บาลีวันละคำ

กามาวจร (บาลีวันละคำ 3,877)

กามาวจร

กามาวจร

ฤๅจะรอให้ใกล้ม้วยมรณ์จึงรู้-ว่านี่เรื่องของตูแท้ๆ

อ่านว่า กา-มา-วะ-จอน

แยกศัพท์เป็น กาม + อวจร

(๑) “กาม” 

บาลีอ่านว่า กา-มะ รากศัพท์มาจาก กมฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(มฺ) เป็น อา (กมฺ > กาม)

: กมฺ + = กมณ > กม > กาม แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่ทำให้ปรารถนา” (2) “อาการที่ปรารถนา” (3) “ภาวะอันสัตวโลกปรารถนา

กาม” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความรื่นรมย์, สิ่งที่ให้ความเพลิดเพลิน, สิ่งที่ให้ความบันเทิงทางกาม (pleasantness, pleasure-giving, an object of sensual enjoyment)

(2) ความสนุกเพลิดเพลิน, การพึงพอใจจากการรู้สึก (enjoyment, pleasure on occasion of sense) 

(3) ความใคร่ (sense-desire)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กาม, กาม– : (คำนาม) ความใคร่, ความใคร่ทางเมถุน. (ป., ส.).”

(๒) “อวจร” 

บาลีอ่านว่า อะ-วะ-จะ-ระ รากศัพท์มาจาก อว + จร 

(ก) “อว” อ่านว่า อะ-วะ เป็นคำอุปสรรค (prefix) แปลว่า – 

(1) ต่ำกว่า, ต่ำ (lower, low) 

(2) ลง, ลงต่ำไป, ห่างลงไป, ออกไป (down, downward, away down, off)

อว” แปลง เป็น “โอ” พบได้ทั่วไปในบาลี หรือจะกล่าวก็ได้ว่า อุปสรรคคำนี้มี 2 รูป เป็น “อว” รูปหนึ่ง เป็น “โอ” อีกรูปหนึ่ง 

(ข) “จร” บาลีอ่านว่า จะ-ระ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = เที่ยวไป) + ปัจจัย, ลบ  

: จรฺ + = จรณ > จร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เที่ยวไป” “ผู้ประพฤติ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จร” เป็นอังกฤษว่า –

(1) the act of going about, walking; one who walks or lives (การเที่ยวไป, การเดินไป, ผู้เดินหรืออยู่)

(2) one who is sent on a message, a secret emissary, a spy (ผู้ถูกให้ไปส่งข่าว, จารบุรุษ, คนสอดแนม)

อว + จร = อวจร (อะ-วะ-จะ-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ท่องเที่ยวไป” “ผู้ดำเนินไปในขอบเขตนั้นๆ

อวจร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) อาศัยอยู่ในหรือกับ, เคลื่อนไปใน (living in or with, moving in)

(2) ขอบเขต (sphere, realm, plane)

เชื่อหรือไม่ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “อวจร” ไว้ด้วย!

ในภาษาไทย “อวจร” อ่านว่า อะ-วะ-จอน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

อวจร : (คำนาม) แดน, บริเวณ, เขต, วิสัย. (ป., ส.).”

กาม + อวจร = กามาวจร (กา-มา-วะ-จะ-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ท่องเที่ยวไปในกามภพ” 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “กามาพจร” (แผลง เป็น ) และ “กามาวจร” (คงตามรูปบาลี อ่านว่า กา-มา-วะ-จอน) บอกไว้ว่า –

กามาพจร, กามาวจร : (คำวิเศษณ์) ที่ยังข้องอยู่ในกาม, ที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามภพ. (ป. กาม + อวจร).”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “กามาวจร” บอกความหมายไว้ดังนี้ –

…………..

กามาวจร : ซึ่งท่องเที่ยวไปในกามภพ, ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับกาม ได้แก่ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ทุกสิ่งทุกอย่างประดามีที่เป็นไปในกามภพ ตั้งแต่อเวจีมหานรกถึงสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี; ดู ภพ, ภูมิ 

…………..

ที่คำว่า “กามภพ” พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ บอกไว้ดังนี้ –

…………..

กามภพ : ที่เกิดของผู้ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในกาม, โลกเป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสพกาม ได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษยโลก และสวรรค์ ๖ ชั้น ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกาถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตดีรวมเป็น ๑๑ ชั้น (ข้อ ๑ ในภพ ๓)

…………..

