บาลีวันละคำ

พรรณพฤกษา (บาลีวันละคำ 3,792)

พรรณพฤกษา

คำเรียกขานไม้ต่างๆ

อ่านตามหลักภาษาว่า พัน-นะ-พฺรึก-สา

อ่านตามสะดวกปากว่า พัน-พฺรึก-สา

ประกอบด้วยคำว่า พรรณ + พฤกษา

(๑) “พรรณ”

บาลีเป็น “วณฺณ” อ่านว่า วัน-นะ รากศัพท์มาจาก วณฺณ (ธาตุ = ประกาศ, แสดง) + อ (อะ) ปัจจัย

: วณฺณ + อ = วณฺณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องประกาศเนื้อความ”

“วณฺณ” ในภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง ขอนำมาแสดงไว้ในที่นี้เป็นเครื่องประดับความรู้ ดังต่อไปนี้ :

(ภาษาอังกฤษจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ)

(1) สี (colour)

(2) รูปร่าง (appearance)

(3) ความรุ่งโรจน์โชติช่วง, ความแพรวพราว (lustre, splendor)

(4) ความงาม (beauty)

(5) สีหน้า, ท่าทาง (expression, look)

(6) สีของผิวเนื้อ, รูปร่าง, ผิวพรรณ (colour of skin, appearance of body, complexion)

(7) ชนิด, ประเภท (kind, sort เช่น นานาวณฺณ = ต่างๆ ชนิดกัน)

(8 ) “ลักษณะของเสียง” (timbre of voice) = อักษร (the alphabet)

(9) องค์ประกอบ, ความเหมือนกัน, สมบัติ; เหมือน (constitution, likeness, property; like เช่น อคฺคิวณฺณํ = เหมือนไฟ = like fire)

(10) ความประทับใจที่ดี, การสรรเสริญ (good impression, praise)

(11) เหตุผล (reason, ความหมายนี้ ฝรั่งแปลตามศัพท์ว่า “outward appearance” = ท่าทางภายนอก)

บาลี “วณฺณ” สันสกฤตเป็น “วรฺณ”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“วรฺณ : (คำนาม) ‘วรรณ,’ ชาติ, วรรค, จำพวก, พวก; สี; เครื่องตกแต่งช้าง; ลักษณะ, คุณสมบัติ; เกียรติ, ประสิทธิ; สดุดี; สุวรรณ; พรต; การจัดเพลงหรือกาพย์; ราคินีหรือคีตวิธา; โศภา, ความงาม; เครื่องแต่งตัวลคร; สุคนธ์; อักษร; รูป, ทรง; เภท, ประเภท; a trible, a class, caste, an order; colour, tint; an elephant’s housings, quality, property; fame, celebrity; praise; gold; religious observance; the arrangement of a song or poem; a musical mode; beauty, luster; theatrical dress or embellishment; perfume; a letter of the alphabet; form; figure; sort, kind.”

ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “วรรณ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“วรรณ-, วรรณะ : (คำนาม) สี เช่น เบญจวรรณ แปลว่า ๕ สี, มักใช้เข้าคู่กับคำ สีสัน เป็น สีสันวรรณะ; ผิว เช่น ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ, มักใช้เข้าคู่กับคำ ผิวพรรณ เป็น ผิวพรรณวรรณะ; ชั้นชน, ในสังคมฮินดูแบ่งคนออกเป็น ๔ วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร; หนังสือ เช่น วรรณกรรม วรรณคดี. (ส. วรฺณ; ป. วณฺณ).”

และแผลง ว เป็น พ ตามหลักนิยมในภาษาไทยเป็น “พรรณ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“พรรณ : (คำนาม) สีของผิว; ชนิด เช่น พรรณพืช พรรณไม้ พรรณสัตว์. (ส. วรฺณ; ป. วณฺณ).”

ในที่นี้ “พรรณ” ใช้ในความหมายว่า “ชนิด” เช่นชนิดของพืชของสัตว์

(๒) “พฤกษา”

บาลีเป็น “รุกฺข” (รุก-ขะ มีจุดใต้ กฺ) รากศัพท์มาจาก –

(1) รุกฺขฺ (ธาตุ = ป้องกัน, ปิดกั้น) + อ (อะ) ปัจจัย

: รุกฺข + อ = รุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ป้องกัน” (คือป้องกันแดดได้)

(2) รุหฺ (ธาตุ = เกิด, งอกขึ้น) + ข ปัจจัย, แปลง ห เป็น กฺ (รุหฺ > รุกฺ)

: รุหฺ + ข = รุหฺข > รุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดขึ้นบนแผ่นดิน”

“รุกฺข” สันสกฤตเป็น “วฺฤกฺษ” ในภาษาไทยใช้คงรูปบาลีว่า “รุกข-” ก็มี ใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “พฤกษ” ก็มี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) รุกข-, รุกข์ : (คำนาม) ต้นไม้. (ป.; ส. วฺฤกฺษ).

(2) พฤกษ-, พฤกษ์ ๑ : (คำนาม) ต้นไม้. (ส. วฺฤกฺษ; ป. รุกฺข).

ในที่นี้ ใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “พฤกษ” แล้วลากเสียงพยางค์ท้ายยาวเป็น “พฤกษา” เพื่อความสละสลวยในเวลาออกเสียง ทั้งเพื่อส่งสัมผัสไปยังคำว่า “สัตวาภิธาน” ซึ่งเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่คู่กัน

พรรณ + พฤกษา = พรรณพฤกษา (พัน-นะ-พฺรึก-สา, พัน-พฺรึก-สา)

แปลว่า “ชนิดของไม้” หรือ “ไม้ต่างชนิด”

ขยายความ :

“พรรณพฤกษา” เป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่ง พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นผู้แต่ง คู่กับหนังสือ “สัตวาภิธาน” พรรณนาถึงชื่อไม้ชื่อสัตว์ต่างๆ เรียกชื่อคล้องจองกันว่า “พรรณพฤกษา สัตวาภิธาน”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ทรงนิพนธ์คำอธิบายไว้ในหนังสือฉบับที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2471 ดังนี้ (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

…………..

หนังสือพรรณพฤกษากับสัตวาภิธานนี้ เปนของพระยาศรีสุนทรโวหาร น้อย ต้นสกุลอาจารยางกูร แต่งไว้แต่ปีวอกฉศก พระพุทธศักราช ๒๔๒๗ ต้นฉบับสมุดดำหนังสือพรรณพฤกษานี้ ได้มาแต่บันดาหนังสือเก่า ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภัสสร ทรงสั่งสมไว้มากเรื่อง ยังไม่ได้เห็นตีพิมพ์ แลในบานแผนกของท่านบอกไว้ ว่าเปนหนังสือคู่กับสัตวาภิธานซึ่งได้พิมพ์ขึ้นใช้แล้ว ในโรงสกุลพระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง ข้าพเจ้าจึงขอให้เจ้าพนักงานหอพระสมุดค้นหาฉบับพิมพ์เก่าล่วง ๔๓ ปีมาได้แล้ว ให้พิมพ์ขึ้นรวมกันทั้ง ๒ เรื่อง เพื่อประโยชน์ให้เด็กอ่านแลซราบศัพท์นกศัพท์ไม้ ซึ่งเคยเปนเครื่องเล่นของเด็กรุ่นในสัตกุลประกวดขันต่อกันว่าใครจะจำได้มาก แลเมื่อข้าพเจ้ายังเปนเด็ก ก็เคยเล่นประกวดศัพท์นกศัพท์ไม้ ครั้นเติบขึ้นออกไปอยู่เมืองนอก ก็เคยเล่นประกวดแข่งขันชื่อ บ้าน เมือง ทเล แม่น้ำ ลำธาร ลหาน ภูมลำเนา ป่าภูเขา ในตำราภูมิศาสตร์ ซึ่งเปนวิธีเล่นเช่นเดียวกันในสัตกุลผู้ดีฝรั่ง …

…………..

หมายเหตุ :

เมื่อได้อ่านหน้าต้นของหนังสือ “พรรณพฤกษา” มีข้อความว่า –

…………..

ข้าพเจ้าพระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาต บรมนาถนิตยภักดี พิริยพาห เจ้ากรมพระอาลักษณ คิดรวบรวมชื่อต้นไม้ต่าง ๆ บันดาที่รู้จักชื่อ คิดเปนกลอนเรียกว่า “นามพรรณพฤกษา” คู่กันกับ “สัตวาภิธาน” ซึ่งได้ลงพิมพ์แต่ครั้งก่อน

…………..

ทำให้ได้ความชัดว่า หนังสือนี้ตั้งใจให้ชื่อว่า “นามพรรณพฤกษา” คือมีคำว่า “นาม” นำหน้าด้วย ไม่ใช่ “พรรณพฤกษา” เฉยๆ คำว่า “นามพรรณพฤกษา” แปลว่า “ชื่อของพรรณไม้” สอดคล้องกับ “สัตวาภิธาน” ซึ่งแปลว่า “ชื่อของสัตว์”

แต่ไฉนชื่อนี้จึงเหลือเพียง “พรรณพฤกษา” คำว่า “นาม” หายไป แม้ขึ้นต้นชื่อในหน้าต้นของหนังสือนั้นเองก็ใช้เพียง “พรรณพฤกษา” หาใช่ “นามพรรณพฤกษา” ไม่ ทั้งๆ ที่ในข้อความต่อมาก็บอกไว้เองว่า … คิดเปนกลอนเรียกว่า “นามพรรณพฤกษา” … นี้นับว่าชอบกลอยู่

…………..

: ต้นไม้ให้ร่มเงาไม่เลือกหน้า

: แม้แก่ผู้มาเพื่อจะตัดต้นไม้

ดูก่อนภราดา!

: ท่านจะเป็นต้นไม้

: ฤๅเป็นผู้จะมาตัดต้นไม้

#บาลีวันละคำ (3,792)

30-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *