บาลีวันละคำ

บางคณฑี หรือ บางคนที (บาลีวันละคำ 3,852)

บางคณฑี หรือ บางคนที

ชื่อนี้มาจากไหน

อ่านว่า บาง-คน-ที

ประกอบด้วยคำว่า บาง + คณฑี และ บาง + คนที

คำว่า “บางคณฑี” หรือ “บางคนที” เป็นชื่ออำเภอในจังหวัดสมุทรสงคราม อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน บอกไว้ว่า –

…………..

บางคนที: อำเภอ ขึ้น จ.สุมทรสงคราม … ตั้งที่ว่าการที่ ต.กระดังงา ฝั่งซ้ายแม่น้ำแม่กลอง ทิศเหนือติดต่อกับ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ทิศตะวันออกติดต่อกับ อ.เมืองสมุทรสงคราม ทิศใต้ติดต่อกับ อ.อัมพวา ทิศตะวันตกติดต่อกับ อ.เมืองฯ จ.ราชบุรี การคมนาคมจากเมืองไปอำเภอโดยทางหลวงหมายเลข ๓๒๕ ระยะทาง ๑ กม. อ.บางคนที ตั้งเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ เดิมตั้งที่ว่าการที่ ต.สี่หมื่น เรียก อ.สี่หมื่น ภายหลังโอน ต.สี่หมื่น ไปขึ้น อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี จึงย้ายที่ว่าการไปตั้งที่ ต.กระดังงา ใกล้ ค.บางคนที และตั้งชื่อว่า อ.บางคนที

…………..

ตามอักขรานุกรมฯ ชื่อนี้สะกดเป็น “บางคนที”

แต่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนชื่ออำเภอ ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 11 ตุลาคม 2457 สะกดชื่อนี้เป็น “บางคณฑี” ตามข้อความต่อไปนี้ (ดูภาพประกอบ) –

…………..

ประกาศกระทรวงมหาดไทย

เปลี่ยนชื่ออำเภอ

ด้วยพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า อำเภอสี่หมื่น มณฑลราชบุรี ตั้งอยู่ที่ตำบลบางคณฑี ชื่ออำเภอยังไม่ตรงกับตำบลที่ตั้งอยู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่ออำเภอสี่หมื่น เรียกว่าที่ว่าการอำเภอบางคณฑี ตั้งแต่บัดนี้เปนต้นไป

ศาลาว่าการมหาดไทย

ประกาศ มาณวันที่ ๕ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗

(ลงพระนาม) ดำรงราชานุภาพ

เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

…………..

จึงเกิดคำถามว่า ชื่ออำเภอนี้ เป็น “บางคณฑี” หรือ “บางคนที”

(๑) “บาง”

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

“บาง ๑ : (คำนาม) ทางนํ้าเล็ก ๆ, ทางนํ้าเล็กที่ไหลขึ้นลงตามระดับนํ้าในแม่นํ้า ลำคลอง หรือทะเล; ตำบลบ้านที่อยู่หรือเคยอยู่ริมบางหรือในบริเวณที่เคยเป็นบาง เช่น บางใหญ่ บางคูเวียง บางกรวย, โดยปริยายหมายถึง ทั้งหมู่ เช่น ฆ่าล้างบาง ย้ายล้างบาง.”

(๒) “คณฑี”

อ่านว่า คน-ที เทียบกับคำบาลีว่า “คณฺฑี” (มีจุดใต้ ณฺ) อ่านว่า คัน-ที รากศัพท์มาจาก –

(1) คฑิ (ธาตุ = สะสม) อี ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น ณ (คฑิ > คํฑิ > คณฺฑิ, ลบสระหน้า คือ อิ ที่ คฑิ (คฑิ > คฑ)

: คฑิ > คํฑิ > คณฺฑิ, > คณฺฑ + อี = คณฺฑี แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นที่สะสม”

(2) คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ฑ ปัจจัย + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์, แปลง มฺ เป็น ณ

: คมฺ + ฑ = คมฺฑ > คณฺฑ + อี = คณฺฑี แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ถึงความพองขึ้น”

“คณฺฑี” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ลำต้น, ก้าน (a stalk, a shaft)

(2) ก้อน, ปุ่มไม้ (a lump, a block of wood)

(3) ชื่อของพืช (N. of a plant)

บาลี “คณฺฑี” (คัน-ที) ใช้ในภาษาไทยเป็น “คณฑี” (คน-ที) คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

คำที่มีเสียงคล้ายกันคำหนึ่งคือ “กุณฑี” บาลีเป็น “กุณฺฑี” (มีจุดใต้ ณฺ) อ่านว่า กุน-ที แปลว่า คนโทน้ำ, เหยือกน้ำ, ลักจั่นน้ำ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

“กุณฑี : (คำนาม) คนที, หม้อนํ้า, หม้อนํ้ามีหู, เต้านํ้า, เช่น พลูกัดชลกุณฑีลูกไม้. (โลกนิติ). (ป., ส.).”

โปรดสังเกตว่า “กุณฑี” พจนานุกรมฯ บอกว่าคือ “คนที”

(๓) “คนที”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “คนที” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) คนที ๑ : (คำนาม) กุณฑี, หม้อนํ้า, หม้อนํ้ามีหู, เต้านํ้า.

(2) คนที ๒ : (คำนาม) ชื่อไม้พุ่มชนิด Vitex rotundifolia L.f. ในวงศ์ Labiatae ขึ้นตามชายทะเล ลำต้นเลื้อย ใบและดอกเหมือนคนทีสอ ใช้แก้พิษแมงกะพรุน, คนทิสอทะเล ก็เรียก.

อภิปรายขยายความ :

“คนที ๑” พจนานุกรมฯ บอกว่า “กุณฑี” นั่นคือ “คนที” กลายรูปและเสียงมาจาก “กุณฑี” ซึ่งเป็นคำบาลี

“คนที ๒” พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่าเป็นภาษาอะไร แต่คำนิยามที่ว่า “ชื่อไม้พุ่ม … ขึ้นตามชายทะเล” ชวนให้คิดเทียบกับความหมายของคำว่า “คณฺฑี” ในบาลี ในข้อ (3) ที่บอกว่า “ชื่อของพืช” (N. of a plant)

อาจเป็นไปได้ว่า พื้นที่บริเวณที่ตั้งอำเภอนี้มีต้น “คณฺฑี” ขึ้นอยู่มาก (ต้นไม้ชนิดนี้ พจนานุกรมฯ บอกว่า “ขึ้นตามชายทะเล”) ชื่อเดิมที่เปลี่ยนจากอำเภอสี่หมื่น จึงสะกดเป็น “บางคณฑี” ตามชื่อต้น “คณฺฑี”

แต่ต่อมา คนที่ไม่เข้าใจไปเขียนชื่อต้นไม้ชนิดนี้ตามเสียงที่อ่านว่า คน-ที จาก “คณฑี” เป็น “คนที” ชื่ออำเภอนี้จึงเพี้ยนไป

เป็นอีกคำหนึ่งที่เข้าหลัก “ผิดจนถูก” ใช่หรือไม่?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แต่ชื่อเดียวเจียวยังกลายเป็นหลายกล

: นี่หรือคนจะมีกลายเป็นหลายใจ

#บาลีวันละคำ (3,852)

29-12-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *