ศาสตราภิชาน (บาลีวันละคำ 3,853)
ศาสตราภิชาน
รู้ก็ยากเย็น เป็นก็ยากยิ่ง
ประกอบด้วยคำว่า ศาสตร + อภิชาน
(๓) “ศาสตร”
เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “สตฺถ” (สัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ (ส)-สฺ เป็น ตฺ
: สสฺ + ถ = สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์” คำเดิมหมายถึง “ของมีคม” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศสฺตฺร” แปลว่า ดาบ, มีด, อาวุธ ใช้ในภาษาไทยว่า ศัสตรา หรือ ศาสตรา บางทีก็พูดควบกันว่า ศาสตราวุธ หรือ ศาสตราอาวุธ (weapon, sword, knife)
(2) สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ถ ปัจจัย แปลง รฺ เป็น ตฺ
: สรฺ + ถ = สรฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “หมู่เป็นที่เป็นไปแห่งส่วนย่อยทั้งหลาย” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “สารฺถ” หมายถึง กองเกวียนของพ่อค้า, กองคาราวาน, ขบวนยานพาหนะ (caravan)
(3) สาสฺ (ธาตุ = สอน) + ถ ปัจจัย, รัสสะ (หดเสียง) อา ที่ สา-(สฺ) เป็น อะ (สาสฺ > สสฺ), แปลง สฺ เป็น ตฺ
: สาสฺ + ถ = สาสฺถ > สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องสอนเนื้อความ” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศาสฺตฺร” หมายถึง คัมภีร์, ตำรา, ศิลปะ, วิชาความรู้ (science, art, lore)
“ศาสตร” มีความหมาย 2 อย่าง คือ
(ก) หมายถึง “ของมีคม” ตามบาลี “สตฺถ” ในข้อ (1) ความหมายนี้สันสกฤตเป็น “ศสฺตฺร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศัสตระ,’ อายุธ, อาวุธทั่วไป; เหล็ก; เหล็กกล้า; ดาพ, กระบี่; มีด, พร้า; a weapon in general, iron; steel; a sword; a knife.”
ความหมายนี้ในภาษาไทยสะกดเป็น “ศัสตรา” และ “ศาสตรา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ศัสตรา, ศัสตราวุธ : (คำนาม) ของมีคมเป็นเครื่องฟันแทง, อาวุธต่าง ๆ. (ส.).
(2) ศาสตรา : (คำนาม) ศัสตรา.
(ข) หมายถึง “วิชาความรู้” ตามบาลี “สตฺถ” ในข้อ (3) ความหมายนี้สันสกฤตเป็น “ศาสฺตฺร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศาสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศาสตร์’ คำสั่งหรือบัญชา; เวท, วิทยา, ธรรมศาสตร์, กฎหมาย; หนังสือทั่วไป; an order or command; scripture or Veda, science, institutes of religion, law; a book in general.”
ความหมายนี้ในภาษาไทยสะกดเป็น “ศาสตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศาสตร-, ศาสตร์ : (คำนาม) ระบบวิชาความรู้, มักใช้ประกอบหลังคําอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์. (ส.).”
ในที่นี้ สะกดเป็น “ศาสตร” หมายถึง ระบบวิชาความรู้
(๒) “อภิชาน”
บาลีอ่านว่า อะ-พิ-ชา-นะ รากศัพท์มาจาก อภิ (คำอุปสรรค = เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน) + ญา (ธาตุ = รู้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง ญา เป็น ชา
: อภิ + ญา = อภิญา + ยุ > อน = อภิญาน > อภิชาน (อะ-พิ-ชา-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “รู้ยิ่ง”
“อภิชาน” ใช้เป็นคำนาม แปลว่า “การรู้ยิ่ง” ใช้เป็นคุณศัพท์ แปลว่า “ผู้รู้ยิ่ง”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อภิชาน” ว่า recognition, remembrance, recollection (การรู้ยิ่ง, ความทรงจำ, ความจำได้หรือระลึกได้)
ศาสตร + อภิชาน = ศาสตราภิชาน แปลว่า (1) การรู้ยิ่งในระบบความรู้ (2) ผู้รู้ยิ่งในระบบความรู้
“ศาสตราภิชาน” เป็นศัพท์บัญญัติ เทียบอังกฤษว่า distinguished scholar
ผู้บัญญัติคำนี้อาจเล็งความหมายไปที่ “ศาสตราจารย์ผู้มีความรู้อย่างยิ่ง” ก็เป็นได้
ขยายความ :
หน้า “คลังความรู้” ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา (อ่านเมื่อ 30 ธันวาคม 2565 เวลา 20:30 น.) มีคำว่า “ศาสตราภิชาน” จินดารัตน์ โพธิ์นอก เป็นผู้เขียน เผยแพร่เมื่อ 29 ตุลาคม 2557 มีข้อความดังนี้ –
(ปรับย่อหน้าวรรคตอนเพื่อให้อ่านง่าย)
…………..
ศาสตราภิชาน
ศาสตราจารย์ (professor) เป็นตำแหน่งทางวิชาการสูงสุดในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นจาก อาจารย์ (instructor) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (assistant professor) รองศาสตราจารย์ (associate professor) และศาสตราจารย์ (professor) ตามลำดับ
ส่วน ศาสตราภิชาน (distinguished scholar) นั้น คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย ราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า หมายถึง ตำแหน่งที่ไม่ใช่การกำหนดตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัย แต่งตั้งเพื่อจูงใจผู้ทรงคุณวุฒิมาทำงานในมหาวิทยาลัย เป็นตำแหน่งที่ได้รับเงินสนับสนุนอย่างพอเพียงจากแหล่งทุนภายนอกมหาวิทยาลัย
ผู้ได้รับการแต่งตั้งอาจเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ หรือนักวิชาการที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางวิชาการก็ได้ เป็นตำแหน่งที่กำหนดภารกิจชัดเจน มีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งและมีค่าตอบแทนของแต่ละตำแหน่งไม่เท่ากัน
ศาสตราภิชานเป็นตำแหน่งที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งเพื่อเป็นเกียรติและยกย่องผู้มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานทางวิชาการดีเด่น และเป็นผู้ทรงคุณธรรม ตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการแต่งตั้งศาสตราภิชาน พ.ศ.๒๕๕๒ กำหนดวัตถุประสงค์ของการแต่งตั้งศาสตราภิชาน ดังนี้
๑) ยกย่องผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ
๒) เป็นกำลังใจแก่ผู้เชี่ยวชาญที่อุทิศตนเพื่อวิชาการ
๓) สนับสนุนให้มีการพัฒนาทางวิชาการ
ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราภิชาน มีสิทธิใช้คำว่า “ศาสตราภิชานเงินทุน…” แล้วตามด้วยชื่อเงินทุนศาสตราภิชานนั้น ๆ ตามประกาศแต่งตั้งของสภามหาวิทยาลัยต่อท้ายชื่อของตนเองตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งศาสตราภิชาน
ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราภิชาน ได้รับเงินสมนาคุณสำหรับตำแหน่ง จากเงินทุนศาสตราภิชานนั้น ๆ ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่ง โดยมีพันธกิจที่จะปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทางวิชาการแก่มหาวิทยาลัยตามที่ตกลง.
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รู้เรื่องศีลอย่างช่ำชอง
: ไม่ใช่คำรับรองว่าจะมีศีล
#บาลีวันละคำ (3,853)
30-12-65
…………………………….
……………………………