บาลีวันละคำ

ฤๅษีนารอด (บาลีวันละคำ 3,854)

ฤๅษีนารอด

ลากเข้าไปจอดในวัดได้อีกคำหนึ่ง

อ่านว่า รือ-สี-นา-รอด

ประกอบด้วยคำว่า ฤๅษี + นารอด

(๑) “ฤๅษี”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

(1) ฤษี : (คำนาม) ฤๅษี, นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบําเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ. (ส. ฤษี ว่า ผู้เห็น, ผู้แต่งพระเวท; ป. อิสิ).

(2) ฤๅษี : (คำนาม) ฤษี, นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบําเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ.

ที่คำว่า “ฤษี” พจนานุกรมฯ บอกไว้ในวงเล็บตอนท้ายว่า “ป. อิสิ”

“ป.” ย่อมาจาก “ปาลิ” คือ ภาษาบาลี

เป็นอันได้คำตอบว่า “ฤษี – ฤๅษี” ภาษาบาลีว่า “อิสิ”

“อิสิ” อ่านเท่าตัวว่า อิ-สิ รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = แสวงหา; ปรารถนา; ไป) + อิ ปัจจัย

: อิสฺ + อิ = อิสิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้แสวงหาคุณธรรม” (2) “ผู้ปรารถนาสิวะคือพระนิพพาน” (3) “ผู้ไปสู่สุคติ”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิสิ” ว่า a holy man, one gifted with special powers of insight & inspiration, an anchoret, a Seer, Sage, Saint (คนศักดิ์สิทธิ์, ผู้มีพรสวรรค์เกี่ยวกับกำลังภายใน และผู้มีตาทิพย์, โยคี, ฤๅษี, มุนี, นักบุญ)

ในการพูดกันทั่วไปในภาษาไทย แทบจะไม่มีใครรู้จักคำว่า “อิสิ” แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ยังอุตส่าห์เก็บคำว่า “อิสิ” และ “อิสี” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –

“อิสิ, อิสี : (คำนาม) ผู้แสวงคุณความดี, ฤษี, ผู้ถือบวช. (ป.; ส. ฤษิ).”

บาลี “อิสิ” สันสกฤตเป็น “ฤษิ”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“ฤษิ : (คำนาม) พระฤษี [พระฤษีมีอยู่ ๗ จำพวก คือ สฺรุตรฺษิ, กานฺทรฺษิ, ปรมรฺษิ, มหรฺษิ, ราชรฺษิ, พฺรหฺมรฺษิ, เทวรฺษิ]; พระเวท; แสง; a sanctified personage [there are seven orders of these saints, as Srutarshi, Kāntarshi, Paramrshi, Maharshi, Rājarshi, Brahmarshi, and Devarshi]; a Veda; a ray of light.”

โปรดระวัง คำว่า “ฤๅษี” อย่าเขียนผิดเป็น “ฤาษี”

เครื่องหมาย “ๅ” หลัง “ฤ” ไม่ใช่สระอา สระอาต้องหางสั้น “า” แบบนี้ เครื่องหมาย “ๅ” นี้ เป็นส่วนควบของอักษร ทำนองเดียวกับ ญ หญิง มีเชิง ฐ ฐาน มีเชิง เชิงนั้นคือส่วนควบของอักษร ญ และ ฐ เครื่องหมาย “ๅ” ก็คือส่วนควบของ “ฤ” และ “ฦ”

“ฤ” อ่านว่า รึ

“ฤๅ” (ไม่ใช่ “ฤา”) อ่านว่า รือ

“ฦ” อ่านว่า ลึ

“ฦๅ” (ไม่ใช่ “ฦา”) อ่านว่า ลือ

ดังนั้น “ฤาษี” จึงไม่มี

มีแต่ “ฤๅษี”

(๒) “นารอด”

อ่านว่า นา-รอด รูปและเสียงเป็นคำไทย แต่เนื่องจากเป็นชื่อฤๅษี และฤๅษีตนนี้ไม่ใช่คนไทย คำว่า “นารอด” จึงไม่ควรจะเป็นคำไทย

เมื่อคำว่า “ฤๅษี” เป็นสันสกฤต คำว่า “นารอด” ก็ควรจะเป็นสันสกฤตหรือบาลีด้วย

คำบาลีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือคำว่า “นารท”

คัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี (อรรถกถาคัมภีร์อปทานในพระไตรปิฎก) ภาค 2 หน้า 248 ตอนเอกปสาทนิยเถราปทาน อธิบายที่มาของชื่อ “นารท” ไว้ว่า –

…………..

ชาติวเสน สุทฺธสรีรตฺตา นตฺถิ รโช ธูลิ มลํ เอตสฺสาติ นารโท ชการสฺส ทการํ กตฺวา นารโทติ กุลทตฺติกํ นามํ ฯ

…………..

แปลแบบขยายความว่า –

ชาติวเสน สุทฺธสรีรตฺตา นตฺถิ รโช ธูลิ มลํ เอตสฺสาติ นารโท

ชื่อ “นารท” มาจากเหตุที่ว่า ร่างกายของผู้นี้ไม่มีรชะ (ฝุ่นละออง) ธูลิ (ธุลี) มละ (มลทิน) เนื่องจากรูปร่างผิวพรรณบริสุทธิ์ผุดผ่องตามชาติกำเนิด

ชการสฺส ทการํ กตฺวา

เอาอักษร “น” จากคำว่า “นตฺถิ” (แปลว่า ไม่มี) มาทีฆะ อะ เป็น อา จึงเป็น “นา” + “รช” (แปลว่า ฝุ่นละอองธุลีมลทิน) = นารช แปลง ช เป็น ท = นารท

นารโทติ กุลทตฺติกํ นามํ ฯ

คำว่า “นารท” เป็นชื่อตามตระกูล

…………..

: นตฺถิ > น + รช = นรช > นารช > นารท (นา-ระ-ทะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่มีฝุ่นละอองติดตัว” = ผู้มีผิวพรรณงดงาม

คำว่า “นารท” ในหมู่นักเรียนบาลีมักเขียนตามเสียงอ่านเป็น “นารทะ” (มีสระอะ หลัง ท) แต่ถ้าเขียนเท่ารูปบาลีเป็น “นารท” แล้วอ่านแบบไทย ก็จะอ่านว่า นา-รด

เสียง นา-รด นั่นเองที่เพี้ยนไปเป็น นา-รอด

บาลี “นารท” สันสกฤตก็เป็น “นารท”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“นารท” : (คำนาม) นามของนารท, ผู้โอรสพระพรหม, และเปนมุนิหรือฤษีองค์หนึ่งในจำนวนสิบ; เธอเปนพระสหายของพระกฤษณ, เปนศาสตฤผู้ลือนาม, และเปนผู้ต้นคิดสร้างพิณขึ้น; ไทโบราณเรียกว่า – ‘พระฤษีนารท;’ a name of Nārada, the son of Brahmā, and one of the ten divine Munis or Rishis; he is a friend of Krishṇa, a celebrated legislator, and inventor of the lute or Vīnā; the Śiamese of old called him ‘Rishī Nārod.’ ”

โปรดสังเกต คำว่า ‘พระฤษีนารท’ เขียนอักษรโรมันเป็น ‘Rishī Nārod’

‘Nārod’ ถอดรูปเป็นไทยเท่ากับ “นารอด” พอดี!

แต่โปรดอย่าลืม คำบาลีสันสกฤตเมื่อเขียนเป็นอักษรโรมัน ตัว D เท่ากับ ท ทหาร ไม่ใช่ ด เด็ก

‘Nārod’ คือ “นารท” (นา-รด) ไม่ใช่ “นารอด”!

ฤๅษี + นารท = ฤๅษีนารท > รือ-สี-นา-รด > รือ-สี-นา-รอด > ฤๅษีนารอด

๑ จากชื่อเดิม “ฤๅษีนารท” อ่านแบบไทยว่า รือ-สี-นา-รด

๒ แล้วเรียกเพียนเป็น รือ-สี-นา-รอด

๓ ในที่สุดก็สะกดตามเสียงที่เรียกเพี้ยนโดยไม่คำนึงถึงรูปตำเดิมเป็น “ฤๅษีนารอด” ไปด้วยประการฉะนี้

ขยายความ :

คำว่า “นารท” ในบาลี เป็นชื่อบุคคลในหลายสถานะ DICTIONARY OF PALI PROPER NAMES ของ G.P. MALALASEKERA แสดงรายชื่อ Nārada (นารท) ไว้ 18 คำ สรุปได้ดังนี้ –

เป็นพระพุทธเจ้า 2

เป็นพระอรหันตสาวก 3

เป็นฤๅษี 4

เป็นบัณฑิต 2

เป็นกษัตริย์, พราหมณ์, เสนาบดี, หมอแพทย์, มหาพรหม, ยักษ์ และเทวดา อย่างละ 1

อภิปราย :

คำว่า “ฤๅษีนารอด” นี้ ขอบเขตของบาลีวันละคำมีเพียงแค่แสดงรากศัพท์หรือที่ไปที่มาของศัพท์เท่านั้น ตัว “ฤๅษีนารอด” เป็นใครมาจากไหน ตลอดจนมีอิทธิฤทธิ์ทางไหน ท่านผู้สนใจ-โดยเฉพาะท่านผู้ศรัทธาเลื่อมใส-พึงศึกษาสืบสวนเรียนรู้ตามอัธยาศัยเถิด

เดี๋ยวนี้ ในวัดหลายแห่ง-มากแห่ง-มีรูปเคารพของฤๅษี ของเทพ ของเจ้า ตลอดจนของท่านผู้ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เข้าไปประดิษฐานควบคู่ไปกับพระพุทธปฏิมาหนาตาขึ้น และนับวันก็จะมีมากขึ้นไปเรื่อยๆ เหตุผลสำคัญก็คือ เพื่อสนองศรัทธาของประชาชน

ผู้มีปัญญา เมื่อจะนับถือเลื่อมใส ควรรู้ว่าตนกำลังนับถือเลื่อมใสใครและด้วยเหตุผลอะไร

ถ้าประชาชนมีปัญญาเช่นว่านี้ก็รอดตัวไป

แต่ถ้าไม่มี ก็ไปไม่รอด

ถ้ายึดศรัทธาของประชาชนเป็นที่ตั้ง วันหนึ่ง พุทธสถานก็จะกลายเป็นเทวสถานไปในที่สุด-ด้วยฝีมือชาวพุทธด้วยกันนี่เอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระพุทธศาสนาเหมือนม้าอารี

: ในที่สุดก็จะไม่มีแม้ที่จะยืน

#บาลีวันละคำ (3,854)

31-12-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *