บาลีวันละคำ

บัณฑิตวิทยาลัย (บาลีวันละคำ 3,879)

บัณฑิตวิทยาลัย

ทำอย่างไรจึงจะเป็นบัณฑิตชนิดที่รู้จักผิดชอบชั่วดี

อ่าน (ตามความนิยม) ว่า บัน-ดิด-วิด-ทะ-ยา-ไล

ประกอบด้วยคำว่า บัณฑิต + วิทยาลัย

(๑) “บัณฑิต”

บาลีเป็น “ปณฺฑิต” อ่านว่า ปัน-ดิ-ตะ มีรากศัพท์มาได้หลายทาง เช่น :

(1) ปณฺฑา ( = ปัญญา) + อิต ( = ไป, ดำเนินไป, เกิดขึ้นพร้อม) ลบสระที่ ปณฺฑา (ปณฺฑา > ปณฺฑ)

: ปณฺฑา > ปณฺฑ + อิต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา” “ผู้มีปัญญาเกิดพร้อมแล้ว”

(2) ปฑิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (ปฑิ > ปํฑิ) แล้วแปลงเป็น ณ (ปํฑิ > ปณฺฑิ)

: ปฑิ > ปํฑิ > ปณฺฑิ + ต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปสู่ความเป็นผู้ฉลาด”

(3) ปณฺฑฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (ปณฺฑฺ + อิ + ต)

: ปณฺฑฺ + อิ = ปณฺฑิ + ต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์”

ความหมายของ “ปณฺฑิต” ในบาลีคือ สุขุม, ไตร่ตรอง, รอบรู้, ฉลาด, รู้ทัน, จัดเจน, หลักแหลม, รอบคอบ, ระมัดระวัง, ถี่ถ้วน, ชำนิชำนาญ, ช่ำชอง, ว่องไว, คล่องแคล่ว, มีความสามารถ, มีไหวพริบ, รู้จักคิด, รู้จักเหตุผล = รู้จักผิดชอบชั่วดีควรไม่ควร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปณฺฑิต” เป็นอังกฤษว่า wise, clever, skilled, circumspect, intelligent.

“ปณฺฑิต” ในภาษาไทยใช้ว่า “บัณฑิต” (บัน-ดิด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“บัณฑิต : ผู้ทรงความรู้, ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์, ผู้สําเร็จการศึกษาขั้นปริญญาซึ่งมี ๓ ขั้น คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เรียกว่า บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต, ผู้มีความสามารถเป็นพิเศษโดยกําเนิด เช่น คนนี้เป็นบัณฑิตในทางเล่นดนตรี. (ป., ส. ปณฺฑิต).”

ความหมายเดิมแท้ของ “บัณฑิต” ก็คือ ผู้มีสติปัญญา รู้จักผิดชอบชั่วดี เว้นชั่ว ประพฤติดีได้ด้วยตนเองและสามารถแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้ทำเช่นนั้นได้ด้วย

สังคมไทยถือว่า “วัด” เป็นสถาบันที่สั่งสอนอบรมคนให้รู้จักดำเนินชีวิตด้วยปัญญารู้จักผิดชอบชั่วดี ผู้ที่เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในวัดเมื่อลาสิกขาออกมา สังคมจึงนับถือว่าเป็น “บัณฑิต”

แต่เดิมเราคงอ่าน “บัณฑิต” ว่า บัน-ทิด (ฑ มณโฑ ออกเสียงเหมือน ท ทหาร) ต่อมาเสียง “บัน” กร่อนหายไป เหลือแต่ “ทิด”

คำว่า “ทิด” จึงเป็นคํานําหน้าชื่อผู้ที่สึกจากพระมาจนทุกวันนี้ เช่น ทิดย้อย เป็นต้น

ปัจจุบัน ความหมายของ “บัณฑิต” ในภาษาไทยมักหมายถึงผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาเท่านั้น จะมีความรู้จักผิดชอบชั่วดีหรือไม่แทบจะไม่คำนึงถึง นับว่าเป็นการทำให้ความหมายของคำบาลีทรามลงอย่างน่าเสียดาย

(๒) “วิทยาลัย”

ประกอบด้วยคำว่า วิทยา + อาลัย

(ก) “วิทยา” บาลีเป็น “วิชฺชา” อ่านว่า วิด-ชา รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ทฺย (คือ (วิ)-ทฺ + (ณฺ)-ย) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วิทฺ + ณฺย = วิทฺณย > วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หรือ “ตัวรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญาหยั่งรู้ (knowledge; transcendental wisdom)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิชฺชา” ว่า science, study, higher knowledge (วิทยาศาสตร์, การศึกษา, ความรู้ชั้นสูง)

บาลี “วิชฺชา” สันสกฤตเป็น “วิทฺยา”

โปรดสังเกตว่า ในขั้นตอนการกลายรูปของบาลี เป็น “วิทฺย” ก่อนแล้วจึงเป็น “วิชฺช”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“วิทฺยา : (คำนาม) วิทยา, พุทธิ; ศึกษา; ศาสตร์; พระทุรคาเทวี; ต้นไม้; มายาคุฏิกา; ยาเม็ดวิเศษหรือลูกอมอันสำเร็จด้วยเวทมนตร์ ใส่ปากบุทคลเข้าไปอาจจะบันดาลให้บุทคลขึ้นสวรรค์หรือเหาะได้; knowledge; learning; science; the goddess Durgā; a tree; a magical pill, by putting which in to the mouth a person has the power of ascending to heaven or traversing the air.”

อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์บาลี คำว่า “วิชฺชา” มักใช้ในความหมายเฉพาะ คือหมายถึงญาณปัญญาที่บรรลุได้ด้วยการฝึกจิต

“วิชฺชา” ถ้าคงรูปบาลี ในภาษาไทยใช้ว่า “วิชา” (ตัด ช ออกตัวหนึ่ง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“วิชา : (คำนาม) ความรู้, ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน, เช่น วิชาภาษาไทย วิชาช่าง วิชาการฝีมือ. (ป. วิชฺชา; ส. วิทฺยา).”

“วิชา” ตามความหมายในภาษาไทย ตรงกับคำว่า “สิปฺป” (สิบ-ปะ) ที่เราเอามาใช้ว่า “ศิลปะ”

“สิปฺป” ในบาลีหมายถึง ความสามารถที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นผลสำเร็จได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ทำได้ทำเป็นไม่ว่าจะในเรื่องอะไร นั่นแหละคือ “สิปฺป-ศิลปะ” หรือ “วิชา” ตามที่เข้าใจกันในภาษาไทย

“วิทยา” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“วิทยา : (คำนาม) ความรู้, มักใช้ประกอบกับคําอื่น เช่น วิทยากร วิทยาคาร จิตวิทยา สังคมวิทยา. (ส.).”

(ข) “อาลัย” บาลีเป็น “อาลย” อ่านว่า อา-ละ-ยะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, มาก, ยิ่ง) + ลิ (ธาตุ = ติดใจ, ติดแน่น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อิ ที่ ลิ เป็น ย (ลิ > ลย)

: อา + ลิ = อาลิ + ณ = อาลิณ > อาลิ > อาลย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ติดใจยินดีแห่งผู้คน” “สิ่งที่ใจไปติดแน่นอยู่”

นักภาษาอธิบาย “อาลย” เป็นรูปธรรมว่า เหมือน “คอน” ที่นกเกาะนอน เท้านกจะต้องยึดแน่นอยู่กับคอนนั้น มิเช่นนั้นก็ตก อาการที่จับติดแน่นไม่ยอมปล่อยนั่นเองคือ “อาลัย”

ตามรากศัพท์เช่นนี้ “อาลัย” ในทางรูปธรรมจึงหมายถึงสถานที่พักอาศัย, ที่อยู่, แหล่งรวมของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น –

ชลาลัย = แหล่งรวมแห่งน้ำ คือแม่น้ำ หรือทะเล

บรรณาลัย = แหล่งรวมแห่งหนังสือ คือสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์ต่างๆ ทางศาสนา, ห้องสมุด

“อาลย” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) คอนสำหรับนกหรือไก่เกาะหรือนอน (ความหมายเดิม), สถานที่พักอาศัย, บ้านเรือน (roosting place, perch, abode settling place, house)

(2) เกาะเกี่ยวอยู่, ความรักใคร่, ความต้องการ, ตัณหา, ราคะ (hanging on, attachment, desire, clinging, lust)

(3) การแสร้งทำ, มารยา, ข้อแก้ตัว (pretence, pretext, feint)

บาลี “อาลย” ภาษาไทยใช้เป็น “อาลัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อาลัย ๑ : (คำกริยา) ห่วงใย, พัวพัน, ระลึกถึงด้วยความเสียดาย.น. ความห่วงใย, ความพัวพัน, ความระลึกถึงด้วยความเสียดาย. (ป., ส. อาลย).

(2) อาลัย ๒ : (คำนาม) ที่อยู่, ที่พัก, เช่น ชลาลัย = ที่อยู่แห่งนํ้า หมายถึง ทะเล แม่น้ำ เป็นต้น หิมาลัย = ที่อยู่แห่งหิมะ เป็นชื่อของเทือกเขาสูงอยู่ทางทิศเหนือของอินเดีย ยอดเขามีหิมะปกคลุมตลอดปี.

วิทยา + อาลัย = วิทยาลัย (วิด-ทะ-ยา-ไล) แปลตามศัพท์ว่า “แหล่งรวมแห่งวิชาความรู้”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“วิทยาลัย : (คำนาม) สถานศึกษาในระดับสูง สอนวิชาชีพเฉพาะอย่าง เช่น วิทยาลัยเทคนิค. (ส.).”

บัณฑิต + วิทยาลัย = บัณฑิตวิทยาลัย ตามรูปศัพท์อาจแปลได้ 2 นัย คือ –

(1) สถานศึกษาเพื่อเป็นบัณฑิต

(2) สถานศึกษาของผู้ที่เป็นบัณฑิต

“บัณฑิตวิทยาลัย” แปลเอาความตามที่เข้าใจกันทั่วไปว่า “สถานศึกษาในระดับสูงของผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป”

ขยายความ :

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “บัณฑิตวิทยาลัย” (อ่านเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 เวลา 20:30 น.) อธิบายความหมายไว้ดังนี้ –

…………..

บัณฑิตวิทยาลัย หมายถึง สถาบันอุดมศึกษาที่มีการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทหรือปริญญาเอก) โดยทั่วไปบัณฑิตวิทยาลัย จะเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย แต่สำหรับสถาบันอุดมศึกษาที่มี หรือไม่มีระดับปริญญาตรี จะเรียกสถาบันนั้นว่า “บัณฑิตวิทยาลัย” แทน

การเรียนในระดับบัณฑิตวิทยาลัย จะมีลักษณะที่แตกต่างจากระดับในมหาวิทยาลัยทั่วไป เพราะว่ารับผู้สำเร็จการศึกษามาแล้ว ในกรณีที่เน้นการวิจัย ก่อนการสำเร็จการศึกษาต้องเขียน “วิทยานิพนธ์” (thesis) ในกรณีของปริญญาโท ส่วนในระดับปริญญาเอก จะเรียกว่า “ดุษฎีนิพนธ์” (dissertation) สำหรับกรณีที่เป็นวุฒิทางวิชาชีพ ก็จะเน้นให้ทำปัญหาพิเศษในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ

ในสหรัฐจะเรียกบัณฑิตวิทยาลัยว่า “Graduate School” หรือ “Grad School” ในขณะที่ สหราชอาณาจักรและประเทศในเครือจักรภพ จะเรียกว่า “Postgraduate School”

คำว่า “บัณฑิตวิทยาลัย” ไม่นิยมใช้เรียกสถาบันอุดมศึกษาด้านแพทยศาสตร์

…………..

คำว่า “บัณฑิตวิทยาลัย” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่พบคำนิยามหรือความหมายอย่างเป็นทางการของคำว่า “บัณฑิตวิทยาลัย” (เช่นคำอธิบายของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเป็นต้น) ท่านผู้ใดพบ ขอความกรุณานำมาร่วมบูรณาการเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้ว่าผิดและยอมรับว่าผิด

: เป็นบัณฑิตไม่ต้องเข้าวิทยาลัย

#บาลีวันละคำ (3,879)

25-01-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *