ไถยบริโภค (บาลีวันละคำ 2,745)
ไถยบริโภค
ขโมยเขากิน
อ่านว่า ไถ-ยะ-บอ-ริ-โพก
(๑) “ไถย”
บาลีเป็น “เถยฺย” (เถย-ยะ) รากศัพท์มาจาก เถน + ณฺย ปัจจัย
(ก) “เถน” อ่านว่า เถ-นะ รากศัพท์มาจาก เถนฺ (ธาตุ = ลัก, ขโมย) + อ ปัจจัย
: เถนฺ + อ = เถน (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ลักขโมย”
“เถน” เป็นคำนาม หมายถึง คนขโมย (a thief) เป็นคำคุณศัพท์ หมายถึง ขโมย (stealing)
(ข) เถน (คนขโมย) + ณฺย ปัจจัย, ลบ น ที่สุดศัพท์ (เถน > เถ) และลบ ณ ที่ ณฺย (ณฺย > ย), ซ้อน ยฺ (ย > ยฺย)
: เถนฺ > เถ + ณฺย > ย = เถย > เถยฺย (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำของขโมย” “ภาวะแห่งขโมย” หมายถึง การขโมย (theft)
“เถยฺย” ในภาษาไทยใช้เป็น “ไถย-” (ไถ-ยะ-) (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ไถย– : (คำนาม) ความเป็นขโมย เช่น ไถยจิต. (ป. เถยฺย).”
(๒) “บริโภค”
บาลีเป็น “ปริโภค” (ปะ-ริ-โพ-คะ) รากศัพท์มาจาก ปริ (รอบด้าน) + ภุชฺ (ธาตุ = กิน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น โอ, แปลง ช เป็น ค
: ปริ + ภุชฺ + ณ = ปริภุชณ > ปริภุช > ปริโภช > ปริโภค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนใช้สอยรอบด้าน” หมายถึง การบริโภค, การใช้สอย, สิ่งที่ใช้สอย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปริโภค” ว่า –
(1) material for enjoyment, food, feeding (เครื่องบริโภค, อาหาร, โภชนะ)
(2) enjoyment, use (การบริโภค, การใช้สอย)
“ปริโภค” ภาษาไทยใช้ว่า “บริโภค”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บริโภค : (คำกริยา) กิน (ใช้เฉพาะอาการที่ทําให้ล่วงลําคอลงไปสู่กระเพาะ) เช่น บริโภคอาหาร, เสพ เช่น บริโภคกาม; ใช้สิ้นเปลือง, ใช้สอย, เช่น บริโภคสมบัติ, คู่กับ อุปโภค. (ป. ปริโภค).”
เถยฺย + ปริโภค = เถยฺยปริโภค (เถย-ยะ-ปะ-ริ-โพ-คะ) แปลตามศัพท์ว่า “การกินและการใช้สอยโดยความเป็นขโมย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ไถยบริโภค” (ไถ-ยะ-บอ-ริ-โพก)
โปรดทราบ :
คำบาลีว่า “เถยฺย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เคยเก็บเป็น “เถย-” คือตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งตามหลักนิยมในภาษาไทย มีคำที่ขึ้นด้วย “เถย-” คือ เถยจิต เถยเจนา เถยสังวาส ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงใหม่ ตัดคำที่ขึ้นด้วย “เถย-” ออกทั้งหมด และเปลี่ยนเป็น “ไถย-” แทน (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่มีคำที่ขึ้นด้วย “เถย-”)
บาลี “เถยฺยปริโภค” ภาษาไทยสะกดเป็น “ไถยบริโภค” เพื่อให้สอดคล้องกับพจนานุกรมฯ
ขยายความ :
“บริโภค” ในที่นี้ ท่านจำแนกไว้ 4 อย่าง คำบาลีและคำแปลว่าดังนี้
(1) เถยฺยปริโภค (เถย-ยะ-ปะ-ริ-โพ-คะ) = บริโภคอย่างขโมย
(2) อิณปริโภค (อิ-นะ-ปะ-ริ-โพ-คะ) = บริโภคอย่างเป็นหนี้
(3) ทายชฺชปริโภค (ทา-ยัด-ชะ-ปะ-ริ-โพ-คะ) = บริโภคอย่างเป็นผู้รับมรดก
(4) สามิปริโภค (สา-มิ-ปะ-ริ-โพ-คะ) = บริโภคอย่างเป็นเจ้าของ
คำว่า “เถยฺยปริโภค” ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา เช่น สมันตปาสาทิกา ภาค 2 อรรถกถาพระวินัย รูปิยสิกขาบท หน้า 229 เป็นต้น ขยายความไว้ว่า
…………..
สงฺฆมชฺเฌปิ นิสีทิตฺวา ปริภุญฺชนฺตสฺส ทุสฺสีลสฺส ปริโภโค เถยฺยปริโภโค นาม.
การบริโภคของภิกษุผู้ทุศีลซึ่งนั่งบริโภคอยู่แม้ในท่ามกลางสงฆ์ ชื่อว่าไถยบริโภค
หนังสือ พุทธธรรม ฉบับขยายความ งานนิพนธ์ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต หน้า 351 อธิบายไว้ว่า –
…………..
ในชั้นอรรถกถา ท่านจำแนกการบริโภคของภิกษุสามเณรซึ่งเป็นผู้รับทักขิณาของชาวบ้านมาฉันและใช้สอยว่ามี 4 อย่าง
พวกที่ 1 ได้แก่ ผู้ที่ทุศีล ไม่มีคุณความดีสมควรแก่ภาวะของตน คงมีแต่การนุ่งห่มเป็นต้นและอาการภายนอกที่เป็นเครื่องหมายเพศ บุคคลเช่นนี้เป็นผู้ไม่มีสิทธิในทักขิณา การรับทักขิณามาฉันและใช้สอยของผู้เช่นนี้เรียกว่า เถยยบริโภค คือบริโภคอย่างขโมยหรือแอบลักเขากิน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: โกงกินมาตลอด แต่รอดตะราง ไม่ใช่ตัวอย่างที่ตลก
: เพราะแต่ไหนแต่ไรก็ไม่เคยมีใครรอดนรกเลยสักราย
#บาลีวันละคำ (2,745)
18-12-62