บาลีวันละคำ

สถานการณ์ [2] (บาลีวันละคำ 3,810)

สถานการณ์ [2]

ดูมัน แต่อย่าเป็นกับมัน

อ่านว่า สะ-ถา-นะ-กาน

ประกอบด้วยคำว่า สถาน + การณ์

(๑) “สถาน”

บาลีเป็น “ฐาน” อ่านว่า ถา-นะ รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ฐา + ยุ > อน : ฐา + อน = ฐาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่ตั้งแห่งผล”

“ฐาน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ส่วน [ของสิ่งใดๆ] (place, region, locality, abode, part)

(2) ภาวะ, สถานะ, สภาวะ (state, condition)

(3) ที่ตั้ง (location)

(4) อิริยาบถยืน (standing position)

(5) คุณลักษณะ, คุณภาพ, ตำแหน่ง (attribute, quality, degree)

(6) สิ่ง, ข้อ, จุด; ฐานะ, หนทาง, ประการ, เหตุผล [สำหรับการถือเช่นนั้น] (thing; item, point; grounds, ways, respects, [assumption] reason)

(7) ความคาดคิด, ข้อสมมุติ, หลักการ (supposition, principle)

(8 ) ทันทีทันใด (at once, immediately) (เช่นในคำว่า “ฐานโส” ซึ่งมักแปลกันว่า “โดยฐานะ” แต่ความหมายจริงๆ ในที่นี้ต้องแปลว่า “โดยพลัน” : “ฐานโส อุปกปฺปติ” = ย่อมสำเร็จโดยพลัน)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ฐาน” ไว้ 4 คำ ขอยกมาให้ดู 3 คำ ดังนี้ –

(1) ฐาน ๑ : (คำนาม) ที่ตั้ง เช่น ฐานทัพ, ที่รองรับ เช่น ฐานพระพุทธรูป. (ป.).

(2) ฐาน ๒, ฐาน-, ฐานะ : (คำนาม) ตำแหน่งหน้าที่ เช่น เธอต้องรับผิดชอบในฐานที่เป็นหัวหน้าห้อง; หลักฐาน, ลำดับความเป็นอยู่ในสังคม เช่น ทุกคนยอมรับรู้ฐานะในสังคมของเขา. (ป.).

(3) ฐาน ๓ : (คำสันธาน) เพราะ เช่น ถูกลงโทษฐานละเลยหน้าที่.

บาลี “ฐาน” สันสกฤตเป็น “สฺถาน”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“สฺถาน : (คำนาม) สถล, ที่, ตำแหน่ง; การอยู่; สมพาท, ความแม้น; อวกาศหรือมัธยสถาน; ที่แจ้งในเมือง, ทุ่ง, ฯลฯ; เรือน, บ้านหรือที่อาศรัย; บริเฉท; บุรี, นคร; สำนักงาร; บท, สถิติ; การหยุด; place, site, situation; staying; resemblance, likeness; leisure or interval; an open place in a town, a plain, &c.; a house, a dwelling; a chapter; a town, a city; an office; degree, station; halt.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สถาน” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) สถาน ๑ : (คำนาม) ที่ตั้ง เช่น สถานเสาวภา สถานพยาบาล สถานพักฟื้น สถานบริบาลทารก, ถ้าใช้ประกอบคำอื่นหมายถึง ที่, แหล่ง, เช่น โบราณสถาน ศาสนสถาน ฌาปนสถาน ปูชนียสถาน สังเวชนียสถาน; ประการ เช่น มีความผิดหลายสถาน. (ส.; ป. ฐาน).

(2) สถาน- ๒, สถานะ : (คำนาม) ความเป็นไป, ความเป็นอยู่, เช่น เขาอยู่ในสถานะยากไร้ เศรษฐกิจของประเทศไทยมีสถานะมั่นคง น้ำมีสถานะปรกติเป็นของเหลว.

(๒) “การณ์”

เขียนแบบบาลีเป็น “การณ” อ่านว่า กา-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ก-(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ)

: กรฺ + ยุ > อน = กรน > กรณ > การณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำผล”

“การณ” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง คือหมายถึง การกระทำ, วิธีทำ, การปฏิบัติ, การลงโทษ, การฆ่า, การงาน, หน้าที่, เหตุผล, เหตุ, ความจำเป็น (a deed, action, performance, an act imposed or inflicted upon somebody by a higher authority; punishment, killing, task, duty obligation, acting, action as material cause, intellectual cause, reason, necessity, needs)

บาลี “การณ” สันสกฤตก็เป็น “การณ”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “การณ” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“การณ : (คำนาม) เหตุ, มูล; ในตรรกศาสตร์, การณ์มีอยู่สามอย่าง; สมวายิการณ์, เหตุตรง; อสมวายิการณ์, เหตุอ้อม (หรือไม่ตรง); นิมิตตการณ์, เหตุบังเอินเปน; กริยา, การณ์; ฆาตกรรม, การเบียดเบียน; กรรมเมนทรีย์; เหตุหรืออุปกรณ์; มูล, มูลพัสดุ; เทพดา (อันเปนเหตุไกลหรือใกล้แห่งการสร้าง); พวกเสมียน; เครื่องดนตรีอย่างหนึ่ง; เพลงอย่างหนึ่ง; ทุกข์, เวทนา; การผลักลงนรก; โชฺยติษกาล; cause, motive, origin, principle; in logic, cause is of three kinds; Samavāyi kāraṇa, a direct cause; Asamavāyi kāraṇa, an indirect cause; Nimitta kāraṇa, an incidental cause; action, agency; killing, injuring; an organ of sense; an instrument or means; an element, elementary matter; a deity (as the remote or proximate cause of creation); a number of scribes; a kind of musical instrument; a sort of song; pain, agony; casting into hell; an astronomical period.”

บาลี “การณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “การณ์” (กาน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“การณ์ : (คำนาม) เหตุ, เค้า, มูล, เช่น รู้เท่าไม่ถึงการณ์ สังเกตการณ์. (ป., ส.).”

สถาน + การณ์ = สถานการณ์ แปลตามศัพท์อนุวัตตามความหมายในภาษาไทยว่า “เหตุที่เกิดตามสถานะ”

“สถานการณ์” เป็นศัพท์บัญญัติ เทียบคำอังกฤษว่า situation

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล situation เป็นบาลีดังนี้:

(1) sannivesa สนฺนิเวส (สัน-นิ-เว-สะ) = การตั้งฐาน, การเตรียมตัว

(2) adhikāra อธิการ (อะ-ทิ-กา-ระ) = “การทำอย่างยิ่ง” > การลงมือทำ, เรื่องที่กำลังเกิด

(3) patiṭṭhāna ปติฏฺฐาน (ปะ-ติด-ถา-นะ) = “เหตุเฉพาะ” > เหตุเฉพาะหน้าหรือเฉพาะเวลาที่กำลังเป็นไป

(4) pada ปท (ปะ-ทะ) = ทางดำเนิน, เรื่องที่กำลังดำเนินไป

(5) avatthā อวตฺถา (อะ-วัด-ถา) = การกำหนด, การจัดวาง

(6) dasā ทสา (ทะ-สา) = ชายผ้า, ชายขอบ, เรื่องที่ยังจัดการไม่เสร็จ

ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สถานการณ์ : (คำนาม) เหตุการณ์ที่กําลังเป็นไป เช่น สถานการณ์บ้านเมืองเป็นปรกติดี.”

…………..

ดูประกอบ : “สถานการณ์ [1]” บาลีวันละคำ (560) 27-11-56

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หยุดเป็น

: เย็นทันที

#บาลีวันละคำ (3,810)

17-11-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *