บาลีวันละคำ

สัตวาภิธาน (บาลีวันละคำ 3,791)

สัตวาภิธาน

คำเรียกขานสัตว์ต่างๆ

อ่านว่า สัด-ตะ-วา-พิ-ทาน

ประกอบด้วยคำว่า สัตว + อภิธาน

(๑) “สัตว”

บาลีเป็น “สตฺต” (สัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก สญฺช (ธาตุ = ติด, ข้อง) + ต ปัจจัย, ลบ ญฺช (สญฺช > ส), ซ้อน ต ระหว่างธาตุกับปัจจัย

: สญฺช > ส + ตฺ + ต = สตฺต แปลตามศัพทว่า (1) “ผู้ติดข้องอยู่ในรูปารมณ์เป็นต้น” (2) “ผู้ยังผู้อื่นให้ติดข้อง” (3) “ผู้ประกอบด้วยคุณลักษณะของผู้ติดข้อง”

ความหมายข้อ (3) หมายถึงว่าแม้ผู้ปราศจากกิเลสไม่ติดข้องอะไรอีกแล้ว ก็ยังเรียกว่า “สตฺต” ตามสำนวนนิยม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สตฺต” ว่า a living being, creature, a sentient & rational being, a person (สัตว์โลก, สัตว์, สิ่งที่มีความรู้สึกและมีเหตุผล, คน)

“สตฺต” สันสกฤตเป็น “สตฺตฺว” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “สัตว์”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สัตว-, สัตว์ : (คำนาม) สิ่งมีชีวิตซึ่งแตกต่างไปจากพรรณไม้ ส่วนมากมีความรู้สึกและเคลื่อนไหวย้ายที่ไปได้เอง, ความหมายที่ใช้กันเป็นสามัญหมายถึง สัตว์ที่ไม่ใช่คน, เดรัจฉาน. (ส. สตฺตฺว; ป. สตฺต).”

ในที่นี้ “สัตว” หมายถึง “สิ่งมีชีวิตซึ่งแตกต่างไปจากพรรณไม้ ส่วนมากมีความรู้สึกและเคลื่อนไหวย้ายที่ไปได้เอง” คือที่คำอังกฤษเรียกว่า animal

(๒) “อภิธาน”

บาลีอ่านว่า อะ-พิ-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก อภิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, จำเพาะ, ข้างหน้า) + ธา (ธาตุ = กล่าว, พูด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อภิ + ธา = อภิธา + ยุ > อน = อภิธาน แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาใช้เรียก” หมายถึง ชื่อ (name)

บาลี “อภิธาน” สันสกฤตก็เป็น “อภิธาน”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –

“อภิธาน : (คำนาม) ชื่อ; ภาษา; การพูด; ศัพท์แปล; a name; speech; speaking; a vocabulary or dictionary.”

คำว่า “อภิธาน” ในชื่อหนังสือ “สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน” ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้เป็นหนังสืออ้างอิงอยู่เป็นประจำนี้ ก็มาจาก “อภิธาน” คำนี้

“อภิธาน” ภาษาไทยอ่านว่า อะ-พิ-ทาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

“อภิธาน : (คำนาม) หนังสืออธิบายศัพท์เฉพาะเรื่อง เช่น อภิธานประวัติศาสตร์ไทย. (ป., ส.).”

จะเห็นได้ว่า ตามพจนานุกรมฯ คำว่า “อภิธาน” ในภาษาไทยมีความหมายเฉพาะเจาะจงลงไป คือหมายถึง “หนังสือ” และเป็น “หนังสืออธิบายศัพท์เฉพาะเรื่อง” เท่านั้น ไม่ใช่หนังสือทั่วไป

คำบาลีที่ใช้ในความหมายว่า “ชื่อ” (name) มีอีกหลายคำ เช่น –

(1) อวฺหา (เอา-หา) = “คำเป็นเครื่องใช้เรียก”

(2) อวฺหย (เอา-หะ-ยะ) = “คำอันเขาเรียก”

(3) อาขฺยา (อา-เขีย) = “คำเป็นเครื่องเรียกกัน”

(4) สมญฺญา (สะ-มัน-ยา) = “คำเป็นเครื่องรู้กันด้วยดี”

(5) สญฺญา (สัน-ยา) = “ธรรมชาติเป็นเครื่องจำ”

(6) นาม (นา-มะ) = “คำเป็นที่น้อมวัตถุเข้ามา” “คำอันเขาน้อมไปในความหมาย”

(7) นามเธยฺย (นา-มะ-เทย-ยะ) = “คำเป็นที่ตั้งแห่งเนื้อความคือชื่อ”

(8 ) อธิวจน (อะ-ทิ-วะ-จะ-นะ) = “คำที่เป็นใหญ่โดยใจความ”

สัตว + อภิธาน = สัตวาภิธาน (สัด-ตะ-วา-พิ-ทาน) แปลว่า “ชื่อของสัตว์”

ขยายความ :

“สัตวาภิธาน” เป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่ง พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นผู้แต่ง คู่กับหนังสือ “พรรณพฤกษา” พรรณนาถึงชื่อไม้ชื่อสัตว์ต่างๆ เรียกชื่อคล้องจองกันว่า “พรรณพฤกษา สัตวาภิธาน”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ทรงนิพนธ์คำอธิบายไว้ในหนังสือฉบับที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2471 ดังนี้ (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

…………..

หนังสือพรรณพฤกษากับสัตวาภิธานนี้ เปนของพระยาศรีสุนทรโวหาร น้อย ต้นสกุลอาจารยางกูร แต่งไว้แต่ปีวอกฉศก พระพุทธศักราช ๒๔๒๗ ต้นฉบับสมุดดำหนังสือพรรณพฤกษานี้ ได้มาแต่บันดาหนังสือเก่า ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภัสสร ทรงสั่งสมไว้มากเรื่อง ยังไม่ได้เห็นตีพิมพ์ แลในบานแผนกของท่านบอกไว้ ว่าเปนหนังสือคู่กับสัตวาภิธานซึ่งได้พิมพ์ขึ้นใช้แล้ว ในโรงสกุลพระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง ข้าพเจ้าจึงขอให้เจ้าพนักงานหอพระสมุดค้นหาฉบับพิมพ์เก่าล่วง ๔๓ ปีมาได้แล้ว ให้พิมพ์ขึ้นรวมกันทั้ง ๒ เรื่อง เพื่อประโยชน์ให้เด็กอ่านแลซราบศัพท์นกศัพท์ไม้ ซึ่งเคยเปนเครื่องเล่นของเด็กรุ่นในสัตกุลประกวดขันต่อกันว่าใครจะจำได้มาก แลเมื่อข้าพเจ้ายังเปนเด็ก ก็เคยเล่นประกวดศัพท์นกศัพท์ไม้ ครั้นเติบขึ้นออกไปอยู่เมืองนอก ก็เคยเล่นประกวดแข่งขันชื่อ บ้าน เมือง ทเล แม่น้ำ ลำธาร ลหาน ภูมลำเนา ป่าภูเขา ในตำราภูมิศาสตร์ ซึ่งเปนวิธีเล่นเช่นเดียวกันในสัตกุลผู้ดีฝรั่ง …

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความรู้ไม่เคยล้าสมัย

: ความไม่รู้นั่นสิที่ล้าสมัย

#บาลีวันละคำ (3,791)

29-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *