บุพการี (บาลีวันละคำ 815)
บุพการี
อ่านว่า บุบ-พะ-กา-รี
บาลีเป็น “ปุพฺพการี” อ่านว่า ปุบ-พะ-กา-รี
ประกอบด้วย ปุพฺพ + การี
“ปุพฺพ” แปลว่า อดีต, เคยมีมาก่อน, แต่ก่อน, ก่อน (previous, former, before)
“การี” มาจาก การ + อี ปัจจัย
“การ” รากศัพท์คือ กรฺ ธาตุ ยืดเสียงเป็น การ แปลว่า “ทำ”
“การ” มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ –
(1) การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ (doing, manner, way)
(2) กรรม, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา หรือความเคารพ หรือความนับถือ (deed, service, act of mercy or worship, homage)
(3) ผู้ทำ ผู้จัดการ หรือผู้ค้า (one who does, handles or deals)
ปุพฺพ + การ = ปุพฺพการ > บุพการ
ปุพฺพการ + อี = ปุพฺพการี เขียนแบบไทยว่า “บุพการี” (ป เป็น บ, ตัด พ ออกตัวหนึ่ง) แปลว่า “ผู้ทำอุปการะก่อน” (“doing before”) คือ ผู้ดูแล, ผู้เอื้อเฟื้อ, ผู้ทำประโยชน์ (looking after, obliging, doing a favour)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายไว้ว่า –
(1) บุพการ : “อุปการะก่อน”, การช่วยเหลือเกื้อกูลที่ริเริ่มทำขึ้นก่อนเอง โดยมิได้คำนึงถึงเหตุเก่า เช่นว่าเขาเคยทำอะไรให้เราไว้ และมิได้หวังข้างหน้าว่าเขาจะให้อะไรตอบแทนเรา
(2) บุพการี : บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน คือ ผู้มีพระคุณ ได้แก่ มารดาบิดา ครูอาจารย์ เป็นต้น
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บุพการี : (คำนาม) ผู้ที่ทําอุปการะมาก่อน เช่น บิดามารดาเป็นบุพการีของบุตรธิดา. (ป. ปุพฺพการี); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ญาติทางสาโลหิตโดยตรงขึ้นไป ได้แก่ บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด”
สรุปว่า บุพการีนั้นมิใช่มีแต่บิดามารดาเท่านั้น ใครทำอุปการะมาก่อน ก็ชื่อว่าเป็นบุพการีทั้งสิ้น
: ถ้าตอบแทบคุณไม่ได้ ก็ขออย่าให้เนรคุณ
: ถ้ายังไม่พร้อมจะทำบุญ ก็ขออย่าได้ทำบาป
#บาลีวันละคำ (815)
11-8-57