สังเวช (บาลีวันละคำ 529)
สังเวช
อ่านว่า สัง-เวด
บาลีเป็น “สํเวชน” อ่านว่า สัง-เว-ชะ-นะ
“สังเวช” นอกจากบาลีจะเป็น “สํเวชน” แล้ว ยังเป็น “สํเวค” (สัง-เว-คะ) อีกด้วย คำที่ใช้เต็มๆ คือ “ธมฺมสํเวค” (ทำ-มะ-สัง-เว-คะ) นิยมแปลกันว่า “ธรรมสังเวช”
สํเวค – สํเวชน – สังเวช รากศัพท์คือ สํ + วิชฺ (ธาตุ = มี, เป็น, รู้สึก) แปลว่า สลดใจ, ตกใจ, หวาดหวั่น, กังวล, ปั่นป่วน
ความหมายที่เด่นคือ สลดใจ
พจน.42 บอกความหมายของ “สังเวช” ในภาษาไทยว่า “รู้สึกเศร้าสลดหดหู่ต่อผู้ที่ได้รับทุกขเวทนา หรือต้องตายไป หรือต่อผู้ที่ตนเคารพนับถือซึ่งประพฤติตนไม่เหมาะสมเป็นต้น เช่น เห็นผู้คนประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกแล้วสังเวช พอรู้ข่าวว่าญาติผู้ใหญ่ของตนพัวพันคดีฉ้อราษฎร์บังหลวงก็สังเวช”
พระพุทธศาสนาสอนว่า เรื่องที่ควรนำมาพิจารณาให้เกิดความสังเวช แล้วเร้าเตือนสำนึกให้มีจิตใจน้อมมาในทางกุศล เกิดความคิดไม่ประมาทและมีกำลังใจที่จะทำความดี มีอยู่ 8 เรื่อง คือ (1) ความเกิด (2) ความแก่ (3) ความเจ็บ (4) ความตาย (5) การเกิดในภพภูมิที่ไม่เจริญ (เช่นเป็นสัตว์เดรัจฉาน) (6) ความทุกข์ที่ได้รับในอดีตชาติ (7) ความทุกข์ที่จะต้องประสบในชาติต่อไป (8) ความทุกข์ที่กำลังได้รับในชาตินี้ เช่นทำอย่างไรจึงจะมีกิน ทำอย่างไรจึงจะอยู่รอด
: สังเวชให้ถูกวิธี มีแต่ดี ไม่มีเสีย
: สังเวชไม่ถูกวิธี ไม่มีดี มีแต่เสีย
27-10-56