บาลีวันละคำ

อาหุเนยโย (ชุดสังฆคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,786)

อาหุเนยโย (ชุดสังฆคุณ 9)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระสังฆคุณว่าดังนี้ –

…………..

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา

เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ

อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย

อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ.

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111

…………..

พระสังฆคุณ 9 ท่านนับบทว่า “อาหุเนยโย” เป็นบทที่ 5

คำว่า “อาหุเนยโย” เขียนแบบคำอ่านเป็น “อาหุเนยโย” ตรงกับเขียนแบบคำไทย อ่านว่า อา-หุ-เนย-โย

คำว่า “อาหุเนยโย” เขียนแบบบาลีเป็น “อาหุเนยฺโย” (มีจุดใต้ ยฺ หลัง น) รูปคำเดิมเป็น “อาหุเนยฺย” อ่านว่า อา-หุ-เนย-ยะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + หุ (ธาตุ = ให้, บูชา, เซ่นไหว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + เอยฺย ปัจจัย

(ก) : อา + หุ = อาหุ + ยุ > อน = อาหุน แปลตามศัพท์ว่า “การมอบให้” “การบูชา” “การเซ่นไหว้” หมายถึง ของบูชายัญ, ของเซ่นสรวง; ความเคารพ, การบูชา (oblation, sacrifice; veneration, adoration)

(ข) : อาหุน + เอยฺย = อาหุเนยฺย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ควรแก่การมอบให้” “ผู้ควรแก่การบูชา” “ผู้ควรแก่การเซ่นไหว้” หมายถึง เกี่ยวกับการสังเวย, ควรเซ่นสรวง, ควรบูชาหรือสังเวย, ควรเคารพ, ควรบูชายัญ, ควรบวงสรวง (sacrificial, worthy of offerings or of sacrifice, venerable, adorable, worshipful)

ในที่นี้ “อาหุเนยฺย” เป็นคำขยาย ( = วิเสสนะ) ของ “สาวกสงฺโฆ” (พระสงฆ์สาวก, ที่คำขึ้นต้นว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ) คำขยายหรือวิเสสนะต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำนามที่ตนขยาย

“สาวกสงฺโฆ” เป็นคำนาม แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์

“อาหุเนยฺย” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อาหุเนยฺโย” เขียนแบบคำไทยเป็น “อาหุเนยโย” (ไม่มีจุดใต้ ยฺ หลัง น)

ขยายความ :

“อาหุเนยโย” เป็นคุณนามบทที่ 5 ของพระสงฆ์

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 281 (ฉอนุสสตินิทเทส) บรรยายความหมายที่พระสงฆ์ได้นามว่า “อาหุเนยโย” ไว้ดังนี้ –

…………..

อาเนตฺวา หุนิตพฺพนฺติ อาหุนํ ทูรโตปิ อาเนตฺวา สีลวนฺเตสุ ทาตพฺพนฺติ อตฺโถ ฯ

วัตถุใด อันเขานำมาบูชา เหตุนั้น วัตถุนั้นชื่อว่า อาหุนะ หมายความว่า วัตถุที่เขานำมาแม้แต่ไกลถวายท่านผู้มีศีลทั้งหลาย

จตุนฺนํ ปจฺจยานเมตํ อธิวจนํ ฯ

คำว่า อาหุนะ นั่นเป็นชื่อของปัจจัยสี่

ตํ อาหุนํ ปฏิคฺคเหตุํ ยุตฺโต ตสฺส มหปฺผลกรณโตติ อาหุเนยฺโย ฯ

พระสงฆ์เป็นผู้ควรที่จะรับอาหุนะนั้น เพราะทำอาหุนะนั้นให้มีผลมาก เหตุนั้น จึงชื่อว่า อาหุเนยโย (ผู้ควรรับของอันเขานำมาบูชา)

อถวา ทูรโตปิ อาคนฺตฺวา สพฺพํ สาปเตยฺยมฺปิ เอตฺถ หุนิตพฺพนฺติ อาหวนีโย ฯ

อีกนัยหนึ่ง แม้สมบัติทั้งปวงอันบุคคลถึงจะมาแต่ไกลก็พึงบูชาพระสงฆ์ (คือแม้จะเดินทางมาไกลเพื่อนำของมาถวาย) เหตุนั้น พระสงฆ์จึงชื่อ อาหวนีโย (ผู้อันบุคคลควรบูชา)

สกฺกาทีนมฺปิ วา อาหวนํ อรหตีติ อาหวนีโย ฯ

ประการหนึ่ง แม้ของบูชาเทพเจ้าทั้งหลายมีท้าวสักกะเป็นต้น พระสงฆ์ก็สมควร (ที่จะรับ) เหตุนั้น พระสงฆ์จึงชื่อว่า อาหวนีโย (ผู้ควรแก่ของที่เขาบูชา)

โย จายํ พฺราหฺมณานํ อาหวนีโย นาม อคฺคิ ยตฺถ หุตํ มหปฺผลนฺติ เตสํ ลทฺธิ

อนึ่ง ไฟอันได้ชื่อว่า อาหวนีโย ของพราหมณ์ทั้งหลายซึ่งลัทธิของพวกเขาเชื่อว่าเป็นสิ่งที่บูชาแล้วมีผลมาก

สเจ หุตสฺส มหปฺผลตาย อาหวนีโย สงฺโฆว อาหวนีโย สงฺเฆ หุตญฺหิ มหปฺผลํ โหติ ฯ

ถ้าไฟนั้นได้ชื่อว่า อาหวนีโย เพราะบุคคลบูชาแล้วมีผลมากไซร้ ก็พระสงฆ์นี่แหละเป็น อาหวนีโย แท้ เพราะของที่บุคคลบูชาพระสงฆ์เป็นสิ่งมีผลมากจริง

ตเทตํ นิกายนฺตเร อาหวนีโยติ ปทํ อิธ อาหุเนยฺโยติ อิมินา ปเทน อตฺถโต เอกํ พฺยญฺชนโต ปเนตฺถ กิญฺจิมตฺตเมว นานํ ฯ

คำว่า อาหวนีโย ที่กล่าวมานี้เป็นคำในนิกายอื่น มีความหมายตรงกันกับคำว่า อาหุเนยโย ในบทแสดงสังฆคุณนี้ แต่ต่างกันนิดหน่อยโดยพยัญชนะเท่านั้น

อิติ อาหุเนยฺโย ฯ

พระสงฆ์เป็น อาหุเนยโย ด้วยประการฉะนี้

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อาหุเนยฺโย” สรุปความไว้ดังนี้ –

…………..

อาหุเนยฺโย : (พระสงฆ์) เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ คือ มีคุณความดีสมควรแก่การที่ประชาชนจะนำของถวายมาแสดงความนับถือเชิดชูบูชา ถึงจะต้องเดินทางมาแม้จากที่ไกล (ข้อ ๕ ในสังฆคุณ ๙)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไปทำบุญวัดไกลๆ ตามใจถนัด

: แต่อย่าลืมวัดข้างบ้าน

#บาลีวันละคำ (3,786)

24-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *