บาลีวันละคำ

นาสังสิโม (บาลีวันละคำ 3,887)

นาสังสิโม

หมายเหตุ: ภาพประกอบ เผยแพร่เพื่อการศึกษาเท่านั้น

แปลว่าอะไร เป็นภาษาอะไร

มีข้อความเป็นภาษาบาลี หรือมีคำที่เป็นภาษาบาลีอยู่มาก เรียกกันว่า “คาถาเงินล้าน” นิยมท่องบ่นและเผยแพร่กันอยู่ทั่วไป คำขึ้นต้นว่า “สัมปจิตฉามิ นาสังสิโม …” 

มีผู้ถามว่า “นาสังสิโม” แปลว่าอะไร?

นาสังสิโม” ถ้าเขียนตามรูปคำบาลีก็จะเป็น “นาสงฺสิโม” หรืออาจสะกดอีกแบบหนึ่งเป็น “นาสํสิโม” อ่านว่า นา-สัง-สิ-โม

เท่าที่ตาเห็น “นาสงฺสิโม” หรือ “นาสํสิโม” เหมือนกับว่ารูปคำเดิมเป็น “นาสงฺสิม” หรือ “นาสํสิม” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) ปุงลิงค์ เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “นาสงฺสิโม” หรือ “นาสํสิโม

ผู้เขียนบาลีวันละคำตรวจดูในคัมภีร์แล้ว ไม่พบคำที่สะกด “นาสงฺสิโม” หรือ “นาสํสิโม” 

รูปศัพท์ “นาสงฺสิม” หรือ “นาสํสิม” ก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าควรจะมาจากรากศัพท์แบบไหน

ถ้าจะลองพยายามช่วยให้พอมองเห็นรูปศัพท์ ก็แยกศัพท์ออกเป็น + อาสํส + อิม ปัจจัย

คำหลักคือ “อาสํส” อ่านว่า อา-สัง-สะ แปลว่า มีความหวัง, คิดจะได้บางสิ่งบางอย่าง, อยากได้ (hoping, expecting something, longing for)

” (นะ) เป็นนิบาตบอกความปฏิเสธ แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ ในที่นี้ไม่ได้สมาสกับ “อาสํส” เพราะถ้าสมาสเป็นคำเดียวกัน รูปคำจะต้องเป็น “อนาสํสิม” (แปลง เป็น อน (อะ-นะ) เพราะศัพท์หลังขึ้นต้นด้วยสระ) แต่เมื่อรูปศัพท์เป็น “นาสํสิม” ก็หมายความว่า + (สนธิกับ) อาสํส = นาสํส + อิม = นาสํสิม นั่นคือ “” ไม่ได้ปฏิเสธ “อาสํส” แต่ปฏิเสธคำอื่น

ถ้าจะ “หลับหูหลับตา” แปล “นาสํสิโม” ก็พอแปลได้ว่า –

“(อหํ = อันว่าข้าพเจ้า) 

อาสํสิโม” = เป็นผู้มีความหวัง 

(โหมิ = ย่อมเป็น) 

” = หามิได้

แปลเอาความว่า “ข้าพเจ้าไม่มีความหวัง

โปรดทราบว่า นี่เป็นการเดาทั้งสิ้น กรุณาอย่านำไปอ้างอิงว่า ผู้เขียนบาลีวันละคำแปลว่าอย่างนี้ๆ

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอย้ำว่า “นาสังสิโม” ไม่ได้แปลอย่างนี้ๆ ที่ว่ามานี้เป็นการเดาทั้งสิ้น เนื่องจากไม่มีทางจะรู้ได้ว่าเจ้าของต้นฉบับคาถาเงินล้านมีเจตนาจะให้แปลว่าอย่างไร 

อันที่จริงควรจะต้องบอกกันว่า “นาสังสิโม” เป็นภาษาอะไรก็ไม่สามารถตัดสินได้ด้วยซ้ำไป ดูรูปคำคล้ายกับภาษาบาลี แต่แปลว่าอะไรไม่มีทางรู้ได้

ที่ว่ามานี้ก็เพราะมีผู้ถาม จึงต้องตอบไปตามความเข้าใจพอเป็นทางดำริ เพราะฉะนั้น ถ้าลบข้อความที่เขียนมาออกทั้งหมด ถามใหม่ว่า “นาสังสิโม” แปลว่าอะไร?

ตอบว่า ไม่ทราบ

ความคิดเห็น :

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอแนวคิดว่า (1) เจ้าของคาถา (2) สำนักที่เป็นแหล่งที่มาของคาถา (3) ผู้ที่เอาคาถามาเผยแพร่เพื่อให้นับถือเลื่อมใส (4) ผู้ที่นับถือเลื่อมใสคาถา ทั้งหมดนี้ ควรเป็นผู้รับผิดชอบในการตอบคำถาม ด้วยการศึกษาค้นคว้าว่า ถ้อยคำทั้งหมดที่ประกอบเข้าเป็นคาถานั้นเป็นภาษาอะไร แปลว่าอะไร ถ้าศึกษาต่อไปด้วยว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือเป็นคำสอนของใคร ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น

เวลานี้กล่าวได้ว่า บรรดาคาถาที่เผยแพร่กันทั่วไปนั้น –

(1) แปลให้ถูกต้องบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนไม่ได้ คำนี้แปลได้ คำโน้นแปลไม่ได้ เป็นอย่างนี้แทบทั้งนั้น

(2) อักขรวิธีวิปลาสเอาเป็นแบบฉบับไม่ได้

คำหนึ่งที่ผิดเห็นชัดๆ อยู่ในคาถานี้ คือคำว่า “ปะรายันติ” 

ประโยคเต็มว่า “สัพเพยักขา ปะรายันติ”

คำที่ถูกต้องคือ “ปะลายันติ” เขียนแบบบาลีเป็น “ปลายนฺติ” –ลา ลิง ไม่ใช่ –รา– ร เรือ (สัพเพยักขา ก็เขียนผิด ที่ถูกต้องแยกเป็น 2 คำ คือ สัพเพ / ยักขา)

ปลายนฺติ” แปลว่า “ย่อมหนีไป

“ปะรายันติ” ไม่รู้จะแปลว่าอย่างไร

“สัพเพ ยักขา ปะลายันติ” แปลว่า “ยักษ์ทั้งหมดย่อมหนีไป

นี่เป็นข้อพิสูจน์ชัดๆ ว่า เขียนกันไป คัดลอกกันไป พิมพ์เผยแพร่กันไป โดยไม่ได้ตรวจสอบเทียบทานใดๆ คำผิดก็คงผิดอยู่เช่นนั้น และแพร่หลายมากขึ้นไปเรื่อยๆ 

เมื่อเผยแพร่ออกมาแล้วไม่มีใครตรวจสอบเทียบทานว่าผิดถูกเป็นอย่างไร ท่องกันไป คัดลอกต่อๆ กันไป และเอาไปพิมพ์เผยแพร่ต่อไปอีก เมื่อเป็นเช่นนี้มากเข้าก็กลายเป็นข้ออ้างไปในตัว – “ที่ไหนๆ เขาก็เขียนอย่างนี้กันทั้งนั้นแหละ” ใครมาบอกแก้หรือทักท้วงเข้า อาจกลายเป็นฝ่ายผิดไปเสียเอง

คนเรียนบาลีก็เรียนไป

คนเผยแพร่คำผิดก็เผยแพร่ไป

ไม่มีใครเอาเป็นธุระ เอาใจใส่ แก้ไขใดๆ ทั้งๆ ที่เราสนับสนุนส่งเสริมการเรียนบาลีกันอึกทึกครึกโครม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มีศรัทธาเป็นเรื่องที่ควรอนุโมทนา

: แต่ควรมีปัญญารู้ด้วยว่ากำลังศรัทธาอะไร

————————-

หมายเหตุ: ภาพประกอบ เผยแพร่เพื่อการศึกษาเท่านั้น

#บาลีวันละคำ (3,887)

02-02-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *