วินัยวาที (บาลีวันละคำ 3,796)
วินัยวาที
นับวันจะมีน้อยลง
ประกอบด้วยคำว่า วินัย + วาที
(๑) “วินัย”
บาลีเป็น “วินย” อ่านว่า วิ-นะ-ยะ รากศัพท์มาจาก วิ (วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นี (ธาตุ = นำไป) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อี ที่ นี เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย (นี > เน > นย)
: วิ + นี = วินี > วิเน > วินย + อ = วินย แปลตามศัพท์ว่า “นำไปอย่างวิเศษ”
“วินย” ในบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) การขับออก, การเลิก, การทำลาย, การกำจัดออก (driving out, abolishing, destruction, removal)
(2) วินัย, จรรยา, ศีลธรรม, ความประพฤติที่ดี (norm of conduct, ethics, morality, good behavior)
(3) ประมวลจรรรยา, วินัยสงฆ์, กฎ, จรรยาบรรณหรือพระวินัย (code of ethics, monastic discipline, rule, rules of morality or of canon law)
ความหมายโดยสรุปตามที่เข้าใจกัน “วินย-วินัย” ก็คือ กฎ, ระเบียบแบบแผน, ข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“วินย-, วินัย : (คำนาม) ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ, เช่น วินัยทหาร ทหารต้องยึดมั่นในวินัย; สิกขาบทของพระสงฆ์. (ป., ส.).”
(๒) “วาที”
รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = กล่าว, พูด, แสดงความเห็น) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (วทฺ > วาท)
: วทฺ + ณี = วทณี > วที > วาที (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กล่าว”
หมายถึง พูดถึง, กล่าว, สอน, พูดคุย; ถือทัศนะหรือลัทธิคำสอน; ถกเถียง (speaking of, saying, asserting, talking; professing, holding a view or doctrine; arguing)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“วาที : (คำนาม) ผู้พูด, ผู้กล่าว, ผู้ชี้แจง, ผู้โต้แย้ง; คนเล่นดนตรี. (ป., ส.).”
วินย + วาที = วินยวาที (วิ-นะ-ยะ-วา-ที) แปลว่า “ผู้กล่าวถูกวินัย” หมายถึง ผู้เคารพวินัย (หรือ “พูดตามพระวินัย”), ผู้ปฏิบัติตามวินัย (one who professes the Vinaya (or “speaking in accordance with the rules of conduct”), a Vinaya-follower)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –
“วินยวาที : ผู้มีปรกติกล่าวพระวินัย.”
“วินยวาที” เขียนแบบไทยเป็น “วินัยวาที”
คำว่า “วินัยวาที” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
คำว่า “วินยวาที – วินัยวาที” ท่านกล่าวถึงควบคู่กับคำอื่นอีกหลายคำ คำที่ตรงกันข้ามก็คือ “อวินยวาที – อวินัยวาที” = ผู้มิได้กล่าววินัย หรือผู้กล่าวไม่ถูกวินัย
โปรดศึกษาข้อความจากพระไตรปิฎก ดังต่อไปนี้ –
…………..
หนฺท มยํ อาวุโส ธมฺมญฺจ วินยญฺจ สงฺคายาม ปุเร อธมฺโม ทิปฺปติ ธมฺโม ปฏิพาหิยติ อวินโย ทิปฺปติ วินโย ปฏิพาหิยติ ปุเร อธมฺมวาทิโน พลวนฺโต โหนฺติ ธมฺมวาทิโน ทุพฺพลา โหนฺติ อวินยวาทิโน พลวนฺโต โหนฺติ วินยวาทิโน ทุพฺพลา โหนฺตีติ.
ที่มา: ปัญจสติกขันธกะ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค 2
พระไตรปิฎกเล่ม 7 ข้อ 614
…………..
แปลประโยคต่อประโยค:
หนฺท มยํ อาวุโส ธมฺมญฺจ วินยญฺจ สงฺคายาม.
เอาเถิดท่านทั้งหลาย พวกเราจงสังคายนาพระธรรมและพระวินัยเถิด
ปุเร อธมฺโม ทิปฺปติ ธมฺโม ปฏิพาหิยติ.
ในภายหน้า สภาวะมิใช่ธรรมจักรุ่งเรื่อง ธรรมจักเสื่อมถอย
อวินโย ทิปฺปติ วินโย ปฏิพาหิยติ.
สภาวะมิใช่วินัยจักรุ่งเรื่อง วินัยจักเสื่อมถอย
ปุเร อธมฺมวาทิโน พลวนฺโต โหนฺติ ธมฺมวาทิโน ทุพฺพลา โหนฺติ.
ในภายหน้า อธรรมวาทีบุคคลจะมีกำลัง ธรรมวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง
อวินยวาทิโน พลวนฺโต โหนฺติ วินยวาทิโน ทุพฺพลา โหนฺตีติ.
อวินยวาทีบุคคลจักมีกำลัง วินยวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าอธรรมบันลือ
ธรรมนั้นหรือก็บรรลัย
: ถ้าพังทำนบพระวินัย
พระศาสนาก็วินาศ
#บาลีวันละคำ (3,796)
03-11-65
…………………………….
……………………………