” = ผู้มีบุญบารมี

(9) ทรงเป็น “สุภาวิตัตตะ” = ผู้อบรมพระองค์ดีแล้วด้วยเญยธรรมเป็นอันมาก

(10) ทรงเป็น “ภวันตคะ” = ผู้ถึงที่สุดแห่งภพ (ไม่ต้องไปเกิดในภพภูมิไหนๆ อีก)

ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ บัณฑิตจึงถวายพระนามว่า “ภควา”

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ภควา” สรุปความไว้ดังนี้ –

…………..

ภควา : พระผู้มีพระภาค, เป็นพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า และเป็นคำแสดงพระพุทธคุณอย่างหนึ่ง แปลว่า “ทรงเป็นผู้มีโชค” คือ หวังพระโพธิญาณก็ได้สมหวัง ประกาศพระศาสนาก็ชักจูงผู้คนให้ได้บรรลุธรรมสมปรารถนา มีผู้คิดร้ายก็ไม่อาจทำร้ายได้; อีกนัยหนึ่งว่าทรงเป็นผู้จำแนกแจกธรรม (ข้อ ๙ ในพุทธคุณ ๙)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จงสร้างโชคขึ้นมาด้วย

: อย่ารอให้โชคช่วยอย่างเดียว

#บาลีวันละคำ (3,770)

08-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *