ทักขิเณยโย (ชุดสังฆคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,788)
ทักขิเณยโย (ชุดสังฆคุณ 9)
…………..
ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ
คำบาลีแสดงพระสังฆคุณว่าดังนี้ –
…………..
สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา
เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ
อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย
อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ.
ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111
…………..
พระสังฆคุณ 9 ท่านนับบทว่า “ทักขิเณยโย” เป็นบทที่ 7
คำว่า “ทักขิเณยโย” เขียนแบบคำอ่านเป็น “ทักขิเณยโย” ตรงกับเขียนแบบคำไทย อ่านว่า ทัก-ขิ-เนย-โย
คำว่า “ทักขิเณยโย” เขียนแบบบาลีเป็น “ทกฺขิเณยฺโย” (มีจุดใต้ ยฺ หลัง ณ) รูปคำเดิมเป็น “ทกฺขิเณยฺย” อ่านว่า ทัก-ขิ-เนย-ยะ รากศัพท์มาจาก ทกฺขิณา + เณยฺย ปัจจัย
(ก) “ทกฺขิณา”
อ่านว่า ทัก-ขิ-นา รากศัพท์มาจาก ทกฺขฺ (ธาตุ = เจริญ) + อิณ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ทกฺขฺ + อิณ = ทกฺขิณ + อา = ทกฺขิณา แปลตามศัพท์ว่า (1) “ทานที่คนเชื่อผลของกรรมแล้วให้” (2) “เหตุเป็นเครื่องเจริญด้วยสมบัติตามที่ปรารถนา”
“ทกฺขิณา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) รางวัล, ของขวัญ, ค่าธรรมเนียม, ของที่ควรให้, สิ่งบริจาค (a gift, a fee, a donation)
(2) ทานที่ให้แก่ผู้ศักดิ์สิทธิ์ (a donation given to a holy person)
(3) สิ่งที่ให้เพื่อชดใช้หรือล้างบาป หรือเพื่ออุทิศให้ผู้อื่น (an intercessional, expiatory offering)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทักขิณา : (คำนาม) ทักษิณา, ของทำบุญ; ขวา, ทิศใต้. (ป.; ส. ทกฺษิณา).”
(ข) ทกฺขิณา + เณยฺย ปัจจัย, ลบ ณ ที่ เณยฺย (เณยฺย > เอยฺย), ลบสระหน้า คือ อา ที่ ทกฺขิณา (ทกฺขิณา > ทกฺขิณ)
: ทกฺขิณา > ทกฺขิณ + เณยฺย > เอยฺย : ทกฺขิณ + เอยฺย = ทกฺขิเณยฺย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ควรรับทักษิณาทาน” (2) “ผู้ควรแก่ทักษิณาทาน”
“ทกฺขิเณยฺย” = ผู้ควรรับทักษิณาทาน หรือผู้ควรแก่ทักษิณาทาน พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลเป็นอังกฤษว่า the recipient of the gift; a worthy object for a dakkhiṇā; one worthy of a dakkiṇā.
บาลี “ทกฺขิเณยฺย” ในภาษาไทยใช้เป็น “ทักขิไณย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ทักขิไณยบุคคล” (ทัก-ขิ-ไน-ยะ-บุก-คน) บอกไว้ว่า –
“ทักขิไณยบุคคล : (คำนาม) บุคคลผู้ควรรับทักษิณา ได้แก่ภิกษุ สามเณร และสมณพราหมณ์. (ป.).”
ในที่นี้ “ทกฺขิเณยฺย” เป็นคำขยาย ( = วิเสสนะ) ของ “สาวกสงฺโฆ” (พระสงฆ์สาวก, ที่คำขึ้นต้นว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ) คำขยายหรือวิเสสนะต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำนามที่ตนขยาย
“สาวกสงฺโฆ” เป็นคำนาม แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์
“ทกฺขิเณยฺย” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ทกฺขิเณยฺโย” เขียนแบบคำไทยเป็น “ทักขิเณยโย” (ไม่มีจุดใต้ ยฺ หลัง ณ)
ขยายความ :
“ทักขิเณยโย” เป็นคุณนามบทที่ 7 ของพระสงฆ์
คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 282 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงความหมายที่พระสงฆ์ได้นามว่า “ทักขิเณยโย” ไว้ดังนี้ –
…………..
ทกฺขิณาติ ปน ปรโลกํ สทฺทหิตฺวา ทาตพฺพทานํ วุจฺจติ
บุคคลเชื่อว่าปรโลกมีจริงจึงให้ทาน ทานที่ให้เพราะเชื่อเช่นนั้น เรียกว่า “ทักขิณา”
ตํ ทกฺขิณํ อรหติ
พระสงฆ์ย่อมควรแก่ทักขิณานั้น
ทกฺขิณาย วา หิโต ยสฺมา นํ มหปฺผลกรณตาย วิโสเธตีติ ทกฺขิเณยฺโย ฯ
นัยหนึ่ง พระสงฆ์เกื้อกูลแก่ทักขิณา เพราะทำทักขิณาให้หมดจด คือทำทักขิณานั้นให้มีผลมาก เหตุนั้น พระสงฆ์จึงชื่อว่า ทักขิเณยโย (ผู้ควรแก่ทักขิณาหรือผู้เกื้อกูลแก่ทักขิณา)
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ทกฺขิเณยฺโย” สรุปความไว้ดังนี้ –
…………..
ทกฺขิเณยฺโย : (พระสงฆ์) เป็นผู้ควรแก่ทักขิณา คือมีคุณความดีสมควรแก่ของทำบุญ มีอาหาร ผ้านุ่งห่ม เป็นต้น ช่วยเอื้ออำนวยให้ของที่เขาถวายมีผลมาก (ข้อ ๗ ในสังฆคุณ ๙)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถวายทักขิณาตั้งเจตนาให้ตรง
: พระสงฆ์ไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์
#บาลีวันละคำ (3,788)
26-10-65
…………………………….
……………………………