บาลีวันละคำ

เอสะ (ชุดสังฆคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,785)

เอสะ (ชุดสังฆคุณ 9)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระสังฆคุณว่าดังนี้ –

…………..

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา

เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ

อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย

อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ.

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111

…………..

พระสังฆคุณ 9 บทว่า “เอสะ” เป็นบทประกอบในประโยค ไม่ใช่คำแสดงสังฆคุณ

คำว่า “เอสะ” เขียนแบบบาลีเป็น “เอส” อ่านว่า เอ-สะ รูปคำเดิมเป็น “เอต” อ่านว่า เอ-ตะ เป็นศัพท์จำพวก “สัพพนาม” แปลว่า “นั่น” นักเรียนบาลีเรียกกันว่า “เอต-ศัพท์” (เอ-ตะ-สับ) = ศัพท์ว่า เอต

“เอต-ศัพท์” ใช้ในฐานะเป็นคำขยายหรือ “วิเสสนะ” ต้องมีคำนามที่เป็นเจ้าของมารองรับ เช่น คนนั่น สิ่งนั่น ตัวนั่น ที่นั่น ฯลฯ

ในที่นี้ “เอต” เป็นคำขยาย “สาวกสงฺโฆ” (สา-วะ-กะ-สัง-โค) แปลว่า “หมู่แห่งสาวกนั่น” หรือ “นั่นคือหมู่แห่งสาวก”

คำขยายหรือวิเสสนะต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำนามที่ตนขยาย

“สาวกสงฺโฆ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์

“เอต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “เอโส” ลง อ (อะ) สระอาคม ลบสระหน้า ได้รูปเป็น “เอส” (เอ-สะ)

: เอโส + อ : เอโส > เอส + อ = เอส

พึงทราบว่า ในที่ทั่วไป “เอต” เมื่อเปลี่ยนรูปเป็น “เอโส” ก็คงเป็น “เอโส” แต่ในบทแสดงพระสังฆคุณนี้ท่านใช้เป็น “เอส” เพื่อความสละสลวยในเวลาเปล่งเสียง

ขยายความคำว่า “สัพพนาม” :

“สัพพนาม” แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ “ปุริสสัพพนาม” และ “วิเสสนสัพพนาม”

(๑) “ปุริสสัพพนาม” (ปุ-ริ-สะ-สับ-พะ-นาม) แปลว่า สรรพนามแทนตัว มีดังนี้ –

ต (ตะ) = เขา, มัน (He, She, It)

ตุมฺห (ตุม-หะ, ตุม-หฺมะ) = เจ้า, ท่าน, สู, เอ็ง, มึง (You)

อมฺห (อำ-หะ, อำ-หฺมะ) = ฉัน, ข้า, กู (I)

(๒) “วิเสสนสัพพนาม” (วิ-เส-สะ-นะ-สับ-พะ-นาม) แปลว่า สรรพนามขยายความ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ “อนิยมสัพพนาม” และ “นิยมสัพพนาม”

(1) “อนิยมสัพพนาม” (อะ-นิ-ยะ-มะ-สับ-พะ-นาม, อะ-นิ-ยม-สับ-พะ-นาม) แปลว่า สรรพนามไม่ชี้ชัด (ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นคนไหน ตัวไหน สิ่งไหน) มีดังนี้ –

ย (ยะ) = ใด

อญฺญ (อัน-ยะ) = อื่น

อญฺญตร (อัน-ยะ-ตะ-ระ) = คนใดคนหนึ่ง

อญฺญตม (อัน-ยะ-ตะ-มะ) = คนใดคนหนึ่ง

ปร (ปะ-ระ) = อื่น

อปร (อะ-ปะ-ระ) = อื่นอีก (อื่นจากอื่นไปอีก)

กตร (กะ-ตะ-ระ) = คนไหน, ตัวไหน, สิ่งไหน

กตม (กะ-ตะ-มะ) = คนไหน, ตัวไหน, สิ่งไหน

เอก (เอ-กะ) = คนหนึ่ง, พวกหนึ่ง

เอกจฺจ (เอ-กัด-จะ) = บางคน, บางพวก

สพฺพ (สับ-พะ) = ทั้งปวง

กึ (กิง) = อะไร

(2) “นิยมสัพพนาม” (นิ-ยะ-มะ-สับ-พะ-นาม, นิ-ยม-สับ-พะ-นาม) แปลว่า สรรพนามชี้ชัด มีดังนี้ –

ต (ตะ) = นั้น

เอต (เอ-ตะ) = นั่น, นี่

อิม (อิ-มะ) = นี้

อมุ (อะ-มุ) = โน้น, โน่น

…………..

ดูก่อนภราดา!

เครื่องมือสื่อสารทุกวันนี้ –

: ทำให้คนอยู่ไกลเหมือนคนใกล้

: แต่บางทีก็ทำให้คนอยู่ใกล้เหมือนคนไกล

#บาลีวันละคำ (3,785)

23-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *