บาลีวันละคำ

สมภาร (บาลีวันละคำ 1,304)

สมภาร

อ่านว่า สม-พาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมภาร : (คำนาม) พระที่เป็นเจ้าอาวาส. (ป., ส. สมฺภาร).”

พจน.54 บอกว่า “สมภาร” มาจากบาลีสันสกฤตว่า “สมฺภาร

สมฺภาร” บาลีอ่านว่า สำ-พา-ระ รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ภรฺ (ธาตุ = เลี้ยงดู, ทรงไว้) + ปัจจัย, ลบ , แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” : ยืดเสียง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (ภรฺ > ภาร)

: สํ = สมฺ + ภรฺ = สมฺภรฺ + = สมฺภรณ > สมฺภร > สมฺภาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งหรือผู้ที่ช่วยให้ขับเคลื่อนไปได้” “สิ่งที่นำไปด้วยกัน” “สิ่งหรือผู้ที่จะพึงดูแลไปด้วยกัน

สมฺภาร” ในภาษาบาลี ใช้ในความหมายว่า –

(1) การสะสม, การผลิต, การตระเตรียม (accumulation, product, preparation)

(2) วัตถุ, ปัจจัย, ส่วนผสม (ที่นำไปปรุงอาหารเป็นต้น) (materials, requisite ingredients [of food])

(3) ส่วนประกอบ, ธาตุ (constituent part, element)

(4) การนำมารวมกัน, การเรียงลำดับ (bringing together, collocation)

เป็นอันว่า ในบาลี “สมฺภาร” ไม่ได้หมายถึงพระที่เป็นเจ้าอาวาส

สมฺภาร” ในสันสกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สมฺภาร : (คำนาม) ‘สัมภาระ,’ สมุหะ, นิกร, สมุทาย; การอุปการะ; สเบียง; ความเต็ม, ความสำเร็จ; อุปกรณ์หรือสามัครี, เครื่องอาศรัย; multitude, heap, assemblage; supporting; provision; fullness, completion; apparatus, necessaries.”

ในสันสกฤตก็ไม่ได้หมายถึงพระที่เป็นเจ้าอาวาสอีกเช่นกัน

ในภาษาไทย “สมฺภาร” ใช้เป็น 2 คำ คือ :

(1) “สัมภาระ” (ออกเสียงเท่าคำเดิมในบาลี) ใช้ในความหมายว่า สิ่งของต่าง ๆ เช่น เครื่องมือเครื่องใช้และเสบียงซึ่งสะสมรวบรวมหรือจัดเตรียมไว้เพื่อเดินทางไปทำกิจต่าง ๆ เช่น เตรียมสัมภาระสำหรับไปต่างจังหวัด (ตรงกับความหมายที่ว่า “สิ่งที่ช่วยให้ขับเคลื่อนไปได้” หรือ “สิ่งที่นำไปด้วยกัน”)

(2) “สมภาร” (สม-พาน) ใช้ในความหมายว่า พระที่เป็นเจ้าอาวาส คือหัวหน้าสงฆ์ในวัด มีอำนาจและหน้าที่ปกครองดูแลอำนวยกิจการทุกอย่างเกี่ยวกับวัด ข้อนี้น่าจะอนุโลมเข้ากับความหมายที่ว่า “ผู้ที่ช่วยให้ขับเคลื่อนไปได้

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “สมภาร” ว่า the abbot of a monastery

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล the abbot เป็นบาลีว่า –

(1) vihārādhipati วิหาราธิปติ (วิ-หา-รา-ทิ-ปะ-ติ) = อธิบดีวัด > ผู้ยิ่งใหญ่ในวัด

(2) assamasāmī อสฺสมสามี (อัด-สะ-มะ-สา-มี) = เจ้าของอาศรม > เจ้าสำนัก

ผู้ที่ทราบซึ้งและซาบซึ้งกับตำแหน่ง “สมภาร” มักกล่าวว่า “สมภาร” ก็คือ “ศูนย์รวมแห่งการรับภาระที่หนักหน่วง” หลายท่านจึงพยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่รับตำแหน่ง

แต่ในภาษาบาลี คำที่หมายถึง “สมภาร” ตามความหมายในภาษาไทย ใช้คำว่า “วิหาราธิปติผู้ยิ่งใหญ่ในวัด” และ “อสฺสมสามีผู้เป็นเจ้าสำนัก” อาจเพราะความหมายเช่นนี้ หลายท่านจึงพยายามที่จะไขว่คว้าหาตำแหน่ง

: มักให้ ไม่ควรเป็นนายสำเภา

: มักเอา ไม่ควรเป็นสมภาร

————

(ตามคำ ฮา-ราธนาของท่านอาจารย์พงษ์ศักดิ์ เกษมพันธ์)

24-12-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย