สันนิบาต (บาลีวันละคำ 538)
สันนิบาต
อ่านว่า สัน-นิ-บาด
บาลีเป็น “สนฺนิปาต” อ่านว่า สัน-นิ-ปา-ตะ
ประกอบด้วย สํ + นิ + ปาต
สํ (คำอุปสรค = พร้อมกัน) + นิ (คำอุปสรค = ลง) + ปต (ธาตุ = ตก) + ณ ปัจจัย
กฎ : แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น น, ยืดเสียงที่พยางค์แรกของธาตุ คือ ป เป็น ปา (ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “ทีฆะ อะ เป็น อา”) (ทั้งนี้ด้วยอำนาจของ ณ ปัจจัย), ลบ ณ
: สํ > สนฺ + นิ = สนฺนิ + ปต > ปาต + ณ = สนฺนิปาต
“สนฺนิปาต – สันนิบาต” แปลตามศัพท์ว่า “การตกลงพร้อมกันโดยไม่เหลือ” มีความหมายว่า การรวมกัน, การมาบรรจบกัน, การประชุม, การชุมนุมกัน, ที่ประชุม. เรียกทับศัพท์ว่า การสันนิบาต (ฝรั่งแปลคำนี้ว่า union, coincidence, assemblage, assembly, congregation)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายของ “สันนิบาต” ไว้ว่า –
1. การประชุม, ที่ประชุม, เช่น สังฆสันนิบาต สันนิบาตชาติ, งานชุมนุม เช่น รัฐบาลจัดงานสโมสรสันนิบาตที่ทำเนียบรัฐบาล
2. เรียกไข้ชนิดหนึ่งมีอาการสั่นเทิ้ม ชักกระตุก และเพ้อ ว่า ไข้สันนิบาต เช่น ไข้สันนิบาตลูกนก ไข้สันนิบาตหน้าเพลิง
ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามี “สันนิบาต” (การประชุม-ชุมนุม) สำคัญที่ควรทราบ คือ
1. เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศหลักคำสอนเพื่อให้พระสงฆ์สาวกนำไปแสดงแก่ประชาชนได้ถูกต้องตรงกัน เรียกว่า “สาวกสันนิบาต” (ที่เรารู้จักกันในนาม “จาตุรงคสันนิบาต”)
2. เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอรหันตสาวกประชุมกันรวบรวมตรวจสอบคำสอนเพื่อให้รู้ทั่วกันว่า ข้อไหนที่ตรัสสอน ข้อไหนที่ไม่ใช่คำตรัสอน ก็เรียกว่า “สันนิบาต” (ที่เรารู้จักกันในนาม “สังคายนา”)
จาก “สันนิบาต – การตกลงพร้อมกันโดยไม่เหลือ”
สู่ “สันนิบาต – การชุมนุมกัน”
: ถ้า สภาสันนิบาต > ตกลงพร้อมกันโดยไม่เหลือแง่งำให้ระแวงหวาด
: ก็ไม่ต้องมี ประชาสันนิบาต > การชุมนุมกันของประชาชนให้วุ่นวาย
5-11-56