บาลีวันละคำ

สาธารณูปการ [2] (บาลีวันละคำ 3,888)

สาธารณูปการ [2]

สาธารณูปการ [2]

ควรทำงานอะไรเป็นหลัก

อ่านว่า สา-ทา-ระ-นู-ปะ-กาน

ประกอบด้วยคำว่า สาธารณ + อุปการ

(๑) “สาธารณ”

บาลีอ่านว่า สา-ทา-ระ-นะ แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “สิ่งที่เป็นไปพร้อมกับการรองรับทั่วไป”

(2) “ที่เป็นที่อันบุคคลรับรองสิ่งทั้งหลายเสมอภาคกัน”

“สาธารณ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ทั่วไป, ธรรมดา, ร่วมกัน (general, common, joint)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สาธารณ-, สาธารณะ : (คำวิเศษณ์) เพื่อประชาชนทั่วไป เช่น สวนสาธารณะ โทรศัพท์สาธารณะ บ่อน้ำสาธารณะ, ทั่วไป เช่น ถนนนี้ไม่ใช่ถนนสาธารณะ อย่าแต่งตัวประเจิดประเจ้อในที่สาธารณะ. (ป., ส.).”

(๒) “อุปการ”

บาลีอ่านว่า อุ-ปะ-กา-ระ แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปทำ” หมายถึง ความอุปการะ, การช่วยเหลือ, การอนุเคราะห์, การทำบุญคุณ, การสงเคราะห์ (service, help, benefit, obligation, favour)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อุปการ- ๑, อุปการะ : (คำนาม) ความช่วยเหลือเกื้อกูล, ความอุดหนุน, คู่กับ ปฏิการะ = การสนองคุณ, การตอบแทนคุณ. (คำกริยา) ช่วยเหลือเกื้อกูล, อุดหนุน. (ป., ส.).”

สาธารณ + อุปการ = สาธารณูปการ อ่านแบบบาลีว่า สา-ทา-ระ-นู-ปะ-กา-ระ อ่านแบบไทยว่า สา-ทา-ระ-นู-ปะ-กาน แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปทำสิ่งที่เป็นไปพร้อมกับการรองรับทั่วไป” หรือ “การเข้าไปทำสิ่งที่เป็นไปพร้อมกับการรองรับสิ่งทั้งหลายเสมอภาคกัน” แปลเอาความว่า การทำกิจเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สาธารณูปการ : (คำนาม) กิจการเกี่ยวกับการสงเคราะห์บุคคลที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เช่น คนชรา คนพิการ เด็กกําพร้า. (อ. public assistance); การก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ทางศาสนา เช่น งานด้านสาธารณูปการ.”

หมายเหตุ: ศึกษารากศัพท์ ดูที่ “สาธารณูปการ” บาลีวันละคำ (2,319) คลิกอ่าน

………………………………………………..

อ่านเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/pfbid02jat1w3AvMh3JmW4z43Jj7MA9KjKcHJGhWVxjAdNUSWGjDTAVE6cHtDLp5PG7X4gFl

………………………………………………..

อภิปราย :

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ แบ่งความหมายของคำว่า “สาธารณูปการ” เป็น 2 ส่วน คือ

(1) ความหมายที่ว่า “กิจการเกี่ยวกับการสงเคราะห์บุคคลที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้” บัญญัติมาจากคำอังกฤษว่า public assistance

(2) ความหมายที่ว่า “การก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ทางศาสนา” ไม่ได้บัญญัติมาจากคำอังกฤษคำนั้น และน่าจะไม่ได้บัญญัติจากคำอังกฤษคำไหนๆ หากแต่เป็นความหมายตามเจตนาของคณะสงฆ์ไทย

ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2505 คณะสงฆ์ไทยแบ่งงานออกเป็น 4 สาย เรียกว่า “องค์การ” คือ

องค์การปกครอง

องค์การศึกษา

องค์การเผยแผ่

องค์การสาธารณูปการ

ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2535 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแม้จะไม่มีองค์การเหล่านี้แล้ว แต่คณะสงฆ์ก็ยังทำงานตามแนวของ “องค์การ” ที่เคยมีมา ทั้งยังได้เพิ่มงานขึ้นอีกรวมเป็น 6 ด้าน คือ

การปกครอง

การศาสนศึกษา

การศึกษาสงเคราะห์

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา

การสาธารณูปการ

การสาธารณสงเคราะห์

ปัญหาที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใคร่ขอเสนอให้ช่วยกันพิจารณาก็คือ งาน “สาธารณูปการ” ของคณะสงฆ์ไทย ควรจะเป็นงานอะไรกันแน่ หรือควรจะเป็นงานอะไรจึงจะเกิดประโยชน์ที่สุดแก่พระศาสนา

ตามความเข้าใจที่มีมาแต่เดิม และเชื่อว่าแม้ขณะนี้ก็ยังคงเข้าใจกันเช่นนั้น งาน “สาธารณูปการ” ก็คือ งานก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ กล่าวคือ สร้างกุฏิ โบสถ์ วิหาร ศาลา ฌาปนสถาน เป็นต้น และถ้าเสนาสนะเหล่านั้นชำรุดทรุดโทรม ก็ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนสภาพเดิม ขอบเขตของงาน “สาธารณูปการ” ที่เข้าใจกันแต่เดิมมีอยู่เท่านี้

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้สนทนากับพระธรรมปัญญาภรณ์ (ไพบูลย์ ชินวํโส ป.ธ.7) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี (อดีตเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ปัจจุบันได้รับแต่งตั้งให้เป็น “ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 15”) พระธรรมปัญญาภรณ์แสดงความเห็นว่า งานหลักของ “สาธารณูปการ” ในปัจจุบันควรจะปรับปรุงจากงานก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะมาเป็นงานวางผังเสนาสนะ

“งานวางผังเสนาสนะ” หมายถึง เมื่อจะสร้างวัดขึ้นใหม่ เสนาสนะในวัด เช่น กุฏิ โบสถ์ วิหาร ศาลา ฌาปนสถาน ควรจะมีอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน เล็กใหญ่ขนาดไหน ควรจะอยู่มุมไหนบริเวณไหนของวัดจึงจะเหมาะสม

ส่วนวัดเก่า เสนาสนะที่มีอยู่แล้วมีจำนวนเหมาะสมหรือไม่ อยู่ในมุมหรือบริเวณที่ถูกต้องหรือไม่ สมควรจะขยับปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมอย่างไรหรือไม่ โดยเฉพาะเสนาสนะเก่าที่มีคุณค่าสมควรอนุรักษ์ไว้ ได้มีการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่เพียงไร (ดังปรากฏว่าวัดเก่าหลายวัดที่มีโบสถ์หรือศาลาเก่าสมควรอนุรักษ์ แต่ถูกรื้อทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย แล้วสร้างโบสถ์ใหม่ศาลาใหม่ขึ้นแทนเป็นต้น)

ปัญหาที่เริ่มจะปรากฏหนักขึ้นในปัจจุบันก็คือ สถานที่ซึ่งจะสร้างเสนาสนะภายในวัดถูกจำกัดด้วยสภาพแวดล้อม ทำให้การจัดระเบียบเสนาสนะภายในวัดทำได้อย่างลำบากยากยิ่ง

ตัวอย่างปัญหาที่นับวันจะหนักมากขึ้นคือ ที่จอดรถภายในวัด สมควรจะมีหรือไม่ ถ้ามี จะจอดกับพื้นหรือจะสร้างเป็นอาคาร และจะวางผังจัดระเบียบอย่างไรจึงจะทำให้วัดคงสภาพความเป็น “อาราม” ไว้ได้ตลอดไป

งานดังกล่าวมานี้ ควรจะเป็นงานหลักของ “สาธารณูปการ” ที่คณะสงฆ์ควรให้ความสำคัญ และเตรียมบุคลากรของสงฆ์ที่มีความสามารถในการบริหารจัดการงานเช่นนี้ไว้ให้พร้อม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ายังไม่ปฏิรูปงานสาธารณูปการ

: วัดอาจจะกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรม

(หรือกลายเป็นอะไรๆ อีกสารพัด-ยกเว้นไม่เป็นอาราม)

#บาลีวันละคำ (3,888)

03-02-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *