โคจรสัปปายะ – 1 ในสัปปายะ 7 (บาลีวันละคำ 3,881)
โคจรสัปปายะ – 1 ในสัปปายะ 7
โคจรสัปปายะ – 1 ในสัปปายะ 7
แหล่งอาหารอำนวย
…………..
“สัปปายะ” หมายถึง สิ่งที่สบาย, สภาพเอื้อ, สิ่งที่เกื้อกูล, สิ่งที่เอื้อต่อการอยู่ดีและการที่จะพัฒนาชีวิต, สิ่งที่เหมาะกัน อันเกื้อหนุนในการเจริญภาวนาให้ได้ผลดี ช่วยให้สมาธิตั้งมั่น ไม่เสื่อมถอย มี 7 อย่าง คือ
1. อาวาสสัปปายะ = ที่อยู่อันเหมาะ
2. โคจรสัปปายะ = แหล่งอาหารอำนวย
3. ภัสสสัปปายะ = การพูดคุยที่เหมาะกัน
4. ปุคคลสัปปายะ = บุคคลที่ถูกกันเหมาะกัน
5. โภชนสัปปายะ = อาหารที่เหมาะกัน
6. อุตุสัปปายะ = ดินฟ้าอากาศธรรมชาติแวดล้อมที่เหมาะ
7. อิริยาปถสัปปายะ = อิริยาบถที่เหมาะกัน
…………..
“โคจรสัปปายะ” อ่านว่า โค-จะ-ระ-สับ-ปา-ยะ
ประกอบด้วยคำว่า โคจร + สัปปายะ
(๑) “โคจร”
บาลีอ่านว่า โค-จะ-ระ รากศัพท์ประกอบด้วย โค + จรฺ (ธาตุ = เที่ยวไป) + อ (อะ) ปัจจัย หรือ + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
“โค” ในภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ วัว, แผ่นดิน, ดวงอาทิตย์, อินทรีย์ ( = เครื่องรับอารมณ์ที่มากระทบ เช่น ตา + สิ่งที่ตาเห็น)
: โค + จรฺ = โคจรฺ + อ = โคจร
: โค + จรฺ = โคจรฺ + ณ = โคจรณ > โคจร
“โคจร” (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ที่เป็นที่เที่ยวไปแห่งโค” ความหมายเดิมคือท้องทุ่งสำหรับต้อนโคไปหากิน แล้วขยายไปเป็นทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ทั่วไป และเป็นสำนวนหมายถึง “ออกไปเที่ยวหากิน” (มักใช้กับสัตว์)
(2) “การท่องเที่ยวไปบนแผ่นดิน” หมายถึง การเดินทางเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ
ความหมายนี้บางตำราว่าหมายถึง “การเดินทางของดวงอาทิตย์” : โค = ดวงอาทิตย์
(3) “ที่เหมือนกับที่ท่องเที่ยวไปแห่งโค” คือสถานที่เที่ยวบิณฑบาตของภิกษุ (เปรียบเหมือนสถานที่ซึ่งโคไปเที่ยวหากิน)
(4) “ที่เป็นที่เที่ยวไปแห่งอินทรีย์” คือรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น อันรวมเรียกว่า “อารมณ์”
สรุปว่า “โคจร” หมายถึง อาหาร = การหากิน, การเดินทาง, สถานที่อันควรไป และ อารมณ์
ในที่นี้ “โคจร” มีความหมายตามข้อ (1) และข้อ (3)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “โคจร” (โค-จอน) ไว้ว่า –
(1) (คำนาม) อารมณ์ เช่น มีพุทธานุสติเป็นโคจร
(2) (คำกริยา) เดินไปตามวิถี เช่น ดวงอาทิตย์โคจร ดวงจันทร์โคจรรอบโลก
(3) (คำกริยา) เที่ยว เช่น โคจรมาพบกัน
(4) คํานี้โดยมากใช้แก่ดาวนพเคราะห์, เมื่อว่าเฉพาะทางที่พระอาทิตย์โคจร มีจุดสุดอยู่ 6 แห่งที่อยู่ตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ คือ ครีษมายัน กับ เหมายัน คู่หนึ่ง, วสันตวิษุวัต กับ ศารทวิษุวัต คู่หนึ่ง, พสุสงกรานต์ 2 แห่ง คู่หนึ่ง. (ป., ส. โคจร ว่า การเที่ยวไปของดวงอาทิตย์)
(๒) “สัปปายะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “สปฺปาย” อ่านว่า สับ-ปา-ยะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า) + อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ป (หรือลบนิคหิตแล้วซ้อน ป), แปลง อิ ที่ธาตุเป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย แล้วทีฆะ อะ ที่ อ-(ย) เป็น อา ด้วยอำนาจ ณ ปัจจัย (อย > อาย)
: สํ > สปฺ + ป = สปฺป + อา = สปฺปา + อิ > เอ > อย = สปฺปย + ณ = สปฺปยณ > สปฺปย > สปฺปาย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปได้พร้อมทั่วถึง” = อยากจะไป อยากจะทำอะไร ก็ไปได้ทำได้ไม่ติดขัด
“สปฺปาย” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เป็นคำนาม: สิ่งที่เป็นประโยชน์, คุณประโยชน์, การช่วยเหลือ (something beneficial, benefit, help)
(2) เป็นคุณศัพท์: น่าเป็นจริง, มีประโยชน์, เหมาะสม, สมควร (likely, beneficial, fit, suitable)
“สปฺปาย” ในภาษาไทยใช้ว่า “สบาย” (โปรดสังเกตว่าไม่ต้องประวิสรรชนีย์ที่ ส-) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
(1) อยู่ดีกินดี เช่น เดี๋ยวนี้เขาสบายขึ้น ลูก ๆ ทำงานหมดแล้ว, เป็นสุขกายสุขใจ เช่น เวลานี้เขาสบายแล้ว เพราะมีฐานะดีขึ้น ไม่มีวิตกกังวลใด ๆ.
(2) สะดวก เช่น ทำตามสบายไม่ต้องเกรงใจ มีรถส่วนตัวสบายกว่าไปรถประจำทาง, มักใช้เข้าคู่กับคำ สุข หรือ สะดวก เป็น สุขสบาย หรือ สะดวกสบาย.
(3) พอเหมาะพอดี เช่น เก้าอี้ตัวนี้นั่งสบาย.
(4) ไม่ลำบากกาย เช่น เขาทำงานสบายขึ้น ไม่ต้องแบกหามเหมือนเมื่อก่อน.
(5) ไม่เจ็บไม่ไข้ เช่น เวลานี้เขาสบายดี ไม่ป่วยไข้.
(6) มีความพอใจเมื่อได้สัมผัส เช่น สบายหู สบายตา สบายกาย.
โคจร + สปฺปาย = โคจรสปฺปาย (โค-จะ-ระ-สับ-ปา-ยะ) แปลว่า “แหล่งหากินเป็นสัปปายะ” คือเป็นที่แสวงหาอาหารได้สะดวก
“โคจรสปฺปาย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “โคจรสัปปายะ”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [286] สัปปายะ 7 บอกไว้ว่า
…………..
2. โคจรสัปปายะ (แหล่งอาหารอำนวย ที่เที่ยวบิณฑบาตที่เหมาะดี เช่น มีหมู่บ้านหรือชุมชนที่มีอาหารบริบูรณ์อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป — Gocara~: suitable resort)
…………..
ข้อสังเกต :
สัปปายะที่ 2 โคจรสัปปายะ และสัปปายะที่ 5 โภชนสัปปายะ กล่าวถึง “อาหาร” เหมือนกัน สัปปายะทั้ง 2 นี้ต่างกันอย่างไร?
โคจรสัปปายะ หมายถึง แหล่งที่แสวงหาอาหารได้สะดวก
โภชนสัปปายะ หมายถึง ชนิดของอาหารที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม
…………..
ขยายความ :
ขอนำคำขยายความคำว่า “โคจรสัปปายะ” ที่ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคมาเสนอในที่นี้ หากมีถ้อยคำใดอ่านแล้วยังไม่เข้าใจ พึงศึกษาหาความรู้ต่อไป พึงตั้งอารมณ์ว่าอ่านเพื่อเป็นอุปนิสัยปัจจัยแห่งการศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม ก็จะเป็นมหากุศล
ข้อความในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นดังนี้ –
(สำนวนแปลของนาวาอากาศเอก เมฆ อำไพจริต อดีตหัวหน้ากองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ, ผู้สอบเปรียญธรรม 9 ประโยคด้วยวิธีสอบข้อเขียนได้เป็นคนแรกของประเทศไทย)
…………..
ส่วนโคจรคามพึงทราบดังนี้ โคจรคามใดมีอยู่ในที่ไม่ไกลนักไม่ใกล้นักในระยะประมาณโกสะกึ่ง[1] แต่เสนาสนะทางทิศเหนือหรือทางทิศใต้[2] เป็นที่มีภิกขาสมบูรณ์หาง่าย โคจรคามนั้นนับเป็นสัปปายะ ตรงกันข้ามนับเป็นอสัปปายะ
…………..
หมายเหตุ:
ต้นฉบับแปลมีเชิงอรรถดังนี้
[1] (อธิบายคำว่า “โกสะ”) มหาฎีกาว่าประมาณ 1,000 ชั่วธนู
[3] มหาฎีกาให้อรรถาธิบายว่า ที่ท่านแนะนำให้เลือกโคจรคามที่อยู่ทางทิศเหนือหรือทิศใต้แห่งที่อยู่ของตนนั้น ก็เพื่อไม่ต้องหันหน้าสู้ตะวันในเวลาเดินไปมา
ที่มา:
วิสุทธิมรรคฉบับบาลี ภาค 1 หน้า 162
สุทธิมรรคแปล ภาค 1 ตอน 2 หน้า 101-102
…………..
ดูก่อนภราดา!
: การหากินเป็นเรื่องจำเป็น
: แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นแก่กิน
#บาลีวันละคำ (3,881)
28-01-66
…………………………….
……………………………