บาลีวันละคำ

ปริญญาบัตร (บาลีวันละคำ 1,469)

ปริญญาบัตร

อ่านว่า ปะ-ริน-ยา-บัด

ประกอบด้วย ปริญญา + บัตร

(๑) “ปริญญา

บาลีเป็น “ปริญฺญา” (ปะ-ริน-ยา, มีจุดใต้ ญฺ ตัวหน้า) รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + ญา (ธาตุ = รู้) + กฺวิ ปัจจัย, ซ้อน ญฺ, ลบ กฺวิ

: ปริ + ญฺ + ญา = ปริญฺญา + กฺวิ = ปริญฺญากฺวิ > ปริญฺญา แปลตามศัพท์ว่า (1) “การรู้โดยรอบ” (2) “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้รอบ

ปริญฺญา” ในบาลีหมายถึง ความรู้ที่ถูกต้องหรือถ่องแท้, ความเข้าใจ, ความรอบรู้ (accurate or exact knowledge, comprehension, full understanding)

ปริญญา” ในพระพุทธศาสนามี 3 อย่าง พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [92] บอกความหมายไว้ดังนี้ –

[92] ปริญญา 3 (การกำหนดรู้, การทำความรู้จัก, การทำความเข้าใจโดยครบถ้วน — Pariññā: full understanding; diagnosis)

1. ญาตปริญญา (กำหนดรู้ด้วยให้เป็นสิ่งอันรู้แล้ว, กำหนดรู้ขั้นรู้จัก, กำหนดรู้ตามสภาวลักษณะ คือ ทำความรู้จักจำเพาะตัวของสิ่งนั้นโดยตรง พอให้ชื่อว่าได้เป็นอันรู้จักสิ่งนั้นแล้ว เช่นรู้ว่า นี้คือเวทนา เวทนาคือสิ่งที่มีลักษณะเสวยอารมณ์ ดังนี้เป็นต้น — Ñāta-pariññā: full knowledge as the known; diagnosis as knowledge)

2. ตีรณปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา, กำหนดรู้ขั้นพิจารณา, กำหนดรู้โดยสามัญลักษณะ คือ ทำความรู้จักสิ่งนั้นพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เช่นว่าเวทนาไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ดังนี้เป็นต้น — Tīraṇapariññā: full knowledge as investigating; diagnosis as judgment)

3. ปหานปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการละ, กำหนดรู้ถึงขั้นละได้, กำหนดรู้โดยตัดทางมิให้ฉันทราคะเกิดมีในสิ่งนั้น คือรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ละนิจจสัญญาเป็นต้น ในสิ่งนั้นเสียได้ — Pahāna-pariññā: full knowledge as abandoning; diagnosis as abandoning)

ปริญญา” ที่ใช้ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

ปริญญา : (คำนาม) ความกําหนดรู้, ความหยั่งรู้, ความรู้รอบ; ชั้นความรู้ขั้นมหาวิทยาลัยซึ่งประสาทให้แก่ผู้ที่สอบไล่ได้ตามที่กําหนดไว้, ถ้าประสาทแก่ผู้ทรงวิทยาคุณหรือผู้มีเกียรติตามที่เห็นสมควร เรียกว่า ปริญญากิตติมศักดิ์. (ป.; ส. ปริชฺญา).”

(๒) “บัตร

บาลีเป็น “ปตฺต” (ปัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย

: ปตฺ + = ปตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน” หมายถึง ใบไม้

ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บัตร” แปลว่า ใบ, แผ่น, ใบหนังสือ, จดหมาย, ลายลักษณ์อักษรทั่วไป

เดิมเราขีดเขียนอักษรลงบนใบไม้เพื่อใช้ส่งสารติดต่อถึงกัน ต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นแผ่นกระดาษ จึงเรียกกระดาษหรือสิ่งที่เป็นแผ่นใช้เขียนลายลักษณ์อักษรว่า “ปตฺตบัตร

ในภาษาไทย คำว่า “บัตร” ใช้ต่อท้าย “คำศัพท์” ที่เป็นบาลีสันสกฤตด้วยกัน เช่น นามบัตร สิทธิบัตร ประกาศนียบัตร มรณบัตร อนุโมทนาบัตร

ถ้าใช้คำว่า “บัตร” นำหน้า คำตามหลังจะเป็นคำแสดงลักษณะของบัตรนั้นๆ และไม่จำเป็นต้องเป็นคำบาลีสันสกฤต เช่น บัตรประจำตัว บัตรเครดิต บัตรสนเท่ห์

ปริญญา + บัตร = ปริญญาบัตร แปลงกลับเป็นบาลีว่า “ปริญฺญาปตฺต” ไม่มีรูปคำควบกันเช่นนี้ในคัมภีร์

ปริญญาบัตร” เป็นคำที่คิดขึ้นใช้ในภาษาไทย แปลโดยอนุรูปแก่ศัพท์ว่า “ใบรับรองว่าเป็นผู้มีความรอบรู้

พจน.54 บอกไว้ว่า –

ปริญญาบัตร : (คำนาม) บัตรที่แสดงวิทยฐานะของผู้สําเร็จการศึกษาว่ามีศักดิ์และสิทธิ์ระดับปริญญา.”

: บุญกุศลไม่ได้อยู่ที่อนุโมทนาบัตร

: ความรู้ความถนัดไม่ได้อยู่ที่กระดาษแผ่นเดียว

10-6-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย