มิติ (บาลีวันละคำ 761)
มิติ
อ่านว่า มิ-ติ
บาลีเขียนและอ่านตรงกับที่ใช้ในภาษาไทย
“มิติ” รากศัพท์มาจาก มิ หรือ มา (ธาตุ = ชั่ง, ตวง, วัด, นับ, กะประมาณ) + ติ ปัจจัย
: มิ + ติ = มิติ
: มา > มิ + ติ = มิติ
“มิติ” แปลตามศัพท์ว่า “การวัด” “การนับ” หมายถึง การทำกรรมวิธีเพื่อให้รู้ขนาด ปริมาณ และจำนวนเป็นต้น
พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกว่า มิติ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า dimension
ที่คำว่า dimension มีคำแปลและขยายความดังนี้ –
dimension n.
ขนาด, มิติ ขนาดกว้างยาวและหนา (หรือสูง) ทั้งสามอย่าง เรียกว่า the three dimensions เฉพาะขนาดยาวเรียกว่า first dimension ขนาดกว้าง second dimension ขนาดหนาหรือสูง third dimension นักวิทยาศาสตร์บางคนคาดคะเนว่ายังมีขนาดอีกอย่างหนึ่ง คือ fourth dimension หรือมิติที่สี่ คือ ความไม่สิ้นสุด
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล dimension เป็นบาลีว่า –
(1) āroha-pariṇāha อาโรหปริณาห (อา-โร-หะ-ปะ-ริ-นา-หะ) แปลตามศัพท์ว่า “ระยะที่ยาวออกไปและด้านที่ติดเนื่องกันโดยรอบ” หมายถึง รูปทรงสัณฐานของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (คำนี้น่าจะไม่มีใช้ในภาษาไทย แต่ในคัมภีร์มีใช้)
(2) parimāṇa ปริมาณ (ปะ-ริ-มา-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “การนับรอบด้าน” หมายถึง ขนาด ปริมาณ หรือจำนวนที่สามารถกำหนดได้ (คำนี้รู้จักกันดีในภาษาไทย)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) มิติ ๑ : (คำนาม) การวัด (มักใช้ประกอบหลังศัพท์อื่น) เช่น ตรีโกณมิติ สังคมมิติ, ขนาดซึ่งวัดไปตามทิศทางใดทิศทางหนึ่ง โดยถือขนาดยาวเป็นมิติที่ ๑ ขนาดกว้างเป็นมิติที่ ๒ ขนาดหนาหรือสูงเป็นมิติที่ ๓ และถือว่าเวลาเป็นมิติที่ ๔, ในทางศิลปะอาจใช้ หนาหรือลึก แทน กว้างหรือยาว ก็ได้. (ส.).
(2) มิติ ๒ : (คำนาม) ด้าน, มุมมอง, เช่น เปิดมิติใหม่ของวงการภาพยนตร์.
ข้อ (1) เป็นความหมายในทางวิชาการ
ข้อ (2) เป็นความหมายที่นิยมใช้ด้านสังคม เป็นความหมายที่กลายมาจากรากศัพท์เดิม คือจาก “การวัด การนับ” ขยายเป็น “การมอง” และกลายเป็น “การคิด” คือ ความคิดเห็น หรือการนำเสนอความคิดเห็น
: จงมองให้ตรงกับความเป็นจริง
: อย่าเกณฑ์ให้ความเป็นจริงตรงกับที่เรามอง
#บาลีวันละคำ (761)
18-6-57