บาลีวันละคำ

วิจิกิจฉา (บาลีวันละคำ 3,889)

วิจิกิจฉา

วิจิกิจฉา

น่าจะคุ้นๆ ตาอยู่บ้าง

อ่านว่า วิ-จิ-กิด-ฉา

วิจิกิจฉา” เขียนแบบบาลีเป็น “วิจิกิจฺฉา” (มีจุดใต้ จฺ ที่ –กิจฺ-) อ่านว่า วิ-จิ-กิด-ฉา รากศัพท์มาจาก –

(1) วิ (คำอุปสรรค ใช้แทน “วิคต” = จากไป, ออกไป) + จิกิจฺฉา (ความคิดพิจารณา)

: วิ + จิกิจฺฉา = วิจิกิจฺฉา” แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเหตุจากไปแห่งความคิดพิจารณาคือการปฏิบัติการของญาณ” (สิ่งนั้นเคยมีความคิดพิจารณาอยู่ด้วย แต่บัดนี้ความคิดพิจารณาได้ออกไปจากสิ่งนั้นเสียแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่นั้นจึงปราศจากความคิดพิจารณา คือเห็นอะไร ได้ยินอะไร มีอะไรมาสัมผัส ก็คิดไม่ออกบอกไม่ได้ว่าอะไรเป็นอะไร)

(2) วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + กิตฺ (ธาตุ = ลำบาก) + ปัจจัย, ซ้อน กิ ที่หน้าธาตุเป็น กิกิ-, แปลง กฺ ตัวหน้าเป็น จฺ, ลบ ตฺ, ซ้อน จฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วิ + กิตฺ = วิกิตฺ > วิกิกิตฺ > วิจิกิตฺ > วิจิกิ + จฺ + = วิจิกิจฺฉ + อา = วิจิกิจฺฉา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเหตุลำบากแห่งผู้คิดค้นสภาวะ” (เมื่อคิดค้นหาสภาวะคือความเป็นจริง มีสิ่งนั้นเกิดขึ้นในความคิด ผู้คิดค้นจึงลำบาก เพราะสิ่งนั้นทำให้ไม่เห็นความเป็นจริง)

วิจิกิจฺฉา” หมายถึง ความสงสัย, ความสนเท่ห์, ความไม่แน่นอน (doubt, perplexity, uncertainty) 

บาลี “วิจิกิจฺฉา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิจิกิจฉา” (ไม่มีจุดใต้ ที่ –กิจ-)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วิจิกิจฉา : (คำนาม) ความสงสัย, ความเคลือบแคลง, ความลังเล, ความไม่แน่ใจ. (ป.; ส. วิจิกิตฺสา).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า บาลี “วิจิกิจฺฉา” สันสกฤตเป็น “วิจิกิตฺสา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วิจิกิตฺสา : (คำนาม) ศงกา; อสุทธะ, ความผิดหรือพลาดพลั้ง; doubt; error, mistake.”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “วิจิกิจฉา” เป็นอังกฤษดังนี้ –

Vicikicchā : doubt; perplexity; scepsis; scepticism; indecision; uncertainty.

………….

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ไขความคำว่า “วิจิกิจฉา” ไว้ดังนี้ –

วิจิกิจฉา : ความลังเลไม่ตกลงได้, ความไม่แน่ใจ, ความสงสัย, ความเคลือบแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย, ความลังเลเป็นเหตุให้ไม่แน่ใจในปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน (ข้อ 5 ในนิวรณ์ 5, ข้อ 5 ในสังโยชน์ 10 ตามนัยพระอภิธรรม, ข้อ 4 ในอนุสัย 7)

………….

วิจิกิจฉา” เป็น 1 ในกิเลส 3 ตัวที่พระอริยบุคคลชั้นต้นคือพระโสดาบันจะต้องละได้เด็ดขาด คือ –

(1) สักกายทิฏฐิความเห็นว่าเป็นตัวของตน” = เห็นว่ามีตัวตนที่จะอยู่เสพสุขถาวรในภพภูมินั้นๆ แม้แต่ในพระนิพพาน

(2) วิจิกิจฉาความลังเลสงสัย” = สงสัยในกรรมดีกรรมชั่ว, ไม่แน่ใจในหนทางปฏิบัติว่าอะไรถูกอะไรผิด

(3) สีลัพพตปรามาสความถือมั่นศีลพรต” = ถือความขลังความศักดิ์สิทธิ์ในลักษณะต่างๆ รวมทั้งถือว่าเพียงรักษาศีลปฏิบัติกิจวัตรก็อาจบรรลุธรรมได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สงสัยไว้ก่อนที่จะเลื่อมใส

: ดีกว่าเลื่อมใสแล้วจึงมานึกสงสัย

#บาลีวันละคำ (3,889)

4-2-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *