ท่าอากาศยาน (บาลีวันละคำ 3,856)
ท่าอากาศยาน
ไปนิพพานไปท่าไหน
ประกอบด้วยคำว่า ท่า + อากาศ + ยาน
(๑) “ท่า”
เป็นภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ท่า ๑ : (คำนาม) ฝั่งนํ้าสำหรับขึ้นลงหรือจอดเรือ, ท่านํ้า ก็เรียก; โดยปริยายหมายถึงที่จอดยานพาหนะบางชนิด เช่น ท่าเกวียน ท่ารถขนส่ง ท่าอากาศยาน; เรียกนํ้าในแม่นํ้าลำคลอง ว่า นํ้าท่า, คู่กับ นํ้าฝน.”
(๒) “อากาศ”
บาลีเป็น “อากาส” (ส เสือ สะกด) อ่านว่า อา-กา-สะ รากศัพท์มาจาก น (คำนิบาตบอกความปฏิเสธ = ไม่, ไม่ได้, ไม่ใช่) + กส (ธาตุ = ไถ, เขียน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง น เป็น อ (อะ) แล้วทีฆะ อ เป็น อา, ทีฆะ อะ ที่ ก-(สฺ) เป็น อา (กสฺ > กาส)
: น + กสฺ = นกสฺ + ณ = นกสณ > นกส > อกส > อากส > อากาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาพอันใครไถไม่ได้” (2) “สภาพอันใครเขียนไม่ได้” หมายถึง อากาศ, ท้องฟ้า, บรรยากาศ, ช่องว่าง (air, sky, atmosphere; space)
บาลี “อากาส” ใช้ในภาษาไทยเขียนตามสันสกฤตเป็น “อากาศ” (ศ ศาลา สะกด) อ่านว่า อา-กาด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายในภาษาไทยไว้ดังนี้ –
(1) แก๊สผสมที่ประกอบด้วยไนโตรเจนและออกซิเจนเป็นส่วนใหญ่ ใช้หายใจหรือช่วยในการเผาไหม้เป็นต้น
(2) (ความหมายเชิงปรัชญา) ที่ที่ว่างเปล่าซึ่งมีอยู่เป็นเอกเทศจากสสาร, เป็นธาตุอย่าง 1 ใน 6 คือ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) อาโปธาตุ (ธาตุนํ้า) เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) วาโยธาตุ (ธาตุลม) อากาศธาตุ (ที่ว่างเปล่า) และวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้)
(3) ท้องฟ้า เช่น นกบินไปในอากาศ
(4) บางทีใช้หมายถึงสภาพดินฟ้าอากาศโดยทั่ว ๆ ไป เช่น เช้านี้อากาศดีจัง
ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป “อากาศ” คือ ที่ว่างเปล่า ไม่มีอะไร
(๓) “ยาน”
บาลีอ่านว่า ยา-นะ รากศัพท์มาจาก ยา (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ยา + ยุ > อน = ยาน แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องไปสู่ที่ปรารถนา” หรือ “สิ่งสำหรับทำให้เคลื่อนไป”
“ยาน” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง –
(1) การไป, การดำเนินไป (going, proceeding)
(2) ยาน, พาหนะ (carriage, vehicle)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“ยาน ๑ : (คำนาม) เครื่องนําไป, พาหนะต่าง ๆ เช่น รถ เกวียน เรือ, มักใช้เข้าคู่กับคำ พาหนะ เป็น ยานพาหนะ. (ป., ส.).”
การประสมคำ :
๑ อากาส + ยาน = อากาสยาน (อา-กา-สะ-ยา-นะ) > อากาศยาน (อา-กาด-สะ-ยาน)
“อากาศยาน” เป็นคำที่ใช้ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“อากาศยาน : (คำนาม) เครื่องนําไปทางอากาศ, ยานที่แล่นไปในอากาศ เช่น เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์.”
๒ ท่า + อากาศยาน = ท่าอากาศยาน
“ท่าอากาศยาน” เป็นคำที่ใช้ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“ท่าอากาศยาน : (คำนาม) ที่สําหรับเครื่องบินขึ้นลง ประกอบด้วยลานจอดเครื่องบิน ลู่เครื่องบินขึ้นลง โรงเก็บอุปกรณ์การบิน หอบังคับการบิน ที่ทําการของเจ้าหน้าที่ และที่พักผู้โดยสารเข้าออกเป็นต้น, (ปาก) สนามบิน.”
อภิปรายขยายความ :
๑ คำว่า “ท่า”
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลคำว่า port เป็นบาลีว่า:
(1) paṭṭana ปฏฺฏน (ปัด-ตะ-นะ) ท่าเรือ, ท่าจอดยานพาหนะ
(2) tittha ติตฺถ (ติด-ถะ) ท่าน้ำ, ท่าเรือ
(๒) คำว่า “อากาศยาน”
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลคำว่า airship เป็นบาลีว่า:
vyomayāna วฺโยมยาน (วฺโย-มะ-ยา-นะ) = ยานที่ไปในท้องฟ้า
โปรดสังเกตว่า ไม่ได้ใช้คำว่า “อากาสยาน” เหมือนบาลีไทย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไปในท้องฟ้า อาศัยอากาศยาน
: ไปพระนิพพาน อาศัยอะไร?
ใครคิดได้ ก็ไปพระนิพพานได้
#บาลีวันละคำ (3,856)
02-12-65
…………………………….
……………………………