บาลีวันละคำ

รัฐสภา (บาลีวันละคำ 3,833)

รัฐสภา

ที่ประชุมปรึกษากิจการบ้านเมือง

ไม่ใช่ที่ประชุมปรึกษาแบ่งปันผลประโยชน์ส่วนตัว

อ่านว่า รัด-ถะ-สะ-พา

ไม่ใช่ รัด-สะ-พา

ประกอบด้วยคำว่า รัฐ + สภา

(๑) “รัฐ”

บาลีเป็น “รฏฺฐ” อ่านว่า รัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –

(1) รฐฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, แปลง ฐต (คือ ฐ ที่ รฐ + ต ปัจจัย)เป็น ฏฐ ( -ฐต > -ฏฺฐ)

: รฐฺ + ต = รฐต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง”

(2) รชิ (ธาตุ = เจาะ, ทำลาย) + ต ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (รชิ > รช), แปลง ชต เป็น ฏฐ

: รชิ > รช + ต = รชต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง)

“รฏฺฐ” ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง

บาลี “รฏฺฐ” สันสกฤตเป็น “ราษฺฏฺร”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“ราษฺฏฺร : (คำนาม) ประเทศ; ราษฎร, ประชา; ชนวิบัททั่วไป; a realm or region, a country; the people; any public calamity.”

ในที่นี้ใช้ตามบาลีเป็น “รฏฺฐ” แต่ในภาษาไทย ท่านให้ตัด ฏ ปฏัก ออก “รฏฺฐ” จึงเขียนเป็น“รัฐ” ถ้าอยู่ท้ายคำ อ่านว่า รัด (เคยมีนิยมพูดกันเป็น รัด-ถะ อยู่บ้าง) ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า รัด-ถะ- เช่นในคำว่า “รัฐบาล” อ่านว่า รัด-ถะ-บาน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รฏฺฐ” ว่า reign, kingdom, empire; country, realm (รัฐ, อาณาจักร, จักรวรรดิ, ประเทศ, แผ่นดิน)

แม้ “ราษฎร” (ราษฺฏฺร) จะเป็นคำเดียวกับ “รัฐ” (รฏฺฐ) แต่ในภาษาไทยแยกความหมายกันชัดเจน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) รัฐ, รัฐ-

[รัด, รัดถะ-] (คำนาม) แคว้น เช่น รัฐปาหัง, บ้านเมือง เช่น กฎหมายสูงสุดของรัฐ, ประเทศ เช่น รัฐวาติกัน. (ป. รฏฺฐ; ส. ราษฺฏฺร).

(2) ราษฎร, ราษฎร์ ๑

[ราดสะดอน, ราด] (คำนาม) พลเมืองของประเทศ. (ส.).

(3) ราษฎร์ ๒

(คำนาม) แว่นแคว้น, บ้านเมือง. (ส.; ป. รฏฺฐ).

โปรดสังเกตในพจนานุกรม :

๑ เขียน “รัฐ” อ่านว่า รัด (ไม่ใช่ รัด-ถะ) เขียน “รัฐ-” (มีขีด- ท้าย) หมายถึงกรณีที่มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า รัด-ถะ- เช่น รัฐบาล อ่านว่า รัด-ถะ-บาน ไม่ใช่ รัด-บาน

๒ เขียน “ราษฎร” อ่านว่า ราด-สะ-ดอน เขียน “ราษฎร์” (การันต์ที่ ร) อ่านว่า ราด

๓ “ราษฎร” (ราด-สะ-ดอน) หมายถึงพลเมืองของประเทศ ไม่ได้หมายถึงแว่นแคว้น, บ้านเมือง แต่ “ราษฎร์” (ราด) หมายถึงพลเมืองของประเทศด้วย หมายถึงแว่นแคว้น, บ้านเมืองด้วย

(๒) “สภา”

อ่านว่า สะ-พา รากศัพท์มาจาก –

(1) สนฺต (คนดี) + ภา (ธาตุ = รุ่งเรือง) + กฺวิ ปัจจัย แปลง สนฺต เป็น ส, ลบ กฺวิ

: สนฺต > ส + ภา = สภา + กฺวิ = สภากฺวิ > สภา แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันรุ่งเรืองด้วยคนดี”

(2) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ภาสฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + กฺวิ ปัจจัย, ลบนิคหิตที่ สํ (สํ > ส), ลบ ส ที่สุดธาตุ (ภาสฺ > ภา) และลบ กฺวิ

: สํ > ส + ภาสฺ = สภาสฺ + กฺวิ = สภาสกฺวิ > สภาส > สภา แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มาประชุมกันพูด”

(3) สห (คำอุปสรรค = ร่วมกัน) + ภา (ธาตุ = พูด, กล่าว) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ ห ที่ สห (สห > ส) และลบ กฺวิ

