บาลีวันละคำ

ปาหุเนยโย (ชุดสังฆคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,787)

ปาหุเนยโย (ชุดสังฆคุณ 9)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระสังฆคุณว่าดังนี้ –

…………..

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา

เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ

อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย

อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ.

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111

…………..

พระสังฆคุณ 9 ท่านนับบทว่า “ปาหุเนยโย” เป็นบทที่ 6

คำว่า “ปาหุเนยโย” เขียนแบบคำอ่านเป็น “ปาหุเนยโย” ตรงกับเขียนแบบคำไทย อ่านว่า ปา-หุ-เนย-โย

คำว่า “ปาหุเนยโย” เขียนแบบบาลีเป็น “ปาหุเนยฺโย” (มีจุดใต้ ยฺ หลัง น) รูปคำเดิมเป็น “ปาหุเนยฺย” อ่านว่า ปา-หุ-เนย-ยะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + หุ (ธาตุ = ให้, บูชา, เซ่นไหว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ทีฆะ อะ ที่ ป- เป็น อา (ป > ปา) + เอยฺย ปัจจัย

(ก) : ป + หุ = ปหุ + ยุ > อน = ปหุน > ปาหุน (ปา-หุ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ของอันเขาจัดไว้โดยอาการต่างๆ เพื่อผู้มาเยือน” (2) “ผู้สมควรได้รับปาหุนะคืออาหารเป็นต้นที่พึงให้แก่ผู้มาถึงเรือนชาน”

“ปาหุน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นนปุงสกลิงค์ หมายถึง ของต้อนรับแขก เช่นอาหารสำหรับเลี้ยงแขก (meal for a guest)

(2) เป็นปุงลิงค์ หมายถึง แขก, อาคันตุกะ, ผู้มาเยือน (a guest)

(ข) : ปาหุน + เอยฺย = ปาหุเนยฺย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ควรแก่การต้อนรับ” หมายถึง ควรให้การต้อนรับ, ควรที่จะเป็นแขกได้ (worthy of hospitality, deserving to be a guest)

ในที่นี้ “ปาหุเนยฺย” เป็นคำขยาย ( = วิเสสนะ) ของ “สาวกสงฺโฆ” (พระสงฆ์สาวก, ที่คำขึ้นต้นว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ) คำขยายหรือวิเสสนะต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำนามที่ตนขยาย

“สาวกสงฺโฆ” เป็นคำนาม แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์

“ปาหุเนยฺย” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ปาหุเนยฺโย” เขียนแบบคำไทยเป็น “ปาหุเนยโย” (ไม่มีจุดใต้ ยฺ หลัง น)

ขยายความ :

“ปาหุเนยโย” เป็นคุณนามบทที่ 6 ของพระสงฆ์

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 281-282 (ฉอนุสสตินิทเทส) บรรยายความหมายที่พระสงฆ์ได้นามว่า “ปาหุเนยโย” ไว้ดังนี้ –

…………..

ปาหุนํ วุจฺจติ ทิสาวิทิสโต อาคตานํ ปิยมนาปานํ ญาติมิตฺตานํ อตฺถาย สกฺกาเรน ปฏิยตฺตํ อาคนฺตุกทานํ

อาคันตุกทาน (ของรับแขก) ที่เขาจัดอย่างเครื่องสักการะ (คือจัดอย่างดี) เพื่อประโยชน์แก่ญาติและมิตรทั้งหลายที่รักที่ชอบใจ อันมาแต่ทิศใหญ่น้อย เรียกว่า “ปาหุนะ”

ตมฺปิ ฐเปตฺวา เต ตถารูเป จ ปาหุนเก สงฺฆสฺเสว ทาตุํ ยุตฺตํ

เว้นญาติมิตรที่รักที่ชอบใจเหล่านั้นและแขกอื่นอันมีฐานะอย่างนั้นเสีย แม้ปาหุนะนั้นก็ควรถวายแก่พระสงฆ์เท่านั้น

สงฺโฆว ตํ ปฏิคฺคเหตุํ ยุตฺโต ฯ

พระสงฆ์นั่นแลควรรับปาหุนะนั้น

สงฺฆสทิโส หิ ปาหุนโก นตฺถิ ฯ

เพราะว่าแขกผู้ทรงคุณเช่นดังพระสงฆ์หามีไม่

ตถาเหส เอกพุทฺธนฺตเร จ ทิสฺสติ

จริงอย่างนั้น พระสงฆ์นั่นต่อพุทธันดรหนึ่งจึงจะได้พบ

อพฺโพกิณฺณญฺจ ปิยมนาปตฺตกเรหิ ธมฺเมหิ สมนฺนาคโตติ –

และท่านประกอบด้วยธรรมทั้งหลายที่ทำความที่เป็นที่รักที่ชอบใจล้วนๆ ด้วย ดังนั้น —

– เอวํ ปาหุนมสฺส ทาตุํ ยุตฺตํ ปาหุนญฺจ ปฏิคฺคเหตุํ ยุตฺโตติ ปาหุเนยฺโย ฯ

— พระสงฆ์จึงชื่อว่า ปาหุเนยโย เพราะของรับแขกควรถวายแก่ท่าน และท่านก็ควรรับของรับแขก ด้วยประการฉะนี้

เยสํ ปน ปาหวนีโยติ ปาลิ เตสํ …

ส่วนบาลีของสำนักที่สวดว่า “ปาหวนีโย” (ของเราสวดว่า “ปาหุเนยฺโย”) มีอธิบายว่า —

ยสฺมา สงฺโฆ ปุพฺพการํ อรหติ ตสฺมา สพฺพปฐมํ อาเนตฺวา เอตฺถ หุนิตพฺพนฺติ ปาหวนีโย

เพราะเหตุที่พระสงฆ์ย่อมควรซึ่งบุพการ (การทำให้ก่อน) ฉะนั้น บุคคลควรนำทานวัตถุมาบูชาพระสงฆ์นั้นก่อนใครหมด เหตุนั้น พระสงฆ์จึงชื่อ ปาหวนีโย (ผู้ที่ควรนำของมาบูชาก่อน) (นัยนี้ “ปาหวนีโย” มาจาก ป [จากศัพท์ว่า “ปุพฺพการ”] + อาหวนีโย = ปาหวนีโย)

…………………………………

หมายเหตุแทรก: “บุพการ” = การทำให้ก่อน = doing before ตรงกับที่นิยมปฏิบัติกันในวัฒนธรรมไทย กล่าวคือ ทำอะไรให้พระสงฆ์เราจะทำให้ท่านก่อนเสมอ แม้เรากำลังทำตามสิทธิ์ของเราอยู่ แต่ท่านมาทีหลัง เราก็จะลัดคิวทำให้ท่านก่อน อย่างที่พูดกันติดปากว่า “ให้พระก่อน”

…………………………………

สพฺพปฺปกาเรน วา อาหวนํ อรหตีติ ปาหวนีโย ฯ

นัยหนึ่ง พระสงฆ์ควรแก่อาหวนะ (ของบูชา) โดยประการทั้งปวง เหตุนั้น จึงชื่อว่า ปาหวนีโย (ผู้ควรแก่ของบูชาโดยประการทั้งปวง) (นัยนี้ “ปาหวนีโย” มาจาก ป [จากศัพท์ว่า “ปการ”] + อาหวนีโย = ปาหวนีโย)

สฺวายมิธ เตเนว อตฺเถน ปาหุเนยฺโยติ วุจฺจติ ฯ

ศัพท์ว่า “ปาหวนีโย” นั้น ในที่นี้เราสวดว่า “ปาหุเนยฺโย” โดยความหมายก็อย่างเดียวกันนั้นแล

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ปาหุเนยฺโย” สรุปความไว้ดังนี้ –

…………..

ปาหุเนยฺโย : (พระสงฆ์) เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ คือมีคุณความดีน่ารักน่าเคารพนับถือ ควรแก่การขวนขวายจัดถวายของต้อนรับ เป็นแขกที่น่าต้อนรับ หรือเป็นผู้ที่เขาภูมิใจอยากให้ไปเป็นแขกที่เขาจะได้ต้อนรับ (ข้อ ๖ ในสังฆคุณ ๙)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าเจ้าบ้านหน้าบาน แขกก็นำสิริมงคลมามอบให้

: ถ้าเจ้าบ้านหน้าบูด แขกก็เอาสิริมงคลในบ้านออกไป

#บาลีวันละคำ (3,787)

25-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *