สุปฏิปันโน (ชุดสังฆคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,778)
สุปฏิปันโน (ชุดสังฆคุณ 9)
…………..
ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ
คำบาลีแสดงพระสังฆคุณว่าดังนี้ –
…………..
สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา
เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ
อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย
อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ.
ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111
…………..
พระสังฆคุณ 9 ท่านนับบทว่า “สุปฏิปันโน” เป็นบทที่ 1
คำว่า “สุปฏิปันโน” ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “สุปะฏิปันโน” ในที่นี้เขียนแบบคำไทยเป็น “สุปฏิปันโน” อ่านว่า สุ-ปะ-ติ-ปัน-โน
“สุปฏิปันโน” เขียนแบบบาลีเป็น “สุปฏิปนฺโน” อ่านว่า สุ-ปะ-ติ-ปัน-โน รูปคำเดิมเป็น “สุปฏิปนฺน” อ่านว่า สุ-ปะ-ติ-ปัน-นะ ประกอบด้วย สุ + ปฏิปนฺน
(๑) “สุ”
เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ดี, งาม, ง่าย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “สุ-” ไว้ว่า well, happily, thorough (ดี, อย่างมีสุข, ทั่วถึง)
(๒) “ปฏิปนฺน”
อ่านว่า ปะ-ติ-ปัน-นะ รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ต ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (ปทฺ > ป), แปลง ต เป็น นฺน (หรือนัยหนึ่ง แปลง ทฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น นฺน)
: ปฏิ + ปทฺ = ปฏิปทฺ + ต = ปฏิปทฺต > ปฏิปนฺน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปถึงเฉพาะ” “ผู้ดำเนินไป” “ผู้ปฏิบัติ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏิปนฺน” ว่า [having] followed or following up, reaching, going along or by [i. e. practising], entering on, obtaining ([ได้] ดำเนินตามหรือกำลังติดตาม, ไปตามหรืออาศัย [คือปฏิบัติ], เข้าสู่, ได้รับ)
สุ + ปฏิปนฺน = สุปฏิปนฺน แปลว่า “ผู้ไปถึงเฉพาะด้วยดี” “ผู้ดำเนินไปด้วยดี” “ผู้ปฏิบัติดี”
ในที่นี้ “สุปฏิปนฺน” เป็นคำขยาย ( = วิเสสนะ) ของ “สาวกสงฺโฆ” (พระสงฆ์สาวก, ที่คำขึ้นต้นว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ) คำขยายหรือวิเสสนะต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำนามที่ตนขยาย
“สาวกสงฺโฆ” เป็นคำนาม แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์
“สุปฏิปนฺน” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สุปฏิปนฺโน” เขียนแบบไทยเป็น “สุปฏิปันโน”
ขยายความ :
“สุปฏิปันโน” เป็นคุณนามบทที่ 1 ของพระสงฆ์
คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 279-280 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงลักษณะของ “สุปฏิปันโน” ไว้ดังนี้ –
…………..
สุปฏิปนฺโนติ สุฏฺฐุ ปฏิปนฺโน
คำว่า สุปฏิปนฺโน แปลว่า ปฏิบัติดี
สมฺมาปฏิปทํ
ปฏิบัติเป็นสัมมาปฏิปทา (คือปฏิบัติชอบ)
อนิวตฺติปฏิปทํ
เป็นอนิวัตติปฏิปทา (ปฏิบัติไม่ถอยกลับ)
อนุโลมปฏิปทํ
เป็นอนุโลมปฏิปทา (ปฏิบัติสมควรแก่พระนิพพาน)
อปจฺจนีกปฏิปทํ
เป็นอปัจจนีกปฏิปทา (ปฏิบัติไม่เป็นข้าศึกแก่ธรรมและบุคคล)
ธมฺมานุธมฺมปฏิปทํ ปฏิปนฺโนติ วุตฺตํ โหติ ฯ
เป็นธรรมานุธรรมปฏิปทา (ปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรม) ดังอธิบายมาฉะนี้
อปิจ สฺวากฺขาเต ธมฺมวินเย ยถานุสิฏฺฐํ ปฏิปนฺนตฺตาปิ อปณฺณกปฏิปทํ ปฏิปนฺนตฺตาปิ สุปฏิปนฺโน.
อีกนัยหนึ่ง พระสงฆ์ชื่อว่า สุปฏิปนฺโน ก็เพราะปฏิบัติไปตามอนุศาสนีที่พระผู้มีพระภาคทรงสอนไว้ ทั้งเพราะปฏิบัติอปัณณกปฏิปทา (คือปฏิบัติไม่ผิด) ในธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว
…………..
ขอขยายความเพิ่มเติม อนุโลมตามแนวคัมภีร์วิสุทธิมรรค ดังนี้ –
พระสงฆ์ชื่อว่า “สุปฏิปันโน” เพราะ –
(1) สมฺมาปฏิปทํ ปฏิปนฺโน : “ปฏิบัติเป็นสัมมาปฏิปทา” (ปฏิบัติชอบ) = ปฏิบัติถูกต้องตรงไปสู่ความหลุดพ้นจากสังสารวัฏ ตรงกันข้ามกับปฏิบัติผิด ยิ่งปฏิบัติยิ่งติดอยู่ในสังสารวัฏ
(2) อนิวตฺติปฏิปทํ ปฏิปนฺโน : “ปฏิบัติเป็นอนิวัตติปฏิปทา” (ปฏิบัติไม่กลับ) = ปฏิบัติก้าวไปข้างหน้าเสมอ ไม่ถอยกลับ อุปมาดังคนเคยเลว แล้วกลับตัวเป็นคนดี มีแต่ทำดียิ่งขึ้น ไม่หวนกลับไปเลวเหมือนเดิมอีก
(3) อนุโลมปฏิปทํ ปฏิปนฺโน : “ปฏิบัติเป็นอนุโลมปฏิปทา” (ปฏิบัติสมควรแก่พระนิพพาน) = ปฏิบัติแบบผู้ที่ทั้งรู้ปริยัติ ทั้งปฏิบัติตามที่รู้ ไม่ใช่ได้แต่รู้ แต่ไม่ปฏิบัติ
(4) อปจฺจนีกปฏิปทํ ปฏิปนฺโน : “ปฏิบัติเป็นอปัจจนีกปฏิปทา” (ปฏิบัติไม่เป็นข้าศึกแก่ธรรมและบุคคล) = ปฏิบัติไม่เป็นศัตรูกับใคร แม้กับผู้ที่รู้ผิดปฏิบัติผิดก็มีจิตเมตตามุ่งอนุเคราะห์ให้มาดำเนินในทางที่ถูกต้อง
(5) ธมฺมานุธมฺมปฏิปทํ ปฏิปนฺโน : “ปฏิบัติเป็นธรรมานุธรรมปฏิปทา” (ปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรม) = ปฏิบัติเหมาะสมกับสภาวะต่างๆ ที่กำลังปรากฏ (ทำสิ่งที่เหมาะ ในที่ที่เหมาะ ในเวลาที่เหมาะ)
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “สุปฏิปนฺโน” สรุปความไว้ดังนี้ –
…………..
สุปฏิปนฺโน : (พระสงฆ์) เป็นผู้ปฏิบัติดี คือ ปฏิบัติตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา ปฏิบัติไม่ถอยหลัง ปฏิบัติสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ดำรงอยู่ในธรรมวินัย (ข้อ ๑ ในสังฆคุณ ๙)
…………..
ข้อสังเกต :
สังคมชาวพุทธไทยเมื่อพบเห็นพระภิกษุสงฆ์ที่ตนศรัทธาเลื่อมใส ก็มักจะสรรเสริญว่า ท่านเป็น “พระสุปฏิบัติ” (พระสุปฏิปันโน)
แต่ถ้าถามว่า ใช้หลักอะไรตัดสินว่าท่านเป็นพระสุปฏิบัติ ส่วนมากก็ตอบไม่ได้ คงบอกได้แต่เพียง ฉันชอบ ฉันเลื่อมใสของฉันก็แล้วกัน กลายเป็นว่าเอาความถูกกับจริตจิตใจของตนเป็นเกณฑ์
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เอาความถูกต้องเป็นความถูกใจ
สังคมก็ศรีวิไลและไร้ข้อบกพร่อง
: เอาความถูกใจเป็นความถูกต้อง
สังคมก็บกพร่องและนับวันประลัย
#บาลีวันละคำ (3,778)
16-10-65
…………………………….
……………………………