กามาวจร” เป็น “ภูมิ” ของมนุษย์อย่างเราๆ นี่เอง แต่เราส่วนมากไม่รู้จักภูมิของตัวเอง

พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ บอกให้ดูคำว่า “ภพ” และ “ภูมิ

ขอนำคำว่า “ภูมิ” ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาแสดงไว้ในที่นี้ เพื่อความเข้าใจที่ดี

ในที่นี้ขออนุญาตจัดย่อหน้าใหม่เพื่อสะดวกแก่การอ่านจับใจความ โปรดค่อยๆ อ่านไปที่ละน้อยๆ จะเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า 

บ้านของตัวเองอยู่ตรงไหน

…………..

ภูมิ :

1. พื้นเพ, พื้น, ชั้น, ที่ดิน, แผ่นดิน 

2. ชั้นแห่งจิต, ระดับจิตใจ, ระดับชีวิต มี ๔ คือ

๑. กามาวจรภูมิ ชั้นที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในกาม 

๒. รูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป หรือชั้นของพวกที่ได้รูปฌาน

๓. อรูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูป หรือชั้นของพวกที่ได้อรูปฌาน

๔. โลกุตตรภูมิ ชั้นที่พ้นโลกหรือระดับพระอริยบุคคล, 

เรียกให้สั้นว่า กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ และโลกุตตรภูมิ, 

ภูมิ ๔ นี้ จัดประเภทได้เป็น ๒ ระดับ คือ สามภูมิแรก เป็นโลกิยภูมิ ส่วนภูมิที่สี่ เป็นโลกุตตรภูมิ, 

บางทีเรียกโลกิยภูมิ ๓ นั้นรวมกันว่า “ไตรภูมิ” 

ใน ภูมิ ๔ นี้ สามภูมิแรก คือโลกิยภูมิ ๓ แยกย่อยออกไปได้เป็น ภูมิ ๓๑ คือ

……………………..

๑. กามาวจรภูมิ ๑๑ 

……………………..

แบ่งเป็นอบายภูมิ ๔ (นิรยะ – นรก, ติรัจฉานโยนิ – กำเนิดดิรัจฉาน, ปิตติวิสัย – แดนเปรต, อสุรกาย – พวกอสูร) 

และกามสุคติภูมิ ๗ (กามาวจรภูมิที่เป็นสุคติ คือ มนุษย์ และเทพชั้นจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี)

……………………..

๒. รูปาวจรภูมิ ๑๖ 

……………………..

ระดับของรูปพรหม แบ่งเป็น

ก. ปฐมฌานภูมิ ๓ (พรหมระดับปฐมฌาน ๓ คือ พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา)

ข. ทุติยฌานภูมิ ๓ (พรหมระดับทุติยฌาน ๓ คือ ปริตตาภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา)

ค. ตติยฌานภูมิ ๓ (พรหมระดับตติยฌาน ๓ คือ ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา)

ง. จตุตถฌานภูมิ ๗ (พรหมระดับจตุตถฌาน ๗ คือ เวหัปผลา อสัญญีสัตว์ สุทธาวาส ๕ [ที่เกิดของพระอนาคามี ๕ คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา])

……………………..

๓. อรูปาวจรภูมิ ๔ 

……………………..

ระดับของอรูปพรหม (พรหมระดับอรูปฌาน ๔ คือ อากาสานัญจายตนภูมิ วิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ)

คำว่า “ภูมิ” นี้ มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “ภพ” ซึ่งบางทีก็พูดควบคู่ไปด้วยกัน 

แต่ที่แท้นั้น ภูมิหมายถึงระดับของจิตใจ 

ส่วนภพหมายถึงภาวะชีวิตของสัตว์ หรือโลกที่อยู่ของสัตว์ 

ดังนั้น ภูมิจึงมี ๔ เพราะนับโลกุตตรภูมิด้วย ส่วนภพมีเพียง ๓ เพราะโลกุตตรภพไม่มี 

แต่ในที่ทั่วไป เมื่อยกโลกุตตรภูมิออกไปแล้ว ภูมิ ๓ ที่เป็นโลกีย์ บางทีก็ใช้อย่างคลุมๆ รวมไปถึงโลกที่อยู่ของสัตว์ มีความหมายคล้ายกับคำว่า ภพ ๓ ด้วย (เช่นคำว่า “ไตรภูมิ” ที่นำมาพูดกันในภาษาไทย)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนไม่รู้จักบ้านของตัว น่าเกรง

: คนไม่รู้จักตัวเอง น่ากลัว

#บาลีวันละคำ (3,877)

23-01-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *