วิหค (บาลีวันละคำ 3,876)
วิหค
วิหค
หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง
อ่านว่า วิ-หก
“วิหค” บาลีอ่านว่า วิ-หะ-คะ รากศัพท์มาจาก วิห (ฟ้า, อากาศ) + คมฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดที่สุดธาตุและ กฺวิ
: วิห + คมฺ = วิหคมฺ + กฺวิ = วิหคมกฺวิ > วิหคม > วิหค แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปในท้องฟ้า” หมายถึง นก
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิหค” ว่า a bird [lit. going through the sky] (นก [ตามตัว. ไปในท้องฟ้า])
บาลี “วิหค” สันสกฤตก็เป็น “วิหค”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วิหค : (คำนาม) ปักษิน; พลาหก; ศร; พระอาทิตย์; พระจันทร์; ดาวพระเคราะห์; a bird; a cloud; an arrow; the sun; the moon; a planet.”
โปรดสังเกตว่า “วิหค” ในสันสกฤตมีความหมายหลากหลาย และบางความหมายก็ชวนฉงน เช่น พระอาทิตย์ กับ พระจันทร์ เป็นของตรงข้ามกัน จะรู้ได้อย่างไรว่าในที่เช่นไร “วิหค” จะหมายถึงพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ คงต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า “บริบท” เป็นข้อพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “วิหค” และ “วิหงค์” บอกไว้ว่า –
“วิหค, วิหงค์ : (คำนาม) นก. (ป. วิหค, วิหงฺค; ส. วิหค, วิหํค).”
ขยายความ :
พจนานุกรมฯ บอกว่า คำนี้บาลีเป็น “วิหงฺค” ก็มี และสันสกฤตเป็น “วิหํค” ก็มี
“วิหงฺค” อ่านว่า วิ-หัง-คะ รากศัพท์เหมือน “วิหค” ที่แสดงไว้ข้างต้น ลงนิคหิตอาคมที่ วิห (วิห + อํ) = วิหํ + คมฺ ธาตุ, ลบที่สุดธาตุ, แปลงนิคหิตเป็น งฺ
: วิห > วิหํ + คมฺ = วิหํคมฺ > วิหํค > วิหงฺค แปลเหมือน “วิหค” หรือจะว่าซ้อน งฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุก็ได้ (วิห + งฺ + คมฺ) (ในที่นี้ละปัจจัยไว้ในฐานเข้าใจ)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “วิหงฺค” (ไม่ใช่ “วิหํค) บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วิหงฺค : (คำนาม) วิหังค์, วิหงค์, การไปเร็ว, การบิน; พลาหก; ศร; พระจันทร์; พระอาทิตย์; going swiftly, flying; a bird; a cloud; the moon; the sun.”
และมีคำว่า “วิหงฺคม” บอกไว้ว่า –
“วิหงฺคม : (คำนาม) ‘วิหังคม,’ วิหค; คานสำหรับหามของหนัก; a bird; a pole for carrying burdens.”
แถม :
“วิหค” –หค ค ควาย สะกด
ไม่ใช่ ก ไก่ สะกด อย่าเขียนผิด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าดีของคนอยู่ที่บินได้
: คนก็จะไม่ดีไปกว่านก
#บาลีวันละคำ (3,876)
22-1-66
…………………………….
……………………………