: สห > ส + ภา = สภา + กฺวิ = สภากฺวิ > สภา แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่พูดร่วมกัน”

ตามความหมายเหล่านี้ “สภา” จึงเป็นเครื่องหมายของสังคมประชาธิปไตย คือ คนดีๆ มาปรึกษาหารือกันก่อนแล้วจึงลงมือทำกิจการต่างๆ ของบ้านเมือง

“สภา” (อิตถีลิงค์) ทั้งบาลี สันสกฤต และภาษาไทยใช้รูปเดียวกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

“สภา : (คำนาม) องค์การหรือสถานที่ประชุม เช่น สภาผู้แทนราษฎร สภาสตรีแห่งชาติ สภามหาวิทยาลัย วุฒิสภา. (ป., ส.).”

ในภาษาบาลี “สภา” หมายถึง “สถานที่” แต่ในภาษาไทยนอกจากหมายถึงสถานที่แล้ว ยังหมายถึง “องค์การ” (หรือองค์กร) คือศูนย์รวมกลุ่มบุคคลหรือกิจการที่ประกอบกันขึ้นเป็นหน่วยงาน เช่น

– สภาผู้แทนราษฎร

– สภาสตรีแห่งชาติ

– สภามหาวิทยาลัย

– วุฒิสภา

“สภา” ในความหมายนี้เล็งถึงความเป็น “หน่วยงาน” ไม่ได้เล็งถึง “สถานที่” หมายความว่า “สภา” ดังกล่าวนี้จะมีสถานที่ตั้งอยู่ที่ไหน หรือแม้แต่จะไม่มีสถานที่ตั้ง ก็มีฐานะเป็น “สภา” อยู่ในตัวแล้ว

รฏฺฐ + สภา = รฏฺฐสภา > รัฐสภา แปลตามศัพท์ว่า “ที่ประชุมแห่งบ้านเมือง”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“รัฐสภา : (คำนาม) องค์กรนิติบัญญัติ ทำหน้าที่บัญญัติกฎหมาย ประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร.”

“รัฐสภา” บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า parliament

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลีแปล parliament เป็นบาลีว่า:

mantisabhā มนฺติสภา (มัน-ติ-สะ-พา) = “ที่ประชุมของผู้มีความคิด”

ขยายความ :

เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า (อ่านเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565 เวลา 20:30 น.) ที่คำว่า “รัฐสภา” อมรรัตน์ รัตนกิจเจริญ เป็นผู้เรียบเรียง อธิบายความหมายของ “รัฐสภา” ไว้ดังนี้ –

…………..

ในระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนระบบรัฐสภา รัฐสภาคือ สถาบันนิติบัญญัติ และเป็นสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลการปกครอง การบริหารของฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน

…………..

และมีข้อความส่วนที่เป็น “บทนำ” บรรยายไว้ว่า –

(ปรับย่อหน้าวรรคตอนเพื่อให้อ่านง่าย)

…………..

การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนในระบบรัฐสภานั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ประชาชนในประเทศร่วมกันใช้สิทธิใช้อำนาจอธิปไตยเป็นส่วนรวม ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ มีสิทธิและหน้าที่ที่จะจัดการปกครองประเทศ รัฐบาลซึ่งเป็นองค์การจัดการปกครองประเทศจะเป็นของประชาชน โดยมีที่ประชุมของผู้แทนประชาชนซึ่งทำหน้าที่ปกครองประเทศเรียกว่า “รัฐสภา”

รัฐสภา เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยระบบนี้รัฐสภาจะมีอำนาจสูงสุด อำนาจศูนย์กลางอยู่ที่รัฐสภา

รัฐสภาจะเป็นแหล่งเดียวที่เป็น “ผู้แทน” ของประชาชนโดยตรง เป็นที่รวมและที่แสดงเจตจำนงสูงสุดของประชาชนทั้งหมด เป็นที่แสดงแนวความคิดและเป็นตัวแทนของการตัดสินใจของประชาชน โดยรัฐสภาจะต้องประกอบด้วยหลักการและทฤษฏีที่สำคัญของรัฐสภา จึงจะเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนระบบรัฐสภา

อำนาจหน้าที่ที่สำคัญของรัฐสภาคือ การตรากฎหมายมาใช้เป็นกฎเกณฑ์การปกครองประเทศ มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล และมีอำนาจหน้าที่อื่นๆ นอกจากนี้ รัฐสภายังเป็นที่มาของฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาลอีกด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่มีรัฐสภา ก็ยังพูดจากันได้

: แต่ถ้าไม่มีธรรมประจำใจ สภาไหนๆ ก็ไม่มีราคา

#บาลีวันละคำ (3,833)

10-12-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *