นรชาติ (บาลีวันละคำ 3,794)
นรชาติ
ฟื้นฟูความฉลาดกันอีกที
ปกติอ่านว่า นอ-ระ-ชาด
บางกรณีเช่นในคำประพันธ์บางชนิด อ่านว่า นะ-ระ-ชาด
มีคำอื่นมาควบข้างท้าย –
อ่านว่า นอ-ระ-ชาด-ติ-(ต่อด้วยคำนั้น)
ประกอบด้วย นร + ชาติ
(๑) “นร”
บาลีอ่านว่า นะ-ระ รากศัพท์มาจาก –
(1) นี (ธาตุ = นำไป) + อร ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบ อี ที่ นี (นี > น)
: นี > น + อร = นร แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้นำไป” (2) “ผู้นำไปสู่ความเป็นใหญ่”
(2) นรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป; นำไป) + อ (อะ) ปัจจัย
: นรฺ + อ = นร แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ดำเนินไปสู่ภพน้อยภพใหญ่” (2) “ผู้อันกรรมของตนนำไป” (3) “ผู้ถูกนำไปตามกรรมของตน”
“นร” (ปุงลิงค์) ความหมายที่เข้าใจกันคือ “คน” (man) (ปกติไม่จำกัดว่าหญิงหรือชาย)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความไว้ว่า in poetry esp. a brave, strong, heroic man (โดยเฉพาะในบทร้อยกรอง หมายถึงคนผู้กล้าหาญ, แข็งแกร่ง, วีรบุรุษ)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“นร- : (คำนาม) คน, ชาย, เพศหญิงใช้ว่า นรี หรือ นารี, นิยมใช้เป็นคําหน้าสมาส เช่น นรเทพ นรสิงห์. (ป., ส.).”
(๒) “ชาติ”
บาลีอ่านว่า ชา-ติ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย
กระบวนการทางไวยากรณ์ :
แบบที่ 1 แปลง ชนฺ เป็น ชา : ชน > ชา + ติ = ชาติ
แบบที่ 2 แปลง “น” ที่ (ช-)นฺ เป็น อา : (ช)น > อา (> ช + อา) = ชา + ติ = ชาติ
“ชาติ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –
(1) การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)
(2) ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)
(3) จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)
(4) ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ชาติ” ไว้ดังนี้ –
(1) การเกิด, กำเนิด, มักใช้ว่า ชาติเกิด หรือ ชาติกำเนิด เช่น ถ้าทำไม่ดีก็เสียชาติเกิด,
(2) ความมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สบายทั้งชาติ.
(3) เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์, เช่น ชาตินักรบ ชาติไพร่.
(4) ประเทศ เช่น รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์.
(5) ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ; ประชาชาติ ก็ว่า.
(6) กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน.
(7) ชนิด, จําพวก, ชั้น, หมู่.
(8 ) คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิม เช่น รสชาติ หรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ.
ในที่นี้ “ชาติ” ใช้ในความหมายตามข้อ (8 ) ภาษาบาลีไวยากรณ์เรียกว่า “ศัพท์ สกรรถ” (สับ-สะ-กัด) หมายถึงคำที่นำมาต่อท้ายคำอื่น แต่คำนั้นคงมีความหมายเท่าเดิม (“สกรรถ” : สก = ของตน + อรรถ = ความหมาย)
นร + ชาติ = นรชาติ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“นรชาติ : (คำนาม) คน, หมู่คน.”
ขยายความ :
คำว่า “นรชาติ” ที่คุ้นหูในหมู่ชาวเรามากที่สุด อยู่ในกวีนิพนธ์ท่อนหนึ่งจากเรื่อง กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีผู้นิยมนำไปอ้างกันมาก โดยการท่อง การอ่าน หรือการเขียน
ข้อความที่นิยมยกไปอ้าง เขียนตามอักขรวิธีในปัจจุบันเป็นดังนี้ –
๏ พฤษภกาสร……..อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง……สำคัญมายในกายมี
๏ นรชาติวางวาย…..มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี…….ประดับไว้ในโลกา๚ะ๛
คำอ่าน :
พฺรึด-สบ-พะ-กา-สอน / อีก-กุน-ชอน-อัน-ปฺลด-ปฺลง
โท-ทน-สะ-เหฺน่ง-คง / สำ-คัน-หฺมาย-ใน-กาย-มี
นอ-ระ-ชาด-ติ-วาง-วาย / ม-ลาย-สิ้น-ทั้ง-อิน-ซี
สะ-ถิด-ทั่ว-แต่-ชั่ว-ดี / ปฺระ-ดับ-ไว้-ใน-โล-กา
ถอดความ :
วัว ควาย ตายแล้วยังมีเขา
ช้างนั้นเล่ายังมีงาทั้งคู่ในตัวมัน
เป็นสิ่งสำคัญบอกให้รู้ (ว่ามันเคยมีชีวิตอยู่ในโลกนี้)
แต่มนุษย์เราเมื่อล่วงลับดับชีวีก็สูญหมด
ชั่วกับดีเท่านั้นที่ยังปรากฏอยู่คู่กับสังคม
(ให้ชาวโลกได้ชื่นชมฤๅชิงชังตามแต่จะทำไว้)
หมายเหตุ :
การถอดความนี้เป็นเพียงจินตนาการที่อาศัยเค้าความในคำประพันธ์เป็นหลัก แต่ละท่านสามารถถอดความด้วยสำนวนโวหารของตนเองได้ตามปรารถนา ขอเพียงให้ได้ใจความตามตัวบทเท่านั้น
คำเสนอแนะ :
(๑) ศึกษาต้นฉบับให้ถี่ถ้วน ถ้าอ่าน อ่านออกเสียงให้ถูกต้องตามหลักการอ่านคำประพันธ์
(๒) วรรคที่ต้องระวังคือ “นรชาติวางวาย” ตรงคำว่า “–ชาติ-” ต้องอ่านว่า ชาด-ติ-วาง-วาย
วรรคนี้มักอ่านกันว่า นอ-ระ-ชาด-ที่-วาง-วาย ซึ่งผิดจากต้นฉบับ เพราะในต้นฉบับไม่มีคำว่า “ที่” ข้อผิดพลาดนี้เกิดจากไม่ได้ศึกษาถึงต้นฉบับให้ถูกต้องนั่นเอง
(๓) ก่อนหรือหลังอ่านจบ ควรบอกที่มาไว้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐานและเป็นการเทิดพระเกียรติองค์ผู้นิพนธ์
เคยเห็นบางท่านบอก “ที่มา” ว่า “คัดมาจากหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ…” แบบนี้ไม่ใช่ “ที่มา” ที่ถูกต้อง
“ที่มา” นั้นต้องเป็นที่มาต้นเดิม (-จากเรื่อง กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส-) ไม่ใช่จากหนังสือหรือ website ที่มีผู้นำมาอ้างอีกทีหนึ่ง
(๔) เมื่อนำไปเขียน ต้องเขียนให้ถูกต้องตามแบบแผนของคำประพันธ์ สะกดการันต์ถูกต้องตามอักขรวิธีที่ยุติในปัจจุบัน เว้นไว้แต่กรณีศึกษาที่ต้องการอ้างอิงการสะกดคำตามต้นฉบับเดิม
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สัตว์มีร่างกายเป็นทุน
: คนมีบาปบุญเป็นกำไร
#บาลีวันละคำ (3,794)
01-11-65
…………………………….
……………………………