บาลีวันละคำ

พล กับ พลว- ต่างกันอย่างไร (บาลีวันละคำ 3,868)

พล กับ พลว- ต่างกันอย่างไร

พล กับ พลว– ต่างกันอย่างไร

เรียนรู้ไว้ จะได้ไม่ใช้ผิดๆ

(๑) “พล” 

บาลีอ่านว่า พะ-ละ รากศัพท์มาจาก พลฺ (ธาตุ = มีชีวิต, ระวัง, ครอบงำ) + (อะ) ปัจจัย 

: พล + = พล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เหตุอันทำให้มีชีวิตอยู่ได้” “ผู้เฝ้าระวัง” “ผู้ครอบงำศัตรู

พล” ใช้ในความหมาย 2 อย่างคือ –

(1) ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ (strength, power, force)

(2) กองทัพ, กองกำลังทหาร (an army, military force)

คำที่เขียนว่า “พล” ในภาษาไทย :

– ถ้าใช้ตามลำพังอ่านว่า พน 

– ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า พน-ละ- ก็มี อ่านว่า พะ-ละ- ก็มี 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

(1) กําลัง, มักใช้ประกอบคําอื่น เช่น พระทศพล อันเป็นพระนามพระพุทธเจ้า หมายความว่า ทรงมีพระญาณอันเป็นกำลัง ๑๐ ประการ มี ฐานาฐานญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและสิ่งที่มิใช่ฐานะเป็นต้น.

(2) ทหาร เช่น กองพล ตรวจพล ยกพลขึ้นบก.

(3) สามัญ, ธรรมดา ๆ, พื้น ๆ, เช่น ของพล ๆ.

(4) ยศทหารและตํารวจสัญญาบัตร รองจากจอมพล (เดิมใช้ว่า นายพล).

(๒) “พลว-” 

อ่านว่า พะ-ละ-วะ คำเดิมคือ พล (พะ-ละ) ที่เราคุ้นกันดีอยู่แล้ว แปลว่า “กำลัง” + วนฺตุ (วัน-ตุ) ปัจจัย แปลว่า “มี” ทำให้คำนามธรรมดากลายเป็นคำคุณศัพท์ (adjective) 

: พล + วนฺตุ = พลวนฺตุ (พะ-ละ-วัน-ตุ) แปลว่า “มีกำลัง” คือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ “มีกำลัง” อยู่ในตัว และสามารถขับเคลื่อนสิ่งอื่นๆ ไปได้ คำรูปเช่นนี้ใช้เป็นคุณศัพท์ คือทำหน้าที่ขยายคำอื่น 

ขยายความ :

ถ้าขยายคำนามที่เป็นปุงลิงค์ “วนฺตุ” กลายรูปเป็น “-วา” เช่นคำว่า “ภควา” ที่หมายถึงพระพุทธเจ้า แปลว่า “ผู้มีโชค” 

ถ้าขยายคำนามที่เป็นอิตถีลิงค์ “วนฺตุ” กลายรูปเป็น “-วตี” คำว่า “-วดี” ที่เคยนิยมใช้ลงท้ายชื่อผู้หญิง เช่น “ปทุมวดี” “รัตนาวดี” ก็มาจาก “วนฺตุ” ปัจจัยตัวนี้ 

คำว่า “พลวปัจจัย” “พลว-” รูปคำเดิมคือ “พลวนฺตุ” (พะ-ละ-วัน-ตุ) ขยายคำว่า “ปจฺจย” ซึ่งเป็นปุงลิงค์ 

พลวนฺตุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “พลวา” (พะ-ละ-วา) 

: พลวนฺตุ > พลวา 

พลวา” เมื่อมีศัพท์อื่นมาสมาสข้างท้าย รัสสะ อา เป็น อะ จึงเป็น “พลว-”

คำว่า “พลว-” โปรดสังเกตขีด – ข้างท้าย หมายความว่า คำรูปนี้ต้องมีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายเสมอ ไม่มีที่ใช้เดี่ยวๆ

ใช้เดี่ยวๆ เช่นเขียนว่า “พลวะ” แบบนี้ไม่มีใช้ ไม่มีใครพูดเดี่ยวๆ แบบนี้

มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่น “พลวปัจจัย” (พะ-ละ-วะ-ปัด-ไจ) แบบนี้มีใช้

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พลว– : (คำวิเศษณ์) มีกําลัง, แข็งแรง, มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส เช่น พลวเหตุ คือ เหตุแข็งแรง เหตุที่มีกําลังกล้า. (ป.).”

ความแตกต่าง :

พล” แปลว่า “กำลัง

พลว-” แปลว่า “มีกำลัง” ไม่ใช่ “กำลัง” เฉยๆ

ทดสอบความเข้าใจ :

ในการพูดตั้งเจตนาว่า “ขอคุณพระศรีรัตนตรัยและอานุภาพแห่งบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญในครั้งนี้ จงเป็น … ปัจจัย อำนวยให้เกิดผลที่ปรารถนา” 

จะใช้คำว่า “จงเป็นพลปัจจัย” 

หรือ “จงเป็นพลวปัจจัย” 

ด้วยเหตุผลอะไร?

แถม :

พลวปัจจัย” สะกดอย่างนี้ 

ไม่ต้องประวิสรรชนีย์กลางคำเป็น “พลวะปัจจัย

พลวปัจจัย” ถูก

พลวะปัจจัย” ผิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สะกดผิดก็ไม่ตกนรก

: แต่ไม่ตกนรกด้วย สะกดถูกด้วย ดีกว่า

#บาลีวันละคำ (3,868)

14-1-